โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

งง!'แบนกะทิ'แล้วโยงถึงลิง ชี้รักเหมือนคนในครอบครัว

เดลินิวส์

อัพเดต 06 ก.ค. 2563 เวลา 11.39 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 09.41 น. • Dailynews
งง!'แบนกะทิ'แล้วโยงถึงลิง ชี้รักเหมือนคนในครอบครัว
ผู้ประกอบการรับจ้างลิงเก็บมะพร้าว ยันการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ได้ทรมานสัตว์ ระบุทุกวันนี้ดูแลลิงเหมือนคนในครอบครัวก่อนจะใช้งานต้องมีการฝึกสอนวิธีการขึ้นต้นมะพร้าว

จากกรณีเว็บไซต์บีบีซี รายงานระบุว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรสินค้าชั้นนำในอังกฤษสั่งเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวอื่นๆ ที่มาจากประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์มาจากการใช้แรงงานลิงปีนเก็บมะพร้าวเสมือนเป้นเครื่องจักร 

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายเชาวลิต ชูเสน่ห์ อดีตกำนัน ต.บางใบไม้ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างลิงเก็บมะพร้าว กล่าวว่า ในความเป็นจริงน้ำกะทิไม่ได้เกี่ยวข้องกับลิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งการประกอบอาชีพแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันอย่างเช่นที่ อ.เกาะสมุย เดิมเคยใช้ไม้ไผ่เป็นไม้สอยลูกมะพร้าว แต่ปัจจุบันไม้ไผ่หายากมากขึ้น เนื่องจากหมดไปจากป่าด้วยจากสาเหตุอื่น ๆ จึงต้องหันมาใช้ลิงแทน และการใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อสอยมะพร้าวเป็นการยากในการขนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ หากเป็นลิงสามารถนำขึ้นรถไปได้ทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์โดยไม่รบกวนผู้อื่น  

"สำหรับลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกิดจากการผสมพันธุ์จากลิงเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ อีกทั้งไม่ได้มีการทรมานลิงแต่อย่างใด โดยมีการดูแลอย่างดีตื่นเช้ามาก็จะมีข้าว นม ผลไม้ และของกินเล่นอื่น ๆ ให้ลิงกิน รวมถึงมื้อกลางวันและมื้อเย็นก็ไม่เคยขาดอาหาร ซึ่งรักเขาเหมือนลูกในครอบครัวให้เขาอยู่อย่างมีความสุข ส่วนตัวมองว่า การเอาลิงมาอ้างในเรื่องน้ำกะทิไม่ได้ เพราะลิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตน้ำกะทิ เราใช้ลิงเพียงแค่ขึ้นมะพร้าวเท่านั้น ปัจจุบันหาคนขึ้นไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายกับมนุษย์ หากพลาดตกลงมาถึงกลับต้องเสียชีวิตไปแล้วหลายราย” นายเชาวลิต กล่าว

ด้าน นายนิรันดร์ วงศ์วาณิช อายุ 52 ปี เจ้าของศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย ต.บางใบไม้ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การจะแบนกะทิและมะพร้าวไทย เนื่องจากใช้ลิงในกระบวนการขึ้นมองว่าเป็นทรมานสัตว์นั้น ไม่เป็นความจริง  การสั่งแบนแม้กระทั่งน้ำมะพร้าวก็ไม่ถูกต้อง เพราะประเทศไทยไม่ได้ใช้ลิงขึ้นเก็บมะพร้าวทั้งหมด อย่างมะพร้าวน้ำหอม ต้นไม่ได้สูงใช้ไม้สอยเท่านั้น ซึ่งการเก็บมะพร้าวด้วยลิงเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากการเก็บผลมะพร้าวบนยอดสูง 20 -  30 เมตร เป็นเรื่องที่คนทำได้ยาก จึงได้ใช้ประโยชน์จากลิงที่มีความสามารถปีนป่ายต้นไม้มาเป็นตัวช่วยในการเก็บมะพร้าว แต่ก่อนที่จะนำลิงเข้าสู่การเป็นมืออาชีพในวงการเก็บมะพร้าวจะต้องผ่านการฝึกฝนให้รู้จักท่วงท่าและวิธีการเก็บมะพร้าว เข้าใจในคำสั่งของคนเลี้ยงและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นอย่างดี

ปัจจุบันลิงส่วนใหญ่ที่นำมาฝึกจะเป็นลิงกัง ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ โดยนำลิงที่มีอายุ 3 ปีหรือ 3 กิโลกรัม มาเข้ากระบวนการเรียนรู้ 50 วัน ก่อนที่จะสามารถไปเก็บมะพร้าวตามวิธีชีวิตที่สืบทอดกันมา โดยไม่ใช่การเลี้ยงแบบนายจ้างลูกน้อง แต่เป็นเสมือนคนในครอบครัว ไม่ได้ทรมานลิงทั้งความเป็นอยู่อาหารการกิน ที่มีทั้งมื้อหลัก ของว่าง โดยเฉพาะวันทำงานจะมีการดูแลเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ และการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเป็นการทดแทนให้เขาอยู่แบบมีความสุข บางครอบครัวคนในบ้านกินอะไรลิงก็ได้กินในสิ่งเดียวกัน

การจับลิงป่ามาใช้งานไม่มีแล้ว ปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงลิงขึ้นมา กรณีถูกระบุว่าใช้ขึ้นเก็บมะพร้าววันละ 1,000 ลูกไม่เป็นความจริงไม่ได้เก็บทุกวันขึ้นอยู่กับความสามารถของลิงแต่ละตัว ส่วนใหญ่จะเป็นลิงเพศผู้และเป็นบางช่วงที่มะพร้าวออกผลดกเท่านั้น หากช่วงมะพร้าวราคาไม่ดีก็ปล่อยไว้ไม่ได้เก็บทิ้งไว้ 2- 3 เดือนยังได้ ขณะนี้ค่าจ้างเก็บมะพร้าวทั้งคนดูแลและลิงเฉลี่ยลูกละ 2 บาท ทั้งนี้ การล่ามลิงไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์ เนื่องจากมีการดูแลอย่างดี และไม่ได้มีการล่ามทุกตัว บางตัวเมื่อคุ้นชินก็จะปล่อยให้อยู่เอง โดยที่ศูนย์ฯ มีลิงกังทั้งหมด 38 ตัว รวมที่ชาวสวนนำมาให้ฝึก โดยจะมีกิจกรรมให้ลิงได้เรียนรู้ตามกระบวนการ ทั้งการเรียนและทำงาน พร้อมการมอบความสุขให้ลิง เพราะถ้าเขาไม่มีความสุขก็ทำงานไม่ได้

นายสุมาตร อินทรมณี ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มผลผลิตการเกษตร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กรณีนี้เชื่อว่าเป็นการตอบโต้ทางการค้าที่รัฐบาลไทยแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิดที่ใช้ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งพบว่ามีความพยายามหาข้ออ้างกีดกันสินค้าทางการเกษตรในหลายชนิดของไทย จริง ๆ แล้วเราไม่ควรวิตกกังวลให้มากจนเกินไป เพราะปัจจุบันมะพร้าวที่มีการเพาะปลูกในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

“สินค้ากะทิสำเร็จรูปที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นมะพร้าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกลับมาส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิและมะพร้าวภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวอีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการผลิตกะทิสำเร็จรูปอาจมีผลกระทบบ้างและจะต้องยอมรับส่วนนี้ ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อเป็นการป้องกันมะพร้าวล้นตลาด” นายสุมาตร กล่าว.

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0