โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จดหมายในขวดน้ำ - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 04.00 น. • วินทร์ เลียววาริณ

วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี 2561 ครอบครัวอิลล์แมนชาวออสเตรเลียขับรถผ่านหาดทรายทางเหนือของเกาะเวดจ์ รถติดหล่มทราย นางอิลล์แมนและเพื่อนจึงไปเดินเล่น พบขวดใบหนึ่งจมในกองทราย เธอเห็นว่าสวยดี จึงนำกลับบ้าน เพื่อใช้เป็นของประดับ

เธอพบว่าภายในขวดมีบางสิ่งที่ดูเหมือนจดหมาย เมื่อนำออกมาพบว่ากระดาษภายในเปียกชื้น จึงใส่เครื่องอบให้แห้ง

จดหมายลงวันที่ 12 มิถุนายน 1886 (พ.ศ. 2429)

ตัวเลขปีดูไม่สมจริงอย่างยิ่ง ไม่น่าเชื่อว่าขวดสามารถลอยกลางมหาสมุทรมากว่าหนึ่งร้อยปี เธอจึงส่งขวดไปให้ให้พิพิธภัณฑ์ Western Australian Museum ตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบก็พบว่าเป็นของจริง

พวกเขาตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารจากเรือเยอรมนีลำหนึ่ง ชื่อ Paula ขวดถูกโยนลงน้ำที่มหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่เรือสำรวจมหาสมุทรลำนี้แล่นจากคาร์ดิฟฟ์ในเวลส์มุ่งหน้าไปอินโดนีเซีย

พื้นที่สามในสี่ของโลกเป็นน้ำ อาจไม่แปลกนักที่ขวดลอยกลางน้ำนานกว่าร้อยปี แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าขวดน่าจะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งออสเตรเลียภายในปีนั้น และฝังในทราย สภาพขวดปากแคบทำให้ต่ออายุของจดหมายฉบับนี้ อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน

ณ วันนี้เป็นขวดใส่จดหมายที่เก่าที่สุดในโลก

ขวดใบนี้อยู่รอดมากว่าศตวรรษ ไม่รับรู้สงครามโลกครั้งที่ 1 และ  2 ไม่รับรู้อีกมากมาย มันผ่านการก้าวกระโดดของอารยธรรม ความวุ่นวาย สงคราม

ไม่ว่าความจริงมันจะใช้ชีวิตกลางมหาสมุทรหรือฝังซุกในกองทราย การไม่รับรู้เรื่องโลกภายนอก ก็ไม่เลวเหมือนกัน!

…………..

ในช่วงที่ผมเขียนเรื่อง สามก๊ก เวอร์ชั่นของตัวเอง ผมพบว่าคนจีนโบราณบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ละเอียดมาก จากบันทึกเรารู้ว่าสงครามเมื่อ 1,800 ปีก่อนเกิดขึ้นที่ใด เดือนไหน ปีอะไร

คนญี่ปุ่นก็มีนิสัยชอบบันทึก ทุกหมู่บ้านมีบันทึกเหตุการณ์ในหมู่บ้าน เขียนด้วยหมึกจีนบนกระดาษญี่ปุ่น เมื่อหมู่บ้านเกิดไฟไหม้ ชาวบ้านจะโยนบันทึกเหล่านี้ลงบ่อน้ำ เมื่อไฟดับค่อยนำขึ้นมาผึ่งให้แห้ง คุณภาพดีเลิศของกระดาษญี่ปุ่นกับหมึกจีนทำให้บันทึกเหล่านี้ไม่สูญหาย ผ่านเวลาหลายร้อยปีในสภาพดี

บันทึกประวัติศาสตร์ล้วนเป็น ‘จดหมายในขวดน้ำ’ ลอยล่องผ่านกาลเวลา บ้างมีคนพบ บ้างหายไปจากความทรงจำ

เมื่อหนุ่มๆ ผมเขียนไดอารีทุกวัน ภายหลังหยุดไปเพราะบันทึกแต่ละวันเริ่มซ้ำกัน

การเขียนบันทึกอนุทินรายวันก็เป็น ‘จดหมายในขวดน้ำ’ ถ้าใช้เป็นมีประโยชน์มาก เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยพัฒนาตัวเอง

ผ่านไปสี่สิบกว่าปี มาอ่าน ‘จดหมายในขวดน้ำ’ ใหม่ แลเห็นพัฒนาการของเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาเป็นตัวตนในวันนี้ชัดขึ้น เข้าใจตัวเองดีขึ้น

อะไรคือประโยชน์ของจดหมายในขวดน้ำ? เราส่งมันออกทะเลไปทำไม? คำตอบคือมันคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับ แต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน เช่น บ้างต้องการเพื่อนใหม่ บ้างต้องการหากิจกรรมคลายเหงา เขียนจดหมายโดยไม่รู้ว่าจะมีใครอ่านหรือไม่ บ้างต้องการปลดปล่อยความคิดความรู้สึกต่างๆ ออกไป เช่นคำขอโทษ คำอำลา เป็นหลักการเดียวกับพิธีลอยกระทง บ้างต้องการให้ขวดถูกพบ บ้างไม่ต้องการให้ขวดถูกพบ

ในสมัยผมเป็นวัยรุ่น มีกิจกรรมนิยมอย่างหนึ่งคือ penpal หรือเพื่อนทางไปรษณีย์ เราเขียนจดหมายถึงคนที่เราไม่รู้จัก ตามชื่อที่พิมพ์ในนิตยสารบางฉบับ เขาหรือเธออาจตอบหรือไม่ตอบ อาจเป็นเพื่อนหรืออาจไม่เป็น

ในยุคที่เรายังไม่มีสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ทุกบ้าน การเขียนจดหมายถึงเพ็นพัลเป็นกิจกรรมที่สนุกอย่างหนึ่ง

…………..

