โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"จอมพลสฤษดิ์" เข้าสภาฯ แถลงนโยบายครั้งแรก กับวลีดักคอ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 21 ก.พ. 2565 เวลา 06.09 น. • เผยแพร่ 25 ม.ค. 2564 เวลา 01.24 น.
ภาพปก-สฤษดิ์

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เวลาประมาณ 3 ทุ่ม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยคณะทหาร ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ต่อมาได้มีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งและตำแหน่งประธานสภาก็เป็นนายทหารที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจอมพล สฤษดิ์

ต่อมาเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ ดำรงตำแหน่ง“นายกรัฐมนตรี” แล้วนั้น คณะรัฐบาลชุดใหม่จึงจำต้องแถลงนโยบาลต่อสภาฯ การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญมีขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มประชุม 09.45 น.

พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญกล่าวเปิดการประชุม อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ กล่าวชี้แจงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมสภาฯ ว่าได้วางหลักการบริหารไว้ 2 ระยะ คือ งานที่สามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ และงานที่ต้องใช้เวลานานก็จะวางโครงการเป็นแนวทางให้รัฐบาลหน้าต่อไป ตอนหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์พูดถึงเหตุผลของการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ความว่า

“การที่คณะปฏิวัติต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง ก็ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะหาวิถีอันเหมาะสมในการนำประเทศไปสู่ความเจริญ มิใช่มุ่งหมายแต่เพียงว่าให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญปกครองประเทศเสียใหม่เท่านั้น หากแต่เห็นว่าการที่จะบริหารประเทศในรูปแบบเดิมนั้น ยังมีอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศอยู่อีกนานาประการ”

ในส่วนการแถลงนโยบายได้กล่าวถึง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ เลิกสูบ-ค้าฝิ่นในประเทศ ปรับปรุงการคลังและการเงิน การคมนาคม ให้ความสำคัญการศึกษาของเยาวชน ส่งเสริมศีลธรรม วัฒนธรรมและอนามัย พัฒนาการท้องถิ่น การทหารมีการปรับปรุงการฝึกการศึกษาและอาวุธยุทธภัณฑ์

รัฐบาลแถลงยืนยันหลักการ ดังนี้

  • เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของชาติตลอดไป
  • บริหารยึดหลักประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน
  • รักษาสิทธิและปฏิบัติตามหน้าที่ตามสัญญากับต่างประเทศ
  • ยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติ ส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ

จากนั้น มติที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการตั้งกระทู้ถามเป็นรายกระทรวง แทนที่จะถามเหมารวมทั้งคณะรัฐมนตรี มีสมาชิกสภาฯ ถามแนวทางการจัดการการคลังเรื่องอัตราภาษีและการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งนายโชติ คุณะเกษม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ชี้แจงข้อสงสัย หลวงประกอบนิติสาร สมาชิกสภาฯ พูดถึงการเลี่ยงภาษีของบรรดาพ่อค้าซึ่งมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่สรรพากรในการนำจับ และกล่าวในเชิงให้ผ่อนปรนการลงโทษบ้างเพื่อส่งเสริมการลงทุน ไม่ใช่พอผิดก็จัดการเต็มกำลังสถานเดียว เรื่องนี้เป็นที่ถูกใจของนายกรัฐมนตรีถึงขั้นออกปากขอบคุณที่พูดเรื่องนี้ เพราะเห็นควรให้ปรับลดอัตราภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม จอมพลสฤษดิ์กล่าวว่า “รัฐบาลใดถือว่าพ่อค้าเป็นศัตรูแล้วเจ๊ง รัฐบาลนี้ถือว่าพ่อค้าเป็นมิตร”

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ สมาชิกสภาฯ ซักถามประเด็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจซึ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตร ทั้งที่ประชากรกว่า 85% เป็นเกษตรกร โดยเฉพาะการกู้เงินของเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว ถามว่ากระทรวงเกษตรมีนโยบายช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร? และงบประมาณที่จะไปบำรุงการเกษตรนั้นพอเพียงหรือไม่? นายสวัสดิ์ มหาผล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรชี้แจงว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาทั้งหมดแต่การแก้ไขอยู่ที่กำลังของเจ้าหน้าที่และงบประมาณที่ได้รับ รัฐบาลตระหนักเรื่องเงินกู้พร้อมเร่งประสานความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาเป็นเงินก้อนเพื่อมาดูแลอยู่

จอมพล ผิน อภิปรายต่อในเรื่องนาข้าวที่รกร้างในภาคกลางทั้งที่อยู่ในเขตชลประทาน จะส่งเสริมหรือแก้ไขอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรตอบเน้นย้ำว่ารัฐบาลไม่เพียงจะเพิ่มพื้นที่ทำนาแต่จะพยายามเพิ่มผลผลิตด้วย จากนั้น ประธานสภาฯ ก็ได้ชี้แจงให้รวบรัดเวลา จอมผล ผิน ชุณหะวัณ จึงขอเวลาอภิปรายเพิ่มโดยอธิบายถึงปัญหาด้านเกษตรที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่ 5 เรื่องได้แก่

