โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

งกจนไม่อยากทำบุญ จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

LINE TODAY

เผยแพร่ 03 พ.ค. 2561 เวลา 10.22 น. • Pimpayod

งกคือความตระหนี่ถี่เหนียว เป็นความหมายลบในเชิงที่เห็นแก่ตัว ไม่จำเป็นว่าจะมีฐานะอย่างไร จะจนหรือมีกำลังทรัพย์เหลือเฟือก็งกได้ทั้งนั้น เพราะคนงกเหล่านี้มักไม่ยอมที่จะเสียผลประโยชน์ของตนเอง แต่ชอบที่จะเอาเปรียบคนอื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม 

เมื่อความงกเป็นเหตุให้ไม่ให้อยากทำบุญ ไม่อยากเสียเงิน ไม่อยากให้ทาน แต่กลับอยากได้บุญ อยากพ้นทุกข์ จะเป็นไปได้หรือไม่…

ให้ทานเพื่อขจัดความงก

โดยปกติจิตใจของคนเราจะไม่ค่อยคุ้นกับความดี ส่วนใหญ่จะถูกชักพาไปตามกระแสกิเลส เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ฉะนั้นถ้าอยากเอาชนะกิเลสให้ได้ ก็ต้องอาศัยความตั้งใจและจิตใจที่แรงกล้า จึงจะสามารถสวนกระแสแห่งกิเลสเหล่านั้นได้ โดยหนึ่งในการตัดกิเลสอย่างง่ายที่สุดก็คือ การให้ทาน 

การให้ทานทำให้รู้จักเสียสละ แบ่งปันทรัพย์สิน วัตถุหรืออะไรใด ๆ ก็ตามของตนให้กับผู้อื่น ทำให้เราสามารถตัดกิเลสไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามัวงก มัวตระหนี่ถี่เหนียวโดยไม่ใช่เรื่อง เราก็จะไม่รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งนำไปสู่การให้อภัย และพัฒนาต่อเป็นการสละกิเลสได้

ความงกเป็นอกุศล ที่นำมาซึ่งความทุกข์อย่างแน่นอน เพราะขนาดวิธีที่ง่ายที่สุดอย่างการให้ทานยังตระหนี่ไม่อยากจะทำ แล้ววิธีอื่นที่ต้องอาศัยการสั่งสมบุญบารมีที่มากกว่านี้ก็คงทำได้ยากเช่นกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเป็นคนงก ทำบุญน้อย สร้างกุศลน้อย โอกาสที่จะชดใช้กรรมเก่า กรรมใหม่ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าก็น้อยเช่นกัน ดังนั้นควรละทิ้งความตระหนี่ เพื่อดำเนินชีวิตตามควรแก่ฐานะและเจริญกุศลตามที่ควรจะเป็น

แต่การให้ทานก็เป็นเพียงกุศลขั้นพื้นฐาน ยังมีหนทางแห่งการดับทุกข์ การสั่งสมบุญบารมี รวมถึงกุศลอันยิ่งใหญ่กว่าทานก็มีอีกมากเช่นกัน

เราพ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าถ้าจะทำบุญให้ได้บุญ ต้องบริจาคเงินเยอะ ๆ ต้องใส่บาตรหลาย ๆ องค์ ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะนี่ก็คือการสร้างบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงกุศลขั้นพื้นฐานเท่านั้น เพราะการทำบุญไม่ใช่แค่ให้ได้ “บุญ” แต่ที่มากกว่านั้นคือการหลุดพ้นจากวัฏฏะทั้งปวง

การสร้างบุญบารมีนั้นทำได้หลายแบบ แต่ที่เราชาวพุทธยึดถือและเข้าใจในหลักการมากที่สุดก็คือ ทาน ศีล และภาวนา โดยการ ให้ทานถือว่าเป็นการสร้างบุญบารมีที่ง่ายที่สุด ส่วนการถือศีลก็จะได้บุญจากการรักษาศีล เป็นขั้นสูงและยากขึ้น สุดท้ายการภาวนาก็ได้บุญจากการเจริญภาวนา เป็นการรักษาและพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นขั้นที่ทำได้ยากที่สุด

ดังนั้นการให้ทานด้วยเงินจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างบุญเท่านั้น ถึงที่สุดแล้วการจะสร้างที่มากกว่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย “การฉุดช่วยชีวิตคนให้พ้นการเวียนว่ายเป็นมหากุศล ยิ่งกว่าสร้างเจดีย์แก้วเจ็ดชั้น” เพราะฉะนั้นการทำบุญจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน จำนวนครั้ง หรือความยิ่งใหญ่อลังการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กุศลอันสูงสุดคือการให้ธรรมะเป็นทาน ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า การให้ธรรมเป็นทานนี้ชนะการให้ทั้งปวง ได้บุญกุศลมากเสียยิ่งกว่าการสร้างโบสถ์ สร้างวิหารเสียอีก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0