จดหมายในขวดน้ำมิได้มีแต่บนโลก

ในปี 2520 คาร์ล เซเกน นักวิทยาศาสตร์-นักเขียนชั้นนำคนหนึ่งของโลก (ผู้เขียน Contact) เสนอให้องค์การนาซาบรรจุ ‘จดหมายในขวดน้ำ’ ในยาน Voyager 1 ที่ออกจากโลกสู่อวกาศ เป็นจดหมายถึงสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว ด้วยความเชื่อว่าหาก ‘มนุษย์ต่างดาว’ พบ ‘ขวดน้ำ’ นี้และฉลาดพอ ก็คงหาวิธีอ่านจดหมายจากโลกได้

มันคือ ‘ขวดน้ำ’ จากโลกที่จะเดินทางข้ามเอกภพ เป็นทูตจากโลกไปยังต่างดาว พร้อมสารสันติภาพ

‘จดหมาย’ ฉบับนี้เป็นแผ่นดิสก์ทองสองแผ่น บันทึกหลายเรื่องราว บรรจุเสียงและภาพต่างๆ ที่จำลองความหลากหลายของชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ บนโลก

เนื้อหาของ ‘จดหมายในขวดน้ำ’ นี้คัดสรรอย่างระมัดระวัง โดย คาร์ล เซเกน เป็นหัวหน้ากรรมการคัดสรร ไม่บอกมากไปน้อยไป บรรจุภาพทั้งหมด 115 ภาพ ภาพโครงสร้างของระบบสุริยะ ดีเอนเอ โครงสร้างของมนุษย์ สัตว์ แมลง พืช ธรรมชาติต่างๆ อาหาร สถาปัตยกรรม ส่วนเสียงก็มีหลากหลาย เช่น เสียงธรรมชาติ เสียงลม เสียงฟ้าร้อง เสียงสัตว์ เสียงนก เสียงวาฬ ภาษามนุษย์ต่างๆ รวมคำทักทายใน 55 ภาษา ดนตรีแบบต่างๆ จากทั่วโลก โมสาร์ท เบโธเฟน ดนตรีสมัยใหม่ ไปจนถึงเสียงหัวเราะ

นอกจากนี้ยังบันทึกคลื่นสมองของคน จากสมองของภรรยาเซเกนคือ แอน ดรูเยน ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ในทีมด้วย คลื่นความคิด ความรู้สึกต่างๆ แม้กระทั่งความรัก

หาก ‘มนุษย์ต่างดาว’ พบ ‘จดหมายในขวดน้ำ’ นี้ ก็จะรู้ในระดับหนึ่งว่าโลกเราเป็นอย่างไร และถึงเวลานั้น เราอาจได้เพื่อนใหม่ต่างดาว

ตอนนี้ Voyager 1 ออกจากระบบสุริยะแล้ว และลอยล่องไปในอวกาศมืด อีกนานหลายหมื่นปีกว่ามันจะเฉียดใกล้ดาวสักดวง

มหาสมุทรแห่งเอกภพนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่ามหาสมุทรบนโลกล้านล้านล้านล้านเท่า มีโอกาสสูงมากที่มันไม่ถูกเก็บขึ้นมาเลยตลอดชีวิตของมัน

ยาน Voyager 1 ก็มีขนาดเท่าฝุ่นละอองในมหาสมุทร จดหมายอาจสูญหายไปในมุมหนึ่งของห้วงเอกภพ 

การเขียนจดหมายใส่ขวดน้ำโยนลงทะเลเอกภพอาจดูเป็นการกระทำที่สูญเปล่า แต่มันเป็นเช่นเราเหวี่ยงเมล็ดพืชลงที่ผืนแผ่นดิน โดยไม่รู้ว่ามันจะแตกหน่อหรือไม่ และเมื่อไร

มันเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กัยชีวิตนอกเหนือจากชาวมนุษย์ด้วยกัน

มนุษยชาติมีอายุขัยจำกัด วันหนึ่งเมื่อสิ้นมนุษยชาติ ซากที่เหลือของเราและโลกของเราก็จะลอยล่องในจักรวาล และ ‘จดหมายในขวดน้ำ’ ก็เป็นเช่นไดอารีแห่งมนุษยชาติ

วันหนึ่งอีกสักหลายพันล้านปีข้างหน้า เมื่อสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวมาพบซากของเราหรือขวดน้ำของเราเข้า ก็อาจรู้ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตแบบใด ทำอะไรอยู่ที่ที่เราเคยอาศัยอยู่ และเรามีค่าหรือไม่

หรือเป็นเพียงเศษขยะชิ้นหนึ่งที่ลอยในห้วงมหรรณพแห่งจักรวาล 

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

กรกฎาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0