โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จริงตนาการ : อาดา เฮเกอร์เบิร์ก โรนัลโด้ชิดซ้าย เมสซี่ชิดขวา

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 09.42 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 09.42 น.
FBL-FRA-BALLONDOR-GALA

ถ้าโลกฟุตบอลฝ่ายชายมี “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” กับ“ลิโอเนล เมสซี่” ลูกหนังสตรี ก็จะต้อง “อาดา เฮเกอร์เบิร์ก” ที่อยู่ในระดับเดียวกัน

เฮเกอร์เบิร์ก กองหน้าวัย 24 ของ “โอลิมปิก ลียง” คือซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของโลกฟุตบอลหญิง

เพราะเธอเป็นนักเตะที่ยิงประตูทำลายสถิติใน“ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก” ผู้หญิงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยสถิติ 53 ประตู ในวัยเพียง 24 ปี

และยังมีโอกาสอีกมากที่จะเพิ่มสถิติของตัวเอง

53 ประตูในฟุตบอลถ้วยใหญ่ของยุโรป ทำให้กองหน้าสาวนอร์เวย์คนนี้เป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

แซงหน้า“อันย่า มิตทาก” ดาวยิงชาวเยอรมันที่ทำไว้ 51 ประตู

และเป็นนักเตะคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่สามารถยิงประตูได้เกิน 50 ตุงในแชมเปี้ยนส์ลีกหญิงได้ (อีกคนก็คือ อันย่า มิตทาก)

 

ถ้าลองเทียบสถิติของเฮเกอร์เบิร์กกับยอดกองหน้าฝ่ายชายทั้งในอดีตและปัจจุบัน กองหน้าน่องนิ่มคนนี้ลงเล่นแชมเปี้ยนส์ลีก 62 เกม ยิงได้ 49 ประตู

ส่วน“รุด ฟาน นิสเตลรอย” อดีตดาวยิง “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ยิงได้ 50 ประตู ใน 62 นัด

ทั้งคู่เป็นกองหน้าที่ยิงครบ 50 ประตูในแชมเปี้ยนส์ลีกได้เร็วที่สุดในเพศของตัวเอง ถ้าเทียบกับเมสซี่ เขาใช้เวลาในการลงเล่น 66 เกม ถึงจะยิงได้ 50 ประตูแรก ส่วนโรนัลโด้ใช้เวลาถึง 91 เกม

เฮเกอร์เบิร์กครองดาวซัลโวแชมเปี้ยนส์ลีกมาแล้ว 2 สมัย ฤดูกาล 2015-2016 ยิงไป 13 ประตู และฤดูกาลล่าสุดยิงไป 15 ประตู

เป็นแชมป์สโมสรยุโรปมาแล้ว 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2015 มาจนถึงปัจจุบัน

ถ้ามาดูกันในเกมลีก ตั้งแต่ย้ายมาอยู่กับลียงเมื่อปี 2015 ไม่เคยมีซีซั่นไหนเลยที่ยิงต่ำกว่า 20 ประตู รวม 5 ฤดูกาลยิงในลีกเอิงฝ่ายหญิงไป 140 ตุง จาก 105 แมตช์

และถ้ารวมบอลถ้วยในประเทศไปด้วยแล้ว ยิงไป 218 ประตู จากการลงเล่น 217 เกม กับทีมชาตินอร์เวย์

ถึงแม้จำนวนประตูที่เธอยิงให้ทีมชาติจะสวยหรูไม่น้อย 38 ประตู จาก 66 เกม แต่เฮเกอร์เบิร์กกลับเลือกที่จะไม่รับใช้ชาติมาตั้งแต่ปี 2017

โดยให้เหตุผลว่า “นอร์เวย์ขาดความเคารพในตัวนักฟุตบอลหญิง”

 

เมื่อปี 2018 เฮเกอร์เบิร์กคว้ารางวัลบัลลงดอร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัลนี้ให้นักฟุตบอลหญิง และกำลังจะมีฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2018 ที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่เธอเองค้าแข้งอยู่

แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะดึงดูดให้เธอกลับไปลงเล่นในนามทีมชาติเพื่อลุยฟุตบอลโลกได้

ฮเกอร์เบิร์กไม่พอใจกับความไม่เท่าเทียมของฟุตบอลหญิงและชายมาโดยตลอด เป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้เธอเลือกหันหลังให้ทีมชาติมากว่า 2 ปีแล้ว

ในวันที่เธอรับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของสถานีโทรทัศน์บีบีซี เฮเกอร์เบิร์กให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจ

“ฟุตบอลเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับชีวิตฉันมากกว่าอะไรทั้งนั้น เพราะฉันทำงานหนักมากเพื่อจะมาอยู่ตรงจุดนี้ได้ และฉันคงไม่สามารถนั่งมองสิ่งที่มันกำลังเดินไปสู่ทางที่ผิดได้หรอก มันง่ายมากที่ฉันจะเล่นให้ดี ทำตัวเองให้ดี อยู่เงียบๆ แต่เอาจริงๆ แล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้น การที่ฉันคว้าแชมป์ได้มากมายเป็นโอกาสที่เสียงของฉันจะดังกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ แต่มันไม่ได้เป็นเรื่องของฉันคนเดียวหรอก การแสดงออกเพื่อความเท่าเทียมของฉัน จะกระตุ้นเตือนให้ทุกคนทำมันด้วย”

“มีนักข่าวถามฉันว่า ฉันนิยามตัวเองเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างนักฟุตบอลกับนักเรียกร้องความเท่าเทียม ฉันตอบเขาไปว่า มันเป็นไม่ได้เลยที่จะอยู่ในโลกฟุตบอลแล้วไม่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม แต่การจะทำให้ฟุตบอลของสองเพศเท่าเทียมกันไม่ใช่แค่จ่ายเงินให้เท่ากัน แต่มันเป็นเรื่องของทัศนคติที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เด็กผู้หญิงจะต้องได้รับโอกาสเท่ากับเด็กผู้ชายในความฝันของพวกเธอ ถ้าพวกคุณคิดแบบนี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้น ฟุตบอลจะเปลี่ยนไป ผู้ชายใส่สูทจะไม่สามารถเพิกเฉยมันได้อีก พวกเขาจะต้องเข้าใจสิ่งนี้ในสักวันหนึ่ง จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของสังคมและฟุตบอลสมัยใหม่”

ภาพของเฮเกอร์เบิร์กที่ถือรางวัลบัลลงดอร์คู่กับลูก้า โมดริช เจ้าของรางวัลฝ่ายชาย ถูกตีพิมพ์ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับของนอร์เวย์ เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่บอกว่าความเท่าเทียมในโลกฟุตบอลของหญิงและชายเริ่มขยับไปในทิศทางที่ถูกต้องขึ้นแล้ว

ถึงแม้มันจะยังห่างไกลกันมากทีเดียว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0