โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'จังหวัดมิยากิ' กับวิธีการฟื้นฟูเมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งต่อไป

The MATTER

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2561 เวลา 03.26 น. • Thinkers

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสกลับไปเยือนจังหวัดมิยากิอีกครั้งในรอบปี เป้าหมายก็เพื่อไปปั่นจักรยานโปรโมทการท่องเที่ยวในกลุ่มชาวต่างชาติให้กับทางจังหวัด ผมเลยได้โอกาสไปปั่นในหลายต่อหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองทางตอนใต้ของจังหวัดมิยากิ

จริงๆ แล้ว ถ้าจะมองแค่เรื่องการปั่นจักรยาน จังหวัดนี้ก็เหมาะกับการปั่นเอามากๆ เพราะมีทั้งภูเขา มีทั้งทะเล เหมาะกับการท้าทายตัวเองในหลายแนวทาง แต่ที่จัดว่าเป็นไฮไลต์คือตัวเมืองเซ็นได เมืองหลวงของจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่เขียวที่สุดในญี่ปุ่น เพราะทั้งเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุมถนนสำคัญของเมือง ทำให้บรรยากาศเย็นสบาย แถมถ่ายภาพออกมาสวย ตัวเมืองก็รถไม่เยอะ ปั่นได้สนุก

อีกสองจุดที่ไม่ควรพลาดคือเขาซาโอะ เราสามารถปั่นขึ้นเขาที่สูงที่สุดในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นได้ที่นี่ และถ้าเป็นช่วงงานแข่งก็สามารถขึ้นถึงยอดเขาได้ (ปกติปิดให้เฉพาะรถขึ้น) ถึงจะเป็นเขาที่สูงและชัน แต่ปั่นสนุกเอาเรื่อง แถมยังเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่นจนอากาศเย็นสบายแม้จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิของที่อื่นร้อนแล้ว และไฮไลต์สุดท้ายคืออ่าวมัตสึชิมะ คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะเป็นหนึ่งในสามวิวที่สวยงามที่สุดของญี่ปุ่น ที่ทำให้กวีดังอย่าง มัตสึโอะ บะโช ถึงกับปากค้างมาแล้ว

แต่ที่ผมไปปั่นเป็นเส้นทางที่ต่างจากเส้นทางไฮไลต์เหล่านั้น เพราะถ้าพูดถึงมิยากิและเซ็นไดแล้ว หลายท่านอาจจะคุ้นชื่อจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2011

ที่หลังจากนั้นจุดสนใจจะไปอยู่ที่เตาปฏิกรณ์พลังนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว จังหวัดมิยากิก็โดนผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างหนักไม่แพ้กัน เพียงแต่อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเนื่องเหมือนที่ฟุคุชิมะ แต่จากการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทำให้ทางจังหวัดเลือกที่จะพัฒนาเมืองขึ้นใหม่ โดยเตรียมป้องกันภัยพิบัติที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้เสมอ จนทำให้เส้นทางการปั่นที่ตั้งแต่สนามบินเซ็นไดเลียบทะเลไปทางใต้ กลายเป็นประสบการณ์ที่แปลกอย่างหาได้ยาก

ตั้งแต่จุดเริ่มคือสนามบินเซ็นไดที่ตอนนี้ทั้งสะอาด ทันสมัย และดูไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าตอนที่เกิดเหตุสึนามิ สนามบินจมอยู่กลางน้ำจนต้องรีบจัดการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ลงจอดเพื่อขนส่งสิ่งของที่จำเป็นได้ ปัจจุบันนี้ รอบๆ สนามบิน หลายส่วนก็ยังเป็นพื้นที่โล่ง ค่อยๆ มีอาคารก่อสร้างเพิ่มขึ้น สลับกับพื้นที่รกร้าง เพราะน้ำทะเลที่ซัดเข้ามาทิ้งเกลือไว้บนแผ่นดินจนไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ มีแค่วัชพืชที่อดทนแพร่ขยายไปทั่ว

