โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดอายุสมองได้ 30 ปี

THE STANDARD

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 02.54 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 02.54 น. • thestandard.co
งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดอายุสมองได้ 30 ปี
งานวิจัยเผย ผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดอายุสมองได้ 30 ปี

งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ (UCR) เผยว่า หากผู้สูงอายุเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพียง 6 สัปดาห์ จะช่วยให้สมองมีอายุน้อยลงถึง 30 ปี

 

คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในช่วงเวลาเดียวกัน จะช่วยเพิ่มพลังทางจิตใจและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยทักษะต่างๆ ดังกล่าว อาจฝึกฝนได้จากการเรียนภาษาใหม่ๆ หัดใช้ไอแพด แต่งเพลง ไปจนถึงวาดภาพระบายสี

 

ราเชล วู นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงภาวะสมองเสื่อมถอย (Cognitive Decline) คือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เหมือนอย่างที่เด็กๆ ทำ

 

วูสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำตัวเหมือน ‘ฟองน้ำ’ ซึ่งหมายถึงให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ใช้แรงผลักดันเป็นตัวกระตุ้น มีครูช่วยเสริมกำลังใจและนำทาง รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง

 

การศึกษาในอดีตเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เผยว่า ผู้สูงอายุรับรู้ได้ดีขึ้นเมื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่จะต้องเรียนรู้ทีละทักษะไปตามลำดับ

 

แต่ในการศึกษาครั้งนี้ คณะนักวิจัยกำหนดให้ผู้มีอายุ 58-86 ปี เข้าเรียนใน 3-5 ชั้นเรียนไปพร้อมๆ กัน สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน โดยงานต่างๆ ในหลักสูตรที่กลุ่มทดลองเข้าร่วม ใกล้เคียงกับงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

 

หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีความสามารถในการรับรู้ที่ดีขึ้นถึงระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่วัยกลางคน เท่ากับว่าอายุสมองลดลงกว่า 30 ปี ในขณะที่ความสามารถของกลุ่มทดลองอีกกลุ่มที่ไม่ได้เข้าชั้นเรียนต่างๆ ไม่แตกต่างจากเดิม

 

“ผู้เข้าร่วมทดลองที่เข้าชั้นเรียนมีความสามารถทางการรับรู้แตกต่างจากเดิมถึง 30 ปี หลังจากใช้เวลา 6 สัปดาห์ และยังรักษาความสามารถนั้นไว้ได้เมื่อเรียนรู้ทักษะใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม” วูกล่าว พร้อมเสริมว่า การศึกษานี้พิสูจน์ได้ว่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่เข้มข้น ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่คนวัยเยาว์เรียนรู้ เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้ได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมราว 50 ล้านคน และโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ราวร้อยละ 60-70 ของการรักษา โดยขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะสมองเสื่อมหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางการลุกลามของโรค

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • สำนักข่าวซินหัว
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0