โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จรัญ มะลูลีม : "จัมมู-แคชเมียร์" ข้อพิพาทประวัติศาสตร์ถูกลืม - จุดเริ่มต้นหลังปี 1947

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 08.24 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 08.24 น.
Kashmir_region_2004

แคชเมียร์ (แคชมีร์) เป็นรัฐที่มีมหาราชาปกครองในครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 และมีการแยกประเทศออกเป็นปากีสถานในเวลาต่อมานั้น พบว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านที่กำหนดโดยอังกฤษว่าใครจะเลือกอยู่กับประเทศใดดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคมากนัก รัฐที่มีมหาราชาปกครองทั้งหลายมีอิสระที่จะเลือกอยู่กับปากีสถานหรืออินเดียก็ได้

แต่ที่น่าเศร้าใจก็คือ บางรัฐอยู่ใกล้อินเดียแต่เลือกจะไปอยู่กับปากีสถาน

ในขณะที่รัฐที่อยู่ใกล้ปากีสถานกลับเลือกที่จะอยู่กับอินเดีย

จึงมีผู้เสียชีวิตขณะเดินทางด้วยระยะเวลาที่ยาวนานไปยังรัฐที่ตนเองเลือกเป็นจำนวนมาก

กระบวนการเลือกถิ่นที่อยู่ของผู้คนในรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะไปอยู่กับอินเดียหรือปากีสถานดำเนินต่อไปตามกระบวนการของมันเอง และส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความสงบ

ยกเว้นในกรณีของรัฐแคชเมียร์ ไฮเดอราบัดและคัลต์ (Kalt)

แคชเมียร์จึงกลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเวลานี้บริหารโดยสามประเทศคืออินเดีย ปากีสถาน และจีน

 

ก่อนวันที่ 5 สิงหาคม (2019) ที่ผ่านมา รัฐจัมมูและแคชเมียร์ได้รับสถานะพิเศษภายใต้มาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย

สำหรับสิทธิพิเศษที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์มีอยู่นี้ได้รับการประกาศให้เป็นกฎหมายโดยรัฐสภาของอินเดีย ยกเว้นการป้องกันประเทศ การสื่อสารและการต่างประเทศที่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้ รัฐจัมมูและแคชเมียร์ยังเป็นรัฐที่มีธงชาติและรัฐธรรมนูญของตนเองอีกด้วย

รัฐจัมมูและแคชเมียร์ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลากหลายศาสนา เช่น อิสลาม (ร้อยละ 68.61) ฮินดู (ร้อยละ 28.43%) คริสต์ (ร้อยละ 0.28)

จัมมูเป็นพื้นที่เดียวในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ที่มีชาวฮินดูเป็นคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65) อิสลาม (ร้อยละ 30) ส่วนที่เหลือจะเป็นชาวซิกข์ (Sikhs)

ในทางชาติพันธุ์ คนจัมมูส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายโดกรา (Dogra) ที่รวมอยู่กับหลายกลุ่ม

ส่วนหุบเขาแคชเมียร์ก็เป็นพื้นที่ของชนพื้นเมืองชาวแคชเมียร์ ซึ่งได้ออกมารณรงค์เพื่อการแยกออกจากอินเดีย ส่วนกลุ่มชนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนของชาวแคชเมียร์ก็ได้แก่ชาวพาหาริส (Paharis) กุจจารส์ (Gujjars) และบากาลาวาส์ ซึ่งครอบครองดินแดนนี้อยู่

สำหรับดินแดนของชาวลาดักห์ (Ladakhi) นั้นประกอบด้วยชาวมุสลิม (ร้อยละ 46) จากจำนวนประชากรที่มีอยู่สองแสนคนในพื้นที่

ประชาชนในพื้นที่แยกออกเป็นอย่างละครึ่งระหว่างมณฑลเลห์ (Leh) กับการ์กิล (Kargil) ร้อยละ 76.8 ของประชากรของการ์กิลเป็นมุสลิม ในขณะที่ร้อยละ 66.4 เป็นชาวพุทธ

แม้ว่าการท่องเที่ยวในหุบเขาแคชเมียร์อันงดงามจะทำรายได้สำคัญให้กับเศรษฐกิจของรัฐ แต่ปัญหาความขัดแย้งและผู้ก่อความไม่สงบก็ทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็ยังดำเนินต่อไป รัฐแคชเมียร์จึงมีรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญชาวฮินดูที่มาจากต่างประเทศหรือมาจากภายในประเทศ

ผู้แสวงบุญชาวอินเดียจะเดินทางมาที่ดินแดนเวชห์โน เทวี (Vaishno Devi) เป็นจำนวนมากซึ่งทำรายได้ให้แก่รัฐแคชเมียร์ถึง 4.75 พันล้านรูปี ความตึงเครียดระหว่างอินเดีย-ปากีสถานขยายตัวอยู่เสมอ ในดินแดนสวรรค์บนดินอย่างแคชเมียร์

ซึ่งความขัดแย้งว่าด้วยปัญหาแคชเมียร์มีดังต่อไปนี้

 

ความขัดแย้งเริ่มต้นในปี 1947 เมื่ออินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐมหาราชาทั้งหลายที่เวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของนักล่าอาณานิคมอังกฤษ สามารถเลือกที่จะเข้าร่วมกับปากีสถานหรืออินเดียก็ได้ อันเนื่องมาจากการได้รับเอกราชดังกล่าว

มหาราชาที่ปกครองรัฐจัมมูและแคชเมียร์อยู่ในเวลานั้นเลือกที่จะอยู่กับอินเดีย แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมก็ตาม

