โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

งงกันทั้งทีม! นักวิจัยออสซี่พบข้อมูล ‘ฉลามเสือ’ ลุยเดี่ยวไกล 4,000 ก.ม. ถึงปาปัวนิวกินี

Xinhua

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 09.32 น.
งงกันทั้งทีม! นักวิจัยออสซี่พบข้อมูล ‘ฉลามเสือ’ ลุยเดี่ยวไกล 4,000 ก.ม. ถึงปาปัวนิวกินี

ซิดนีย์, 20 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจติดตามการเคลื่อนไหวของปลาฉลามแถบเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งอยู่นอกชายฝั่งออสเตรเลีย ต่างพากันตกตะลึงหลังพบว่าหนึ่งในสัตว์ผู้ล่าชนิดนี้ ว่ายน้ำมุ่งหน้าสู่ปาปัวนิวกินี เป็นระยะทางไกลถึง 4,000 กิโลเมตร

นักวิจัยกลุ่มนี้ซึ่งมาจากสถาบันไบโอพิกเซล โอเชียนส์ (Biopixel Oceans) สังกัดมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก (James Cook University) ทำการศึกษาปลาฉลามเหล่านี้เพื่อขยายความเข้าใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยได้ติดเครื่องส่งสัญญาณกับฉลามเสือจำนวน 16 ตัว ในโครงการวิจัย และสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

แม้ฉลามเสือจะขึ้นชื่อว่ามีนิสัยชอบว่ายน้ำไปทางเหนือ แต่ทีมวิจัยต้องงุนงงเมื่อพบว่าซูซา (Zuza) ฉลามเสือขนาด 2.5 เมตร ซึ่งถูกติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณครั้งแรกเมื่อ 15 เดือนที่แล้ว ได้ว่ายน้ำไปจนถึงกรุงพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) ประเทศปาปัวนิวกินี

"เราตื่นเต้นกันมากที่ได้ข้อมูลการติดตามเจ้าซูซา … (แต่) เรายังมีข้อมูลไม่พอที่จะสรุปได้" ริชาร์ด ฟิตซ์แพตทริก (Richard Fitzpatrick) นักวิจัยสถาบันฯ กล่าวกับสำนักข่าวแคนส์ โพสต์ (Cairns Post)

"ดังนั้นการเดินหน้าวิจัยจึงสำคัญมากๆ เราต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของฉลาม จึงจะสามารถจัดแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ในสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นได้"

ฟิตซ์แพตทริกระบุว่าขั้นตอนการติดตามตัวฉลามเป็นไปอย่างยากลำบาก และหวังว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยจะช่วยเผยข้อมูลใหม่ๆ ที่สำคัญในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์สายพันธุ์นี้

"การติดตามด้วยดาวเทียมเป็นเรื่องยาก เพราะเราจะได้รับสัญญาณแค่ตอนที่ครีบฉลามโผล่พ้นน้ำ" ฟิตซ์แพตทริกกล่าว
"อีกทั้งตรงมุมนี้ของโลก ดาวเทียมยังครอบคลุมเพียงแค่ร้อยละ 30 ของเวลาทั้งหมดเท่านั้น"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0