โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จอมยุทธ์กิมย้ง - วินทร์ เลียววาริณ

วินทร์ เลียววาริณ

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2561 เวลา 11.00 น. • winbookclub.com

หากเราคัดเลือกนักเขียนที่เก่งในเรื่องเน้นพล็อต (plot-based) ของโลกมาสักสิบคน กิมย้งต้องเป็นหนึ่งในนั้น ตลอดชีวิตเขาเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นแค่สิบห้าเรื่องเท่านั้น แต่แทบทุกเรื่องทำให้ยุทธจักรสะเทือน

กิมย้งเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งตำนานจีน เช่น สามก๊ก, ความฝันในหอแดง ฯลฯ ไปจนถึงวรรณกรรมตะวันตก เมื่อเขานำวิธีการแต่งเรื่องแบบตะวันตกมาผสมกับวิธีการเขียนแบบตะวันออก ผสานกับจินตนาการไร้ขอบเขตของเขา ก็คือกำเนิดของนิยายจีนกำลังภายในแนวใหม่

กิมย้งเริ่มชีวิตนักหนังสือพิมพ์สองปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ เขาทำงานกับหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้าที่เซี่ยงไฮ้ ต่อมาย้ายไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ซิ่นหวั่นเป้าที่ฮ่องกง ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ที่นั่นเองกิมย้งได้พบกับเฉินเหวินถง เจ้าของนามปากกา เหลียงหยี่เซิน ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนรักกัน

ในปี 1953 เฉินเหวินถงเขียนนวนิยายจีนกำลังภายในเรื่องแรกชื่อ นางพญาผมขาว และกลายเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง เฉินเหวินถงคนนี้นี่เองจุดประกายให้กิมย้งเริ่มเขียนนวนิยายบ้าง เรื่องแรกคือ จอมใจจอมยุทธ์ (書劍恩仇錄) ในปี 1955 เขียนจากตำนานที่เล่ากันว่า เคี่ยนหลงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงมีสายเลือดจีนฮั่น เรื่องที่สองคือ กระบี่เลือดเขียว (碧血劍) ทั้งสองเรื่องถือว่าแปลกใหม่ ฉีกแนวจากขนบเดิม แต่ฝีมือ ‘มือใหม่หัดขับ’ ยังตะกุกตะกักอยู่บ้าง จนเมื่อถึงเรื่องที่สาม กิมย้งก็ดังเป็นพลุแตก เรื่องนั้นก็คือ มังกรหยก (射鵰英雄傳 ตำนานวีรบุรุษยิงนกอินทรี)

มังกรหยก ใช้ฉากแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นยุคที่บ้านเมืองเสื่อมโทรมสุดขีด ตัวละครหลักคือก๊วยเจ๋งกับเอี้ยคัง ทั้งสองเป็นบุตรของพี่น้องร่วมสาบานคู่หนึ่ง ก๊วยเจ๋งเติบใหญ่ในความดูแลของพวกมองโกลยุคที่เตมูจินยังไม่ตั้งตนเป็นเจ็งกิสข่าน เอี้ยคังโตในวังของพวกไต้กิมก๊ก ทั้งมองโกลและไต้กิมก๊กต่างก็อยากยึดครองแผ่นดินจีนฮั่น ตัวละครทั้งสองยืนบนทางสองแพร่งว่าจะช่วยศัตรูที่ชุบเลี้ยงตนหรือจะช่วยแผ่นดินมาตุภูมิ

มังกรหยก รวมเทคนิคการเขียนการเดินเรื่องแบบตะวันตกเข้ากับแบบเก่า โดยผสมงานตำนานสงครามอย่าง สามก๊ก (三國演義), นิยายรักอย่าง ความฝันในหอแดง (紅樓夢), ประวัติวีรบุรุษนักรบโบราณ, วิชาการต่อสู้, จินตนาการโลกของยุทธจักรแบบใหม่ กลายเป็นส่วนผสมที่สนุก แปลกกว่าพงศาวดารจีนเดิม ๆ เรื่องอ่านสนุกเหลือประมาณ ผมอ่าน มังกรหยก เล่มแรกหนาหนึ่งพันหน้าจบภายในห้าชั่วโมง! คนอ่านร้อยละร้อยเริ่มอ่านแล้วต้องอ่านต่อจนจบ แม้จะต้องสอบไล่ในวันรุ่งขึ้น! พล็อตแบบนี้เองที่ทำให้ผมอ่านนิยายในห้องเรียนขณะที่ครูกำลังสอน! เป็นความผิดของกิมย้งล้วน ๆ!

