โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

งานวันยางพาราบึงกาฬสุดคึกคัก เกษตรกรสนใจนวัตกรรม-สร้างอาชีพ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 12.51 น.
044

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ในวันที่ 3  ตรงกับช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ มีเกษตรกรและประชาชนสนใจเข้าร่วมชมงานกันอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน โดยช่วงบ่าย เปิดเวทีปราชญ์ชาวบ้าน เสวนาพร้อมความรู้ สู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน มีผู้สนใจเข้ารับฟังเสวนาในหัวข้อต่างๆ เป็นจำนวนมาก

สร้างถนนยางทุกหมู่บ้านทั่วไทย
ดึงยางจากตลาดได้ถึงร้อยละ 50

เวทีเสวนา “ ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทางรอดของการใช้ยางพารา ” ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และคุณนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.บึงกาฬ) ร่วมแชร์ข้อมูลการสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ บนเวทีเสวนาในครั้งนี้

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ เปิดเผยว่า ถนนยางพารา เกิดจากงานวิจัยเมื่อปลายปี 2556 และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานวันยางพาราบึงกาฬเมื่อ 3 ปีที่แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจาก นวัตกรรมสร้างถนนของเยอรมัน ที่ประสบปัญหาการก่อสร้างถนนที่มีความชื้นสูง ทำให้ถนนทรุดได้ง่าย จึงพัฒนาการรักษาคุณภาพถนนรูปแบบใหม่ เรียกว่า “ ถนนโพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ (Polymer Soil Cement ) ”

ผลงานดังกล่าวจุดประกายความคิดให้ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ นำสารโพลิเมอร์สังเคราะห์มาใช้ร่วมกับน้ำยางพาราเพื่อสร้างถนนยางพารา ที่มีโครงสร้างแข็งแรง ถนนไม่ลื่นแม้เจอฝน นวัตกรรมดังกล่าวช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอีกต่างหาก 2 ปีต่อมาประเทศไทยประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทำให้นวัตกรรมถนนยางพารา ได้รับความสนใจจากเกษตรกร ภาครัฐและเอกชนในวงกว้าง ภาครัฐเล็งเห็นว่า นวัตกรรมดังกล่าว ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของนโยบาย “ 1 หมู่บ้าน สร้างถนนยางพารา 1 กม. ” ในวันนี้

ที่ผ่านมา การสร้างถนนยางพาราแอสฟัลติกใช้ยางมะตอยเป็นส่วนประกอบหลักเพราะยางมะตอยผลิตมาจากน้ำมัน ผสมกับยางพาราเยอะไม่ได้ จึงใช้ยางพาราสร้างถนนได้แค่ 5% เท่านั้น แต่งานวิจัยเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ หรือถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ของ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ เน้นใช้น้ำยางพาราเป็นโครงสร้างหลัก เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพารา มากกว่าเดิม โดยใช้ยางพาราเป็นพื้นผิวถนน เพื่อสร้างถนนปลอดฝุ่น

“ จากผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่า นวัตกรรมถนนยางพาราดินซีเมนต์ ขนาดความกว้าง 6 เมตร ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องใช้ปริมาณน้ำยาง 12 ตัน / กม. เท่ากับรถบรรทุก 10ล้อแค่หนึ่งคันเท่านั้น ”ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าว

ด้านนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ความสำเร็จของการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในวันนี้ เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากพี่เลี้ยงคนสำคัญ คือ ประชาชนจังหวัดบึงกาฬ ที่มีความรักสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจน ท่านพินิจ จารุสมบัติ นายจาง เหย็น ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด อาจารย์ณพรัตน์ วิชิตชลชัย. ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่เผยแพร่งานวิจัยแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในรูปแบบต่างๆ เช่นสนามวัลเล่ย์ สนามฟุตซอล

รวมทั้ง ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี นักวิจัย มจพ.ที่มาต่อยอดเพิ่มมูลค่ายางพารา โดยนำเสนอแนวคิดการสร้างถนนยางพารา เพื่อระบายยางพาราออกจากตลาด โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในราคาก.ก.ละ 65 บาทเพื่อนำมาสร้างถนนยางพารา ช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในจังหวัดบึงกาฬก็รับปากว่าจะเร่งผลักดันให้มีการซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรมาสร้างถนนยางพารา ล่าสุด ประกาศกรมบัญชีกลางระบุให้ซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรได้โดยอ้างอิงราคาจากตลาดกลางยางพารา อำเภอหาดใหญ่ ของการยางแห่งประเทศ(กยท.)