ปากีสถานปฏิเสธการตัดสินใจดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ สงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนือดินแดนแห่งความขัดแย้งอย่างรัฐจัมมูและแคชเมียร์จึงเกิดขึ้นหลังจากอินเดียได้รับเอกราชไม่นาน (1947-1948)

นับจากปี 1947 เป็นต้นไป ประชากรของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ 70,000 คน ต้องจบชีวิตลงอันเนื่องมาจากความรุนแรงในดินแดนแคชเมียร์ที่คนแคชเมียร์เองและชาวมุสลิมทั่วโลกเรียกว่าแคชเมียร์ที่ถูกยึดครอง (Occupied Kashmir) เช่นเดียวกับดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (Occupied Palestine)

ในแคว้นแคชเมียร์เองมีขบวนการติดอาวุธและขบวนการทางการเมืองที่ตั้งขึ้นมาด้วยตัวเองหรือไม่ก็เข้าร่วมกับปากีสถานและต้องการให้มีการลงมติที่เป็นอิสระ เพื่อตัดสินชะตากรรมของชาวแคชเมียร์ แต่อินเดียปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งปวงที่มีอยู่

จัมมูและแคชเมียร์ตั้งแต่ปี 1846 จนถึงปี 1952 เป็นรัฐมหาราชาภายใต้อังกฤษที่ปกครองอินเดียและปกครองโดยจัมวาล ราชบุตร (Jamwal Rajput) จากราชวงศ์โดกรา

 

ทฤษฎีสองชาติ

ทฤษฎีสองชาติ (two-nation theory) เป็นอุดมการณ์ว่าด้วยอัตลักษณ์พื้นฐานและการรวมชาวมุสลิมในอนุทวีปเอเชียใต้ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มากกว่าจะเป็นเรื่องของภาษาหรือชาติพันธุ์ ดังนั้นชาวอินเดียมุสลิมและชาวอินเดียฮินดูจึงกลายเป็นสองชาติที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์หรือเรื่องอื่นๆ

ทฤษฎีสองชาติเป็นหลักการพื้นฐานของขบวนการปากีสถาน (นั่นคืออุดมการณ์ของปากีสถานในฐานะรัฐ-ชาติมุสลิมของเอเชียใต้) และการแยกออกจากอินเดียในปี 1947

ดังที่มุฮัมมัด อะลี จินนะฮ์ (Muhammad Ali Jinnah) บิดาของปากีสถานได้กล่าวเอาไว้ว่า

“เราควรมีรัฐที่เราสามารถมีชีวิตอยู่และหายใจได้อย่างคนอิสระ และเราควรพัฒนาไปตามทางนำและวัฒนธรรมของเราเอง และที่ซึ่งหลักการความยุติธรรมทางสังคมของอิสลามสามารถมีอิสระที่แสดงออกได้”

 

การแยกปากีสถานออกจากอินเดียในปี 1947

การแยกอินเดียออกเป็นปากีสถานเกิดขึ้นในปี 1947

เป็นการแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิอังกฤษมาเป็นอินเดียและปากีสถาน

นำไปสู่การจัดตั้งรัฐอิสระที่มีอธิปไตยอย่างปากีสถาน

ซึ่งต่อมาแยกออกเป็นปากีสถานและบังกลาเทศ และสหภาพอินเดีย

(ต่อมาเป็นสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 14-15 เดือนสิงหาคม ปี 1947)

 

การดำเนินการภายใต้อังกฤษ

เครื่องมือของการเลือกพื้นที่เป็นเอกสารตามกฎหมาย ซึ่งนำเสนอตามพระราชบัญญัติของอินเดียเมื่อปี 1985 และถูกนำมาใช้ในปี 1947 เพื่อให้ผู้ปกครองในแต่ละรัฐที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษสามารถเข้าไปอยู่ร่วมกับอินเดียหรือปากีสถานก็ได้

แม้ว่าดินแดนแคชเมียร์จะมีคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ในที่สุดมหาราชาก็ลงนามในการนำเอารัฐจัมมูและแคชเมียร์ให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของอินเดีย

เปิดโอกาสให้อินเดียส่งทหารของตนเข้าไปกดดันชาวปากีสถานที่อยู่ในแคชเมียร์และเริ่มเปิดสงคราม

โดยสงครามเริ่มต้นในวันที่ 22 ตุลาคม 1947-1 มกราคม 1949 ในแคว้นแคชเมียร์และตามมาด้วยข้อตกลงหยุดยิง ที่ทำให้รัฐมหาราชาแห่งจัมมูและแคชเมียร์จบสิ้นลง

มีการกำหนดเขตหยุดยิงในปี 1947 ซึ่งต่อมากลายเป็นเส้นควบคุมหรือ Line of Control ตามข้อตกลงสิมลา (Simla Agreement) แห่งปี 1972

โดยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หลังสงคราม ปากีสถานเข้าครอง 1 ใน 3 ของแควันแคชเมียร์ ซึ่งได้แก่ อะซาดแคชเมียร์ (Azad Kashmir) และกิลกิต-บัลติสถาน (Gilgit-Baltistan)

ในขณะที่อินเดียเข้าครองพื้นที่ส่วนที่เหลือ ซึ่งได้แก่หุบเขาแคชเมียร์ จัมมูและวาดิกห์ แต่ไม่รวมอักไซชิน (Aksai Chin) และเส้นทางทรานส์-การาโกราม (Trans-Karakoram Tract)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0