จากนั้นโลกของนิยายจีนก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หลังโด่งดังจาก มังกรหยก กิมย้งก็ร่วมมือกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ทำงานในฐานะบรรณาธิการ และเขียนนวนิยายเรื่อง มังกรหยก ภาคสอง (神鵰俠侶 อินทรีเจ้ายุทธจักร / เอี้ยก่วยเจ้าอินทรี) ป้อนหนังสือพิมพ์หมิงเป้า เขียนวันละหมื่นอักษรอยู่สองปี ว่ากันว่าหนังสือพิมพ์หมิงเป้าเกิดได้เพราะคนอ่านติด มังกรหยก ภาคสอง งอมแงม เหมือนสมัยที่ยาขอบเขียนนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ทุกวันที่นิตยสารออก มีคนอ่านมารออ่าน ผู้ชนะสิบทิศ หน้าโรงพิมพ์อย่างไรอย่างนั้น

กิมย้งเป็นราชาแห่งการสร้างพล็อต พล็อตหลักและพล็อตย่อยของเขาประณีตอย่างยิ่ง ตัวอย่างคือผลงานในยุคหลังเมื่อเขาเป็นจอมยุทธ์แห่งอักษรแล้วจริง ๆ เช่น แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, กระบี่เย้ยยุทธจักร ฯลฯ ฝีมือคิดพล็อตของเขาถือว่าสุดยอด ทักษะการปะพล็อตย่อยเข้ากับแกนกลางเรื่องก็ยอดเยี่ยม

มังกรหยก ภาคสอง พัฒนาจาก มังกรหยก ไปอีกระดับ แนวคิดคือเรื่องความรักที่ขัดแย้งกับประเพณี ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยปรากฏในนิยายกำลังภายในมาก่อน แกนหลักคือเรื่องความรักของตัวละครเอี้ยก้วยกับเสียวเล่งนึ้ง มีพล็อตย่อยหลายเรื่องที่เขียนได้ดีมาก เช่น เรื่องของเฮ้งเตงเอี้ยงกับลิ้มเซียวเอ็ง, เรื่องรักของลี้มกโช้ว เป็นต้น ทุกพล็อตย่อยโยงกับแนวคิดหลัก สอดคล้องกลมกลืน ดั่งหยกเนื้อดีที่สลักเสลาเป็นเครื่องประดับงดงามด้วยฝีมือเทพ

ที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (天龍八部) แก่นเรื่องคือความรักของมนุษยชาติและการต่อต้านสงครามแห่ง ‘เส้นสมมุติ’ เป็นนวนิยายที่ใช้ตัวละครและพล็อตย่อยเปลือง บางพล็อตย่อยดีจนเป็นนวนิยายเอกเทศอีกเรื่องหนึ่งได้ ถ้าเป็นนักเขียนคนอื่น ก็คงใช้พล็อตย่อยเป็นโครงเรื่องหลักไปแล้ว ไม่งั้นเปลืองพล็อต! เรื่องประกอบด้วยพล็อตใหญ่ เช่น เรื่องของต้วนอวี้แห่งตาลีฟู, เฉียวฟงแห่งต้าเหลียว, ซีจู๋แห่งจีน และพล็อตย่อยลงไปอีก เช่น แผนลอบสังหารบิดาของเฉียวฟง, เรื่องรักของเฉียวฟงกับอาจู ฯลฯ เหล่านี้ร้อยต่อกันเป็นเรื่องใหญ่ การเขียนเรื่องสเกลใหญ่ขนาดนี้ ถ้ามือไม่ถึง ก็เละ

หลังจาก แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ออกสู่บรรณพิภพ นักอ่านเชื่อว่ากิมย้งคงไม่สามารถสร้างเรื่องใหม่ที่ดีกว่านี้ได้อีก ขอแค่รักษามาตรฐานเดียวกับ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ได้ ก็ขอคารวะด้วยสุราสามจอกแล้ว แต่กิมย้งก็ปล่อยหมัดเด็ดออกมาอีก นั่นคือ กระบี่เย้ยยุทธจักร (笑傲江湖) ฝีมือการเขียนของเขาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง การเชื่อมพล็อตย่อยเนียนสนิท นอกจากนี้ยังใช้อารมณ์ขันแทรกเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิมย้งไม่ค่อยใช้ในเรื่องก่อน ๆ

ผลงานที่กิมย้งสร้างเพียงสิบกว่าเรื่องส่งแรงกระเพื่อมไปทั่ววงการนิยาย ความคลั่งไคล้นิยายกำลังภายในเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในไทย แต่ทั้งภูมิภาคนี้

เป็นจอมยุทธ์มือหนึ่งในวงการอักษรที่รอบร้อยปียากพบพานโดยแท้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0