โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'จตุพร'เตรียมถวายฎีกาในหลวง ขอความเป็นธรรม หลังศาลบอกยังขังไม่ครบ ชี้เป็นคนแรกของโลกที่เจอแบบนี้

ไทยโพสต์

อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 12.11 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 12.11 น. • ไทยโพสต์

15 ก.ย. 2562 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวว่า มีความตื่นเต้นกันโดยตลอดเดือนนี้ เรามีเรื่องราวมากเหลือเกินในเรื่องของชะตากรรมพี่น้องนปช. เมื่อวันที่ 11 กันยายน พี่น้องเรา 12 คนก็ได้ถูกศาลฎีกาพิพากษา ในคดีล้มการประชุมอาเซียนพัทยาไปแล้ว แม้ศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาใหม่อีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ในส่วนของจำเลย 3 คนที่ยังไม่ได้รับหมายให้มาฟังคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ก็ออกมาแล้ว ว่าได้มีการพิพากษายืน จำคุก 4 ปี จำเลยหลายคนยังไม่ได้มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ คิดว่า เพราะแต่ละคนยังไม่ได้เตรียมตัวตั้งหลักของชีวิต ทุกคนที่ตกเป็นจำเลยต่างก็เป็นหัวหน้าครอบครัว และทุกคนก็ผ่านการติดคุกมาบ้างแล้ว และรู้ว่าช่วงระหว่างติดคุกนั้นครอบครัวข้างนอกเป็นอย่างไร หากไม่มีการเตรียมการให้กับครอบครัวที่อยู่ข้างนอก จะเป็นเรื่องยากมากที่สุด ตนเองมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ได้มีการพูดคุยกับพี่น้องระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาล ก็ได้ให้กำลังใจกันไป แม้ว่าภายในเรือนจำ จะเหมือนสุสานคนเป็น แต่ คนที่อยู่ข้างนอกนั้น ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนที่อยู่ข้างในมาก หลายครอบครัวประสบปัญหา บ้านแตกสาแหรกขาด เมื่อผู้นำครอบครัวต้องติดคุก

นายจตุพรกล่าวว่า ขอเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตตน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน เรื่องหนึ่งคือมีอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขณะดำรงตำแหน่ง พยายามถอนประกันตนทุกสัปดาห์ จนถูกคุมขังภายหลังสภายุบเพียง 3 วัน ต้องเขียนใบสมัคร ส.ส.ในเรือนจำ ซึ่งในขณะนั้น กกต.บอกว่ากระทำได้ ในระยะเวลาดังกล่าวพยายามในการประกันตัวตลอด จนกระทั่งวันเลือกตั้ง ไม่สามารถออกมาเลือกตั้งได้ แม้จะให้เหตุผลไปแล้วก็ตาม  เหตุนี้เองเป็นผลทำให้ ถูกตัดสิทธิ์ ในการเป็น ส.ส. จากการขาดคุณสมบัติ จากการไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนได้มีการร้องต่อสหภาพรัฐสภาสากล หรือ สหภาพรัฐสภาโลก มีมติให้รัฐสภาไทยคืนสมาชิกภาพให้ แต่ก็ไม่ได้รับการกระทำตาม เป็นคดีซึ่งตนก็เป็นคนแรกในประเทศไทย ที่ได้รับคดีเช่นนี้