1. เรื่องยาง ที่กำลังประสบปัญหาทำยอดส่งออกแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เนื่องจากพันธุ์ต้นยางของไทยมีคุณภาพด้อยกว่า และพื้นที่ปลูกยางของไทยมีขนาดเล็ก ไม่กว้างใหญ่เหมือนของต่างประเทศ จึงเสนอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือชาวสวนยาง

2. เรื่องประมง ที่เสนอให้มีการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และส่งเสริมให้ทำนากุ้งนาปลา เพื่อสร้างอาชีพให้คนไทยและเพื่อส่งออกต่างประเทศ

3. เรื่องปศุสัตว์ เนื่องจากเริ่มขาดแคลนเนื้อสัตว์เพราะประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งปศุสัตว์ล้มป่วยจากโรคภัยจำนวนมาก โดยเสนอให้มีการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะวัว เนื่องจากชาวต่างชาตินิยมกินเนื้อวัวมากว่าเนื้อควาย จึงอยากเพาะพันธุ์วัวให้มีจำนวนมากพอจะส่งออกต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการควบคุมสุขอนามัยฟาร์มปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

4. เรื่องป่าไม้ ที่กำลังประสบปัญหาถูกคนตัดไม้จำนวนมาก และมีการเข้ายึดครองพื้นที่ตามใจชอบ จึงเสนอให้รัฐบาลปราบปรามพวกลักลอบตัดไม้เหล่านี้  เพราะเกรงว่าจะไม่เหลือป่าไม้ในอนาคต

5. เรื่องชลประทาน เกี่ยวกับเขื่อนชัยนาทที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากสร้างสายส่งน้ำให้ราษฎรล่าช้ามากโดยใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี จึงเสนอให้เร่งสร้างสายส่งน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้ให้คำตอบว่าทางกระทรวงเกษตรได้พยายามแก้ปัญหาด้านเกษตรดังกล่าวอยู่ แต่จะได้ผลสำเร็จตามที่หวังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จัดสรรให้กระทรวง ขณะที่นายเกษม อุทยานิน สมาชิกรัฐสภา ได้ตั้งคำถามต่อกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับนโยบายการปราบปรามพวกอันธพาลและโจรผู้ร้ายอย่างเข้มงวดว่ารัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ยาวนานหรือไม่ และยังเสนอปัญหาของการปกครองท้องถิ่น ที่สร้างความรำคาญแก่ประชาชนเนื่องจากประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการปกครองท้องถิ่นที่มีรูปแบบการดำเนินการที่ซับซ้อนมากเกินไป

พลโท ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า นโยบายการปราบปรามพวกอันธพาลและโจรผู้ร้าย สามารถดำเนินการและใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้เช่นเดิม ส่วนปัญหาการปกครองส่วนท้องถิ่น  นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้จัดตั้งกรรมการการปกครอง สำหรับพิจารณาและปรับปรุงรูปแบบของการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ต่อมานายแถบ นีละนิธิ สมาชิกรัฐสภา ได้ตั้งคำถามถึงกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กไทยว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เด็กทุกคนได้เข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ และยังถามถึงนโยบายการศึกษาว่ารัฐบาลจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยในเชิงปริมาณ ที่ส่งเสริมให้สร้างมหาวิทยาลัยเพิ่ม เพื่อรับผู้ที่จะเข้าศึกษาอีกจำนวนมาก หรือส่งเสริมด้านคุณภาพ ที่เน้นในเรื่องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น หรือรัฐบาลสามารถสนับสนุนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพได้หรือไม่

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ให้คำตอบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามช่วยเหลือเด็กไทยทุกคนให้ได้เรียนหนังสือในชั้นประถมศึกษาก่อน เนื่องจากการเรียนชั้นประถมศึกษาสำคัญที่สุด เพราช่วยในการวางรากฐานในวิชาความรู้ ส่วนการสนับสนุนให้เด็กทุกคนเข้ามหาวิทยาลัยนั้นไม่สามารถทำได้ทุกคน เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งเสริมเด็กทุคน

ส่วนเรื่องการสนับสนุนมหาวิทยาลัยด้านปริมาณและคุณภาพ รัฐบาลตั้งใจที่จะสนับสนุนทั้ง 2 ด้าน แต่อัตราเร่งจะไม่เท่ากัน โดยจะเน้นเกี่ยวกับคุณภาพของการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากร ส่วนด้านปริมาณจะสร้างมหาวิทยาลัยเพิ่มแต่จำนวนไม่มาก เพราะถ้ามีปริมาณที่มากขึ้น ก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นไปอีก

