โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

งานวิวาห์ผู้หญิงกับผู้หญิง ในเมืองไทย เมื่อกว่า 100 ปีก่อน

The MATTER

อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 07.38 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 00.00 น. • Thinkers

อาจเผลอลืมเลือน ‘ช้อย’ เสียแล้ว ถ้าคล้อยค่ำวันหนึ่ง ผมมิได้รับการเชิญชวนจากกลุ่มเพื่อนสาวๆให้ร่วมวงอิ่มหนำอาหารอร่อย ความที่ตอนนั้น กระแสข่าวคู่หญิงรักหญิงเข้าพิธีวิวาห์กันกำลังเกรียวกราว (ราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2562) พวกเธอๆ เลยซักถามความคิดเห็นของผมต่อกรณีเช่นนี้ ผมจึงเอ่ยพาดพิงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2471 ให้สาวๆฟัง ล่วงผ่านไปเกือบปี ผมพลันฉุกนึกได้ว่า แทนที่จะเล่าให้เพื่อนๆตื่นเต้นอย่างเดียว ก็ควรนำมาเรียงร้อยถ้อยอักษรเสนอสู่สายตาคุณผู้อ่านทุกท่านด้วยดีกว่า

ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่ใครๆมองว่าเพิ่งจะปรากฏในสมัยปัจจุบัน แต่จริงๆ กลับเคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต กระทั่งในประวัติศาสตร์ของเมืองไทยเองก็ตาม

ผมมักเปรยกับผองเพื่อนบ่อยๆ การที่เราบอกกันว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่เคยมีมาก่อน บางทีอาจจะเคยมีอยู่ เพียงแต่เราไม่ได้สืบค้นต่างหาก

เอาละครับ ผมใคร่ขอพาทุกๆ ท่านย้อนเวลาไปสัมผัสบรรยากาศงานพิธีวิวาห์งานหนึ่งในปี พ.ศ.2471 หลายท่านอาจคาดไม่ถึงว่ายุคนั้น ผู้หญิงกับผู้หญิงก็จัดงานแต่งงานกันเอิกเกริก และได้รับความยินยอมและยินดีจากวงศาคณาญาติ

พุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2471 ณ บ้านของช้อย (หรือชื่อที่เป็นทางการคือนางช้อย) ตรงข้ามวัดทอง คลองบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี ได้มีพิธีวิวาห์ระหว่างนางช้อย-เจ้าบ่าว กับนางสาวถม-เจ้าสาว โดยมีสินสอดทองหมั้นและผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเจรจาสู่ขอ ในงานนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ รวมถึงประชุมแขกรดน้ำอวยพรกันอย่างเต็มพิธีการมงคล

ช้อยอายุย่างเข้า 32 ปี เธอเป็นลูกของนายน้อมและนางเชื่อม น้อมศิริ มีน้องชายชื่อชม หากสองพี่น้องกำพร้าบิดามารดามาตั้งแต่เด็กๆ อย่างไรก็ดี ครอบครัวของช้อยถือเป็นผู้มีฐานะดีในละแวกตำบลคลองบางระมาด ซึ่งสองฝั่งคลองบางระมาดนั้น เคยเป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นแหล่งพิชพันธุ์สวนผลไม้

งานแต่งงานของช้อยกับนางสาวถมกลายเป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับสังคมไทยต้นทศวรรษ 2470 หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวกันหลายฉบับ ส่วนมากจะพาดหัวทำนอง ‘วิวาห์ลักเพศ’ หรือเรียกช้อยว่า ‘เจ้าบ่าวลักเพศ’ ยิ่งเฉพาะหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ดูเหมือนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ มิหนำซ้ำ ยังส่งผู้สืบข่าวมาตามเกาะติดเพื่อขอถ่ายรูปนางคู่วิวาห์มาลงพิมพ์ อยากทราบความปรารถนาของคู่วิวาห์ เช่น ทำไมจึงมารักกันแต่งงานกันได้ จะอยู่กินด้วยกันอย่างไรต่อ และคอยจับตาว่าสถานการณ์ของความรักแบบหญิงรักหญิงจะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า