“ ปัจจุบันราคายางตลาดกลางหาดใหญ่อยู่ที่ ก.ก. 35 บาทเท่านั้น เท่ากับ ดับความหวังและความฝันของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เพราะแทนที่จะขายน้ำยางสดได้ราคาก.ก. 65 บาท ก็เหลือแค่ 35 บาท ไม่ได้ช่วยเหลือยกระดับราคายางภายในประเทศให้ปรับสูงขึ้นอย่างที่หลายคนคาดหวัง ขณะเดียวกันราคารับซื้อน้ำยางสดเท่ากับราคายางก้อนถ้วย ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางหันมาผลิตน้ำยางสดออกขาย ล่าสุดผมได้โทรศัพท์ไปพูดกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้เกษตรกรสามารถขายยางได้สูงขึ้นในอนาคต ” นายนิพนธ์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าวเสริมว่า ที่มาของการคำนวณราคารับซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรในราคาก.ก.ละ 65 บาท อ้างอิงจากการศึกษาวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่คำนวณต้นทุนการผลิตยางพาราของเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ 62 บาท /ก.ก. บวกผลกำไรเพิ่มอีก 3 บาท/ก.ก เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายยางพอมีกำไรบ้าง หากรัฐบาลอนุมัติให้ซื้อน้ำยางสดในราคาดังกล่าว จะไม่เพิ่มต้นทุนการสร้างถนนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะการสร้างถนนยางพารา มีต้นทุนถูกกว่าการสร้างถนนในปัจจุบันเกือบเท่าตัวอยู่แล้ว

“ประเทศไทยมีหมู่บ้านทั้งหมด 72,000 แห่ง หากใช้นโยบาย “ 1 หมู่บ้าน สร้างถนนยางพารา 1 กม. ” จะมีถนนยางพาราทั่วประเทศถึง 72,000 กม. มาตรการนี้จะช่วยดึงยางพาราออกจากตลาดได้เกิน 50% ของผลผลิตทั้งหมด ช่วยยกระดับราคาซื้อขายภายในประเทศให้ปรับตัวได้สูงขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ” ผศ.ดร. ระพีพันธ์กล่าว

ปลูกมัลเบอรี่ ไม้ผลทางเลือก
1 ไร่สร้างเงิน 3หมื่นบาท/เดือน

ภาวะราคายางตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้ลดน้อยลง สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ในฐานะผู้จัดงานหลักงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “ มัลเบอรี่ สร้างรายได้ ชดเชยสวนยาง ” โดยเชิญ นางจิรารัตน์ จัยวัฒน์ พนักงานการเกษตรชำนาญงาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาเกษตรอินทรีย์จังหวัดหนองคาย ประจำปี 2560 มาร่วมแบ่งปันความรู้สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา

นางจิรารัตน์ เสนอให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราแบ่งพื้นที่ว่าง นำมาปลูกมัลเบอร์รี่อินทรีย์ปลอดสารพิษ จำนวน 1 ไร่ ใช้เวลาปลูกดูแลไม่ถึงปี ก็สามารถเก็บผลสดรวมทั้งน้ำมัลเบอร์รี่พร้อมทานรวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ออกขาย สามารถสร้างรายได้สูงถึงเดือนละ 30,000 บาททีเดียว

เมื่อ 5 ปีก่อน นางจิรารัตน์มีปัญหาสุขภาพเพราะเข้าสู่ช่วงวัยทอง เธอรู้ว่า “ มัลเบอร์รี่” หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ “ หม่อนผลสด ” สามารถบำบัดอาการวัยทองได้ เธอจึงซื้อต้นพันธุ์หม่อนเชียงใหม่60 มาปลูกที่บ้านจำนวน 30 ต้น เพื่อเก็บผลสดรับประทานบำรุงร่างกาย ปรากฏว่า ต้นมัลเบอร์รี่ให้ผลดกมากจนเก็บกินไม่ทัน ต้องปล่อยให้แห้งเหี่ยวคาต้น เธอเปลี่ยนวิธีเก็บผลสดมาต้มเป็นน้ำมัลเบอรี่พร้อมทาน โดยแจกจ่ายให้เพื่อนที่ทำงานรับประทานกันแบบฟรี ๆ น้ำมัลเบอร์รี่มีรสชาติอร่อยมาก จนพัฒนาสู่การผลิตเชิงการค้าในที่สุด