เมื่อประธานสภาฯ ให้สมาชิกสภาฯ แสดงความเห็นในกระทรวงเศรษฐการ ก็มีการซักถามถึงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศและการส่งออกสินค้า ว่าควรจะเร่งหาเม็ดเงินเข้าประเทศจากการลงทุนกับการส่งออก อีกทั้งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยังได้เสนอความเห็นว่ากระทรวงเศรษฐการควรจะร่วมมือกับกระทรวงที่ดูแลควบคุมการผลิตสินค้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันพัฒนาให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าควรยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออก และยกระดับข้าหลวงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ลำดับถัดไปเป็นการถามกระทรวงสหกรณ์ สมาชิกสภาฯ ท่านหนึ่งออกความเห็นว่าด้วยการตั้งสหกรณ์เป็นเรื่องล้มลุกคลุกคลานมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของรัฐที่มิได้ผลคืนมาจากการตั้งสหกรณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือระบบที่ล้มเหลวของสหกรณ์ที่มีพ่อค้าต่างด้าว เข้ามารับซื้อค้าขายกับสหกรณ์ แทนที่จะเป็นระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ก็ตอบรับความเห็นพร้อมบอกว่าควรสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ให้กับบุคลากรทั้งหลาย ทั้งข้าราชการในหน่วยงานเกี่ยวกับสหกรณ์ และนักเรียนนักศึกษาด้วย เพื่อหวังให้กิจการสหกรณ์มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

เมื่อถึงคราวของกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกสภาได้อภิปรายถึงเรื่องอหิวาตกโรคและเรื่องยุง โดยมีการตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาโรคนี้ว่าทำถูกจุดหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงมีการปราบปรามผู้ที่มีโรคแทนที่จะแก้ไขที่ต้นเหตุของโรคนี้ และเรื่องของยุงที่ชุกชุมหนักในประเทศ ควรเร่งให้แก้ปัญหายุงอย่างเร่งด่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงตอบรับการแก้ไขปัญหาเรื่องอหิวาตกโรคว่าให้แก้ปัญหาที่ตัวประชาชนก่อน ในการปลูกฝังไม่ให้รับเชื้อโรคจากการกินของที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ส่วนการกำจัดยุงให้ทำที่ต้นเหตุโดยการกำจัดน้ำขังตามชุมชน

จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอภิปรายการแก้ปัญหาเรื่องโรคอหิวาตกโรค ท่านได้เสนอไว้ว่าให้ใช้ทหาร 3 เหล่าทัพในการช่วยแจกจ่ายและฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา สมาชิกสภาฯ ก็ได้แย้งไว้ว่า

“เรื่องเจ้าหน้าที่น่ะครับ เวลานี้ใช้ทหารสามกองทัพเข้าไปช่วยกระทรวงสาธารณสุข มันจะเป็นการก้าวก่ายหน้าที่สามกองทัพ เมื่อน้ำไม่มีกินก็สามกองทัพ อหิวาตกโรคเกิดก็สามกองทัพ มันจะเป็นการก้าวก่ายหน้าที่ไหม ผมคิดอย่างนี้”

แต่นายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกมาแย้งว่า

“เรื่องการใช้ทหารนั้นผมขอให้พึงเห็นใจว่าไม่ใช่ว่าเอะอะเราจะใช้ทหารเรื่อย ความจริงกองทัพทั้ง 3 สมควรรู้สึกเป็นเกียรติ เช่นอย่างเป็นต้นว่าการแก้ไขปัญหาปลาทูได้ใช้กองทัพเรือ การแก้ปัญหาให้มะพร้าวลงราคาก็ใช้กองทัพเรือ สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามเรากลับควรจะมีความภาคภูมิใจว่าเราได้มีส่วนร่วมช่วยประเทศชาติ”

สุดท้ายก็เป็นการอภิปรายในกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เป็นการซักถามของสมาชิกสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องของการลงทุนในภาคอุคสาหกรรมของต่างประเทศว่ามีการจัดระบบอย่างไรบ้าง และการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมภายใน ทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้และอาชีพให้กับประชาชนด้วย

เมื่อสมาชิกสภาฯ ซักถามจบแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวขอบคุณต่อที่ประชุมสภาฯ และเน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลว่า “จะได้ประกอบกิจการตามหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความมานะอุตสาหะ พยายามหมั่นเพียรเป็นอย่างยิ่ง และจะพยายามเป็นอย่างยิ่งที่สุดที่จะซื่อตรงต่อประเทศชาติและงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบจากสภานี้ และถ้าหากว่าจะมีการใดผิดพลาดขึ้นก็คงจะไม่ผิดพลาดเพราะความไม่ซื่อสัตย์หรือไม่สื่อตรง อาจจะมีผิดพลาดบ้างก็ได้โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” 

เมื่อกล่าวจบแล้ว สมาชิกสภาฯ ต่างปรบมือ และเป็นอันสิ้นสุดการประชุมเมื่อเวลา 13.15 น.

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 25 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0