เพราะสึนามิซัดตามริมชายฝั่ง ทำให้เราได้พบกับการรีเซ็ตทุกอย่างใหม่เกือบหมด เมืองค่อยๆ กลับฟื้นคืนมา จังหวัดมิยากิก็มีแผนการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ไกลจากสนามบิน เราจะได้เห็นการสร้างแนวกันสึนามิที่สูงยิ่งกว่าเดิม เพราะของเก่าที่เคยคิดว่าสูงพอแล้ว แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี และพวกเขายังพยายามปลูกไม้ยืนต้นที่ทนดินเค็มรอบๆ แนวริมทะเลเพื่อลดทอนความแรงของสึนามิอีกด้วย เรียกได้ว่าพยายามทุกทางเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ พื้นที่ริมชายฝั่งกลายมาเป็นสวนสาธารณะเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต และยังมีสิ่งก่อสร้างแปลกๆ ที่เมื่อเรามองไปก็จะเห็นเนินทรงกรวยหัวตัด สูงประมาณ 11 เมตร ที่ข้างบนมีศาลาอยู่ ปกติแล้วคงไม่มีใครลำบากเดินขึ้นไป แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายคือเป็นสถานที่สำหรับหนีสึนามิ เพราะทรงกรวยตัดทำให้ฐานแน่นพอที่จะสู้น้ำได้ และศาลาข้างบนก็มีอุปกรณ์ยังชีพเก็บไว้ใต้ม้านั่ง และรอบสี่ด้านของศาลาก็มีม่านกันลมที่สามารถดึงลงมาเพื่อเปลี่ยนศาลาเป็นที่ลี้ภัยชั่วคราวได้ เป็นการเตรียมพร้อมอย่างดี และตลอดทางที่เราปั่นจักรยานเลียบริมฝั่งก็จะเห็นสิ่งก่อสร้างแบบนี้ได้เรื่อยๆ

ตลอดสองข้างทางเราได้เห็นการปรับปรุงเมืองใหม่หลังจากที่เกือบทุกอย่างโดนน้ำซัดไป

ตัวอย่างก็เช่น การถอยแนวทางรถไฟลึกเข้าไปในฝั่งเป็นกิโลฯ เพื่อหนีน้ำ  การเพิ่มแนวทำลายแรงคลื่นซัดตามริมฝั่ง รวมไปถึงสองข้างทางที่เห็นรถขนอุปกรณ์ก่อสร้างตลอด เพราะเขาจะหยุดนิ่งหลังจากภัยพิบัติไม่ได้ ชีวิตต้องเดินหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงอนุสรณ์เพื่อรำลึกสิ่งที่เกิดขึ้น สองข้างทางจะเห็นบ้านบางหลังที่รอดจากสึนามิ ซึ่งติดป้ายชี้ไว้ว่าตอนที่สึนามึมาน้ำขึ้นสูงแค่ไหน หลายหลังก็เห็นป้ายติดอยู่ที่ชั้นสองของบ้านเลยทีเดียว

แต่อนุสรณ์ที่ทิ้งไว้เตือนใจและเป็นบทเรียนได้อย่างดีคงเป็นโรงเรียนประถมนาคาฮามะ ที่ตอนสึนามิซัดเข้ามา อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนคุมสติได้ดี แทนที่จะบอกให้นักเรียนวิ่งหนีลึกเข้าไปในฝั่ง แต่เพราะคิดว่าวิ่งอย่างไรก็คงไม่ทันแน่นอน เลยประกาศให้นักเรียนรีบหนีขึ้นไปชั้นสองของโรงเรียน แต่ชั้นสองก็เหมือนจะสูงไม่พอ เลยให้หนีขึ้นชั้นดาดฟ้า สุดท้ายทั้ง 57 คนก็รอดปลอดภัยมาได้แม้จะต้องค้างคืนบนดาดฟ้า ถึงตัวอาคารจะไม่ถล่มไปด้วย แต่ก็เสียหายไปไม่น้อยจนต้องย้ายโรงเรียนไปที่อื่น เหลือแต่ซากอาคารพร้อมกับเส้นบอกว่าสึนามิซัดสูงแค่ไหนไว้ให้เรารำลึกถึงความน่ากลัวของธรรมชาติ รวมทั้งเป็นจุดไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนไปชม แต่ก็ไม่ถึงขนาดมีร้านขายของที่ระลึกอะไรนะครับ

แม้เราจะเลี่ยงหนีภัยธรรมชาติไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเอามันมาเป็นบทเรียน และพยายามหาทางป้องกันเผื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในครั้งหน้า ไม่ใช่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็ลืมหมดและกลับเป็นเหมือนเดิม การปล่อยซากความเสียหายไว้บ้างก็คงเป็นเครื่องเตือนใจให้เรารำลึกถึงความยากลำบากที่ผนมาได้ดีเหมือนกัน

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0