ช้อย

บางท่านที่ไม่คุ้นเคยคำว่า ‘ลักเพศ’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ให้ความหมายว่า “ทําหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน…” ลึกๆผมไม่ค่อยเห็นพ้องกับการใช้คำว่า ‘ลักเพศ’ สักเท่าไหร่ แต่ที่แสดงไว้ในบทความก็เพื่อสะท้อนว่าต้นทศวรรษ 2470 พบการใช้คำนี้ผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆอย่างแพร่หลาย

ก็รู้ๆ กันทั่วไปว่าในเมืองไทยมีพฤติกรรม 'หญิงรักหญิง' มาเนิ่นนาน ทว่าการที่ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงเยี่ยงกรณีของช้อยกับนางสาวถมย่อมเป็นเรื่องทำให้คนไทยตกตะลึงพรึงเพริดมิใช่เบา

ภายหลังวันวิวาห์ ช้อยและนางสาวถมก็ได้อยู่กินกันมาด้วยความหวานชื่นและประนีประนอมเฉกเช่นคู่สามีภรรยาทั้งหลาย ครั้นผู้สืบข่าวของหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง แวะเวียนสอบถามชีวิตหลังแต่งงาน ช้อยและนางสาวถมกล่าวตอนหนึ่งว่า *“ดิฉันจะปกป้องครองกันไปจนกว่าชีวิตหาไม่” *

คู่รักทั้งสองครองรักร่วมหอกันมาจวบจนวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2471 ชีวิตครอบครัวก็ประสบเหตุอุกฉกรรจ์ ร้ายแรงถึงขั้นช้อยต้องสูญสิ้นชีวิตโดยไม่ทันสั่งเสียผู้ใด

หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2471 พาดหัวรายงานข่าวว่า

 

ดังที่ผมระบุไว้ ชื่อที่เป็นทางการของเจ้าบ่าวได้แก่ นางช้อย สงสัยบ้างไหมครับว่า เหตุไฉนไม่เป็น นางสาวช้อย คำเฉลยคือ ช้อยเองมิใช่คนโสด เธอเคยมีสามีเป็นผู้ชายมาแล้ว เขาชื่อเซ้ง

ในวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2471 เซ้ง สามีของช้อย พร้อมกับเพื่อนชายคนหนึ่งได้มาหาช้อยที่บ้าน ซึ่งทั้งช้อยและถมได้ต้อนรับอย่างดี ช้อยเองสนทนาปราศรัยกับเซ้งคนรักเดิมอย่างเปี่ยมล้นไมตรี คืนนั้นเซ้งนอนค้างบนบ้านกับช้อย ส่วนเพื่อนชายของเซ้ง ช้อยจัดแจงให้นอนแยกอีกแห่งหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน เซ้งกับเพื่อนชายก็อำลาช้อยและถมกลับไป

พฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน เวลาประมาณ 10.35 น. เมื่อช้อยสักการะพระพุทธรูปอันเป็นกิจวัตรของเธอเสร็จสิ้น ก็เดินออกจากห้องมาปัสสาวะบริเวณห้องเล็กหลังครัว ตอนจะลุกขึ้น ได้ยินเสียงสุนัขใต้ถุนเรือนและตามบ้านใกล้เคียงเห่าเสียงลั่น ทันใดนั้น ช้อยโพล่งออกมาด้วยความไม่พอใจว่า “หมามันเห่า หนวกหูนัก จะต้องไปเอาข้าวสารมาขว้างไล่ปีศาจเสียที พูดขาดคำ ช้อยเดินไปยืนพิงฝาประตูครัว เอามือเท้าขอบประตูไว้ ส่วนนางสาวถมนั่งพิงฝาครัวอยู่ข้างหน้านางช้อย