เนื่องจาก มัลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ไม่มีเปลือก มัลเบอร์รี่ผลสดต้องขายให้หมดวันต่อวันเพราะเป็นผลไม้ที่มีผิวบอบบางต่อการขนส่ง และมีอายุการเก็บสั้น หากไม่เก็บรักษาไว้ในตู้เย็น ดังนั้น นางจิรารัตน์ได้นำ มัลเบอร์รี่ผลสดไปแปรรูป เพื่อยืดอายุการขายและสร้างมูลค่าเพิ่มในหลากหลายรูปแบบ เช่น มัลเบอร์รี่หยี น้ำมัลเบอรี่พร้อมทาน น้ำมัลเบอรี่แบบเข้มข้น แยมมัลเบอรี่ นอกจากนี้ สารสกัดจากมัลเบอรี่ ยังใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว ลดความหมองคล้ำบนใบหน้าได้อย่างดีอีกด้วย

เนื่องจากกระแสความนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมาแรง ทำให้มัลเบอรี่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ ขายดีมาก ทั้งผลสด และแปรรูปจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์สินค้าของเธอจำหน่ายผ่านช่องตลาดออนไลน์ ทำให้มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ

หากใครสนใจปลูกต้นมัลเบอรี่เป็นรายได้เสริม นางจิรารัตน์แนะนำให้ปลูก พันธุ์หม่อนเชียงใหม่60 เพราะเป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกมาก และมีรสชาติหวานอร่อยถูกใจผู้ซื้อ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 80 ต้น โดยปลูกในระยะห่าง 4X4 เมตร หรือปลูกในระยะห่าง 4X 5 เมตรเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิต ควรปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เน้นใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก

ต้นมัลเบอรี่ เป็นไม้ผลที่ต้องการแสงแดดจัด จึงไม่สามารถปลูกร่วมในแปลงสวนยางพาราได้ ยกเว้นปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ต้นมัลเบอรี่ก็เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ แต่ไม่ดกเท่ากับต้นที่ปลูกกลางแจ้ง ต้นมัลเบอรี่มักมีปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟรบกวน หากเจอการระบาดให้ตัดกิ่ง ออกไปเผาทำลาย ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ผลผลิตลดลง เพราะต้นมัลเบอรี่ยิ่งตัดกิ่งออก ยิ่งกระตุ้นให้ผลิดอกออกผลออกมามากกว่าเดิม

หากใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องปลูกและแปรรูปมัลเบอรี่ นางจิรารัตน์ยินดีต้อนรับผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสวนมัลเบอรี่ของเธอได้ที่ บ้านเลขที่ 330 หมู่ที่ 5 บ้านเซี่ยน ต.บ้านเดื่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เบอร์โทร 081-471-6062

ร่วมชมและเชียร์กิจกรรมลานแข่งขัน

กิจกรรมลานแข่งขัน ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 13 –19 ธันวาคม 2561 สุดคึกคักไม่แพ้กัน เกษตรกรสนใจเข้าร่วมแข่งขันกรีดยางพารา (ระดับจังหวัด)และการแข่งขันลับมีด (ระดับจังหวัด) เป็นจำนวนมาก โดยกำหนดแข่งขันกรีดยางพาราและกองเชียร์ยางพารา (ชิงแชมป์ประเทศไทย) ในวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 นี้ เช่นเดียวกับกิจกรรม บึงกาฬฟุตซอลคัพ 2019 จะลงสนามชิงชัยเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศ ณ สนามฟุตซอล อบจ.บึงกาฬ ผู้สนใจสามารถติดตามชมการแข่งขันบึงกาฬฟุตซอลคัพ ได้ในวันพุธที่ 19 ธันวาคม นี้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0