อีกคดี ได้แก่ คดีแพ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง เมื่อถึงศาลฎีกา ก็ไม่ได้รับหมายให้ไปฟังคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม ก็น้อมรับคำพิพากษา ที่ให้ตน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 เป็นเงิน 19 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยแล้วประมาณ 30 ล้านบาท ที่แม้ในคำพิพากษาจะมีข้อความหนึ่งที่จำเลยสองคน พูดเหมือนกัน แต่ยกฟ้องคนหนึ่ง เอาผิดกับอีกคนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นประธาน นปช. ทั้งที่ในข้อเท็จจริง ในวันเกิดเหตุ ยังไม่ได้เป็นประธานนปช. แต่ประธาน นปช.ขณะนั้นคือ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ซึ่งไม่ได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ตนเป็นประธาน นปช.หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้วกว่า 4 ปี อย่างไรก็ตาม อีกคดีที่สำคัญคือ คดีที่ได้มีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมานี้ ซึ่งก็น้อมรับคำสั่งศาล แต่ต้องขอเล่าข้อเท็จจริงให้ฟัง เป็นคดีที่ไม่เคยเกิดกับใครมาก่อนในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งในโลก  แต่เกิดขึ้นกับนายจตุพร เป็นคนแรก คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาท 4 คดี 6 เรื่อง แต่เรื่องที่ศาลลงโทษมีอยู่ 2 คดี คดีแรก ศาลชั้นต้น ยกฟ้อง คดีที่ 2 ศาลลงโทษให้จำคุก 2 ปีและให้นับโทษต่อจากคดีแรก ซึ่งวิธีพิจารณาความอาญา การจะนับโทษต่อก็ต้องมีโทษมาก่อนแล้ว แต่ขณะที่ศาลบอกให้นับโทษต่อตนไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า ต่อมาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ 1 ยกฟ้อง ส่วนคดีที่ 2  ศาลอุทธรณ์ก็ได้สั่งให้นับโทษต่อคดีแรก ทั้งที่ตนไม่มีโทษอยู่ก่อน ต่อมา จากที่ยกมา 2 ศาล ศาลฎีกากลับคำพิพากษาจำคุก 1ปีในคดีแรก และคดีที่ 2 ลดโทษจาก 2ปี เหลือ 12 เดือน

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ได้ศึกษากฎหมายและเรียนรู้เรื่องราวในเรือนจำ ทำให้ได้ร้องต่อศาลอาญาว่า ขณะที่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ไม่ได้บอกให้นับโทษต่อ เพียงแต่บอกให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งขณะที่ศาลอุทธรณ์ให้นับโทษต่อนั้น ตนไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า สู้จนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการสั่งให้นับโทษต่อนั้นเป็นการผิดหลง ให้ศาลอาญาแก้หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ใหม่ เป็นการนับวันพิพากษาในคดีที่ 2  หลังติดคุกคดีแรก ทนายความก็ได้ถอนประกันคดีที่สองหลังจากจำคุกไปแล้ว 20 วัน และศาลอาญาก็ได้ออกหมายขังใหม่ หลังตนติดคุกคดีแรกผ่านไป 20 วัน ก็ได้ร้องไปใหม่ ว่าต้องนับตั้งแต่วันที่ศาลอาญาออกหมายขังให้ตนในคดีที่2 ซึ่งศาลอาญาก็ได้แก้หมายขังให้ตนเป็นใบที่ 3

หลังศาลฎีกาพิพากษาแล้ว เป็นเรื่องระหว่างศาลอาญา กับกรมราชทัณฑ์ และผู้ต้องขัง เราไม่เคยเห็นโจทก์จะไปฟ้องอะไรกันมาก่อน และระหว่างถูกคุมขัง ก็ไม่พบการร้องเรื่องการให้นับโทษใหม่ ปรากฏว่า ศาลได้ออกหมายสั่งปล่อยเมื่อคดีสิ้นสุดตน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ได้รับการปล่อยจากหมายศาล แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัว กลับมานอนบ้านได้เพียงคืนเดียว ก็มีคนร้องให้กลับไปรับโทษใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง จนมาถึงศาลอุทธรณ์ที่ได้นัดอ่านคำสั่งไปเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา และก็ได้มีคำสั่งให้แก้หมายจำคุกใหม่ ให้ไปนับโทษต่อจากคดีแรก

อยากถามว่า มีใครบ้างในประเทศไทย ศาลพิพากษา ออกหมายจำคุกเมื่อคดีสิ้นสุด มีหมายปล่อยตัว ผ่านมา 1 ปี 1 เดือนกับ 8 วัน มาบอกให้เอาไปขังใหม่ บอกขังยังไม่ครบ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร เขาได้ปล่อยตัวก็โมทนาสาธุด้วย จากโทษตั้งต้น 85 ปี แต่โทษสูงสุดรับได้ไม่เกิน 20 ปี แต่ติดคุกไป 2 ปี 11 เดือน 21 วัน ด้วยการปรึกษาว่าคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ต่างจากตนที่ได้รับการปล่อยตัวจากหมายปล่อยเมื่อคดีสิ้นสุด แต่ทั้งหมดก็น้อมรับคำสั่งศาล และมึนงงว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ตั้งแต่มีประเทศไทยมามีใครเจอเหมือนนายจตุพรบ้าง ก็ไม่พบว่ามีใค

หลังจากวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ก็มึนงงกันทั้งหมดเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เรียนกับพี่น้องว่า อยู่ท่ามกลางชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ วันนั้นเข้าใจว่าคงเรียบร้อย ในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ต้องขอบคุณศาลอาญา อย่างน้อยก็เป็นกรณีศึกษาให้ตั้งหลักกันก่อน อนุญาตให้ประกันตัวและตนก็จะได้ใช้สิทธิ์ในการต่อสู้

"ผมเองก็อับจนปัญญาเช่นกัน ท้ายที่สุด ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ต้องยื่นถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น นายจตุพรหมดที่พึ่งในแผ่นดินแล้ว รัชกาลที่ 10 ได้ตรัสเอาไว้เรื่องความยุติธรรมอย่างชัดเจน ถ้ามีคนอื่นโดนแบบผมมาบ้าง ก็พร้อมจะยอมรับ แต่ 3 เรื่องที่เล่าให้ฟัง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเองเพียงคนแรก คนอื่นจะคิดตัดสินใจอย่างไรก็ได้ ผมอยู่หัวแถว อย่างไรก็ไม่มีสิทธิคิดที่จะหนี แม้แต่เพียงวันเดียว แต่รู้ว่ามันยากเหลือเกิน"นายจตุพรกล่าว

นายจตุพร กล่าวอีกว่า กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาของประเทศไทย เคยบอกวันที่ออกจากเรือนจำฯแล้วว่า ไม่ได้พกความแค้นเข้าไป และไม่ได้พกความแค้นออกมา อยู่ในเรือนจำ 1 ปี 15 วัน สวดมนต์วันละ 2 ครั้ง แผ่เมตตาวันละ 2 ครั้ง กรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร ไม่เคยขาดแม้แต่เพียงวันเดียว ถ้าไม่ยึดหลักธรรม เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลยในเรือนจำ วันนี้ที่มาเล่าเพื่อปรับทุกข์ อย่างไรตนก็เคารพในกระบวนการยุติธรรมอยู่ แต่ตนหมดหนทาง เพราะหนทางปกติเหมือนคนทั่วไป ยังมีเส้นทางต่อสู้ อาจจะล้มละลายอีกด้วย หากไม่มีปัญญาจ่ายเงินชดใช้ ตามคำสั่งศาล ยิ่งหากศาลสั่งขังตน ก็ล้มละลาย ไม่ขังตนก็ไม่ทราบว่ารอดการล้มละลายหรือไม่

การมีชีวิตอยู่ไม่ง่าย หลังจากนี้ 8 วัน วันที่ 23 กันยายน จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบุกบ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  คดีที่เพื่อนเรา ทั้ง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และคนอื่น ๆ เป็นจำเลย ก็ให้กำลังใจกัน แม้จะยากเหลือเกิน ในช่วงที่ผ่านมาตนยืนอยู่หัวแถว ก็รู้ชะตากรรมหมู่มิตร ได้พูดคุยแต่ละฝ่ายเพื่อหาทางออก ไม่ต้องการให้พี่น้องหรือใครก็ตามต้องมาติดคุก จากความเห็นต่างทางการเมือง แต่ก็ต้องมาเจอกับสิ่งที่ตนไม่คาดคิดมาก่อน แต่นี่เป็นวิถีทาง เราจึงต้องปฏิบัติตามหลักธรรม ตามที่ท่านพุทธทาสบอก ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง  อย่างไรก็ตาม พี่น้องในคดีพัทยา คดีบ้านสี่เสา ยากลำบาก มีภาระที่ต้องคิดอ่าน ว่าถ้าเขากลับมาสู่เรือนจำ จะเอาพวกเขาออกจากคุกได้เร็วที่สุดอย่างไร  ในโชคชะตานี้ เรายังจะต้องผ่านอุปสรรคอีกมากมาย กว่าที่เราจะเดินหลุดพ้นกันไปได้  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0