จู่ๆ เสียงปืนลั่นเปรี้ยงมา 1 นัด

ช้อยล้มลง กระสุนถูกตรงเอวข้างซ้ายไส้ทะลักออกมา เธอร้องโอยคำเดียวแล้วแน่นิ่งสิ้นใจ นางสาวถม ญาติผู้ใหญ่ และเด็กเล็กๆราว 10 คน ซึ่งพำนักในบ้านของช้อย พากันแตกตื่นและร้องเอะอะขึ้น แต่ผู้ร้ายหลบหนีไปทางไหนไม่มีใครพบเห็นวี่แวว

สักครู่ ทั้งขุนผดุงฯ กํานัน ดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยตำรวจตรีบุญมี และตำรวจอีก 4-5 นายก็มาถึงบ้านของช้อยที่เกิดเหตุ พร้อมทำการไต่สวนและชัณสูตรพลิกศพของช้อย

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำถม ผู้ภรรยา ซึ่งเธอให้การว่า ตั้งแต่อยู่ด้วยกันกับช้อยมาเป็นเวลา 1 เดือนกับ 13 วัน ไม่เคยเห็นช้อยไปสมาคมกับผู้ใดหรือมีใครไปมาหาสู่สมาคมกับช้อยที่บ้านนี้ จึงไม่น่าจะไปมีข้อผิดพ้องหมองใจกับใครๆ แต่ก่อนวันเกิดเหตุคือเมื่อวันที่ 11 เซ้ง สามีของช้อยกับเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งมาหาและนอนค้างอยู่ด้วยกันคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเซ้งกับเพื่อนก็ลากลับไป ปกติ ช้อยเคยนอนรวมมุ้งกับเธอทุกๆ คืนมา เว้นแต่คืนวันที่ 11 คืนเดียว ช้อยไปนอนกับเซ้ง สามี

น่าเสียดาย ผมยังตามเสาะค้นหลักฐานผลการสืบสวนที่คลี่คลายมูลเหตุคดีฆาตกรรมช้อยไม่พบ (แม้ใช้เวลาค้นมาแล้วหลายปี แต่ก็จะพยายามต่อไป) และน่าเศร้าที่เรื่องราวของเจ้าบ่าวช้อยและเจ้าสาวถมในปี พ.ศ.2471 จบลงด้วยกลิ่นอายโศกนาฏกรรม นั่นคือผู้เป็นเจ้าบ่าวเสียชีวิต แม้ความรักของทั้งสองราบรื่นมาตลอด

กระนั้น กรณีนี้ก็นับเป็นข้อมูลสำคัญอันพิสูจน์ได้ว่า แท้จริง หญิงรักหญิงที่เข้าพิธีวิวาห์กันโดยได้รับความยินยอมจากเครือญาติทั้งสองฝ่ายนั้น ใช่ว่าเพิ่งปรากฏในสังคมไทยยุคปัจจุบัน แต่มีมานานแล้ว มีมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เสียอีก และแน่นอนมีมาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ที่ประกาศในปี พ.ศ. 2478 จนนำไปสู่แนวคิดเรื่องระเบียบพิธีสมรส กำหนดการแต่งงานโดยรัฐในทศวรรษ 2480 (สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

หากยึดตามข้อกฎหมายซึ่งดูเหมือนมุ่งเน้นความสำคัญของการสมรสระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง พิธีแต่งงานของเจ้าบ่าวช้อยกับเจ้าสาวถมอาจมิได้ทำให้ทั้งสองกลายเป็น ‘คู่สมรส’ ที่สมบูรณ์ และในสายตาทางสังคมต้นทศวรรษ 2470 คู่รักคู่นี้อาจกลายเป็นอะไรที่ถูกมองว่าประหลาดน่าพิศวง

แต่ความรักมิได้จำกัดเพศสภาพมิใช่หรือ ความรักมิพักจำเป็นต้องยึดโยงเงื่อนไขใดใด เพราะไม่ว่าจะเป็นความรักรูปแบบไหนก็งดงามยิ่งและย่อมทรงอานุภาพเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ:

บริษัทนานมีบุคส์ จำกัด, 2557

ศรีกรุง (พฤษภาคม 2471)

ศรีกรุง (16 มิถุนายน 2471)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ.ผัวเดียว เมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0