โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา : 'ผมเกิดจากแม่ที่ถูกรุมข่มขืน'

Khaosod

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 16.47 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 16.47 น.
_106446384_758bcf33-7a8f--7cdb1ca93330f09e3e09786ac74d5f112f1ce10f
BBC คารีน และฌอง ปิแอร์ ลูกชายของเธอ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนหลายพันคนที่เกิดจากการที่แม่ถูกข่มขืน ในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา : ‘ผมเกิดจากแม่ที่ถูกรุมข่มขืน’ – BBCไทย

ชายชาวรวันดาวัย 24 ปี เกิดจากแม่ที่ถูกข่มขืนในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาเล่าให้บีบีซีฟังเกี่ยวกับ ภูมิหลังการเกิดมาของเขา ในเรื่องนี้เราใช้ชื่อสมมุติเพื่อปกป้องเจ้าตัวจากความรู้สึกอับอายที่เกี่ยวกับการข่มขืน ซึ่งยังคงอยู่ในปัจจุบัน

ฌอง-ปิแอร์ บอกว่า ในช่วงท้ายของการเรียนระดับประถมศึกษา เขาต้องกรอกแบบฟอร์มที่ถามชื่อพ่อแม่ของนักเรียน นั่นคือครั้งแรกที่เขาเริ่มสงสัยว่า ใครคือพ่อที่แท้จริงของเขา

“ผมไม่รู้จักพ่อ ไม่รู้ว่าพ่อชื่ออะไร” เขากล่าว

คำเตือน: เนื้อหาของบทความนี้อาจทำให้ผู้อ่านบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจ

การไม่มีพ่อไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เด็กจำนวนมากไม่มีพ่อ เพราะมีคนมากกว่า 800,000 คนที่เสียชีวิตในช่วงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 แต่พวกเขารู้ว่า พ่อตัวเองชื่ออะไร

เขาเคยได้ยินเรื่องที่ชาวบ้านพูดถึงเขา ชื่อต่าง ๆ ที่ชาวบ้านใช้เรียกขานเขา แต่กว่าที่จะเข้าใจความจริงทั้งหมด ก็ใช้เวลานานหลายปี

คารีน แม่ของเขา กล่าวอย่างหนักแน่นว่า เรื่องนี้ “ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับได้ในเวลาเพียงสั้น ๆ”

“เขาเคยได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ เรื่องที่คนซุบซิบนินทา ทุกคนในหมู่บ้านรู้ว่า ฉันถูกข่มขืน ฉันทำอะไรไม่ได้ในเรื่องนี้” เธอเล่า

“ลูกชายฉันถามอยู่เสมอว่า ใครคือพ่อของเขา แต่ในจำนวนผู้ชายที่ข่มขืนฉัน 100 คน หรือมากกว่านั้น ฉันบอกไม่ได้ว่าใครเป็นพ่อ”

ฉันหนีไปไหนไม่ได้

ไม่มีใครรู้ว่า มีเด็กจำนวนมากแค่ไหนที่เกิดจากการที่แม่ถูกข่มขืนในช่วง 100 วันของการสังหารหมู่ในปี 1994

สหประชาชาติกำลังพยายามที่จะยุติความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยในปีที่แล้ว การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธในช่วงสงคราม ทั้งใน ซีเรีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก ไปจนถึงเมียนมา

ผู้รอดชีวิตได้บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาโดยการใช้แฮชแท็ก #EndRapeinWar ในวันยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามของสหประชาชาติเมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่เกิดขึ้นนาน 100 วัน ครบรอบ 25 ปี เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่เกิดขึ้นนาน 100 วัน ครบรอบ 25 ปี เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องจะออกมาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะผ่านมานาน 25 ปีแล้วก็ตาม การได้ฟังเรื่องราวของคารีน ทำให้เข้าใจว่า ทำไมเธอจึงต้องรอจนกระทั่งลูกชายโตมากพอ เธอจึงออกมาเล่าความจริง

ในตอนที่เธอถูกข่มขืนครั้งแรก เธอมีอายุเท่า ๆ กับลูกชายของเธอในตอนนี้ เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงและเด็กหญิงชาวทุตซีหลายแสนคนที่เชื่อว่า ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยชนเผ่าฮูตู สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ และเหล่าทหาร

ตอนที่เกิดเหตุ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพิ่งเริ่มขึ้น บนใบหน้าของเธอมีแผลจากมีดสปาร์ตา 2 แผล ที่ยังมีเลือดออกอยู่ บาดแผลนั้นทำให้เธอพูดและกินลำบากมาจนถึงปัจจุบันนี้

คนที่ข่มขืนเธอ เป็นคนที่เคยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับเธอ พวกเขาลากเธอออกไปที่ข้างหลุมที่พวกเขาใช้ทิ้งศพผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ที่เพิ่งถูกสังหารที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

ไม่มีใครรู้ว่า มีเด็กจำนวนมากแค่ไหนที่เกิดจากการที่แม่ถูกข่มขืนในช่วง 100 วันของการสังหารหมู่ในปี 1994
ไม่มีใครรู้ว่า มีเด็กจำนวนมากแค่ไหนที่เกิดจากการที่แม่ถูกข่มขืนในช่วง 100 วันของการสังหารหมู่ในปี 1994

แม้ว่าเธอมีบาดแผลและรู้สึกเจ็บปวด แต่คารีนยังไม่อยากตาย และในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กลุ่มทหารได้ใช้ต้นไม้เล็ก ๆ และแท่งไม้ล่วงละเมิดทางเพศเธอ จนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงยากที่จะจินตนาการตาม แต่เธอก็ยังอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

จนกระทั่งเมื่อมีคนอีกกลุ่มหนึ่งทำร้ายเธอ กัดตามเนื้อตัวของเธอไปทั่วทั้งร่าง เธอถึงรู้สึกว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว

“ฉันอยากจะตายเร็ว ๆ ฉันอยากจะตายแล้วตายอีก”

แต่ความทุกข์ทรมานของเธอ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น โรงพยาบาลที่พยายามช่วยชีวิตเธอไว้ ถูกกลุ่มติดอาวุธชนเผ่าฮูตูเข้ายึดครอง

“ฉันหนีไปไหนไม่ได้ ฉันไปไม่ได้ เพราะทุกอย่าง [ในร่างกาย] แตกหักไปหมด” เธอเล่า

“ใครที่อยากจะมีเซ็กส์กับฉันก็ทำได้ ถ้าพวกคนร้ายอยากปลดทุกข์ พวกมันก็เข้ามาฉี่รดฉันได้”

จนกระทั่งกลุ่มกบฏแนวหน้ารักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front) เข้ามาปลดปล่อยโรงพยาบาลแห่งนี้ คารีนจึงได้รับการรักษา และกลับไปยังบ้านของเธอที่อยู่ในหมู่บ้านได้ เธออ่อนแอมาก กระดูกหัก เสียเลือด แต่เธอก็ยังไม่ตาย

แพทย์ตกใจมากเมื่อรู้ว่าเธอตั้งครรภ์

คารีนใช้เวลาหลายปี กว่าที่จะบอกความจริงกับลูกชายของเธอ
คารีนใช้เวลาหลายปี กว่าที่จะบอกความจริงกับลูกชายของเธอ

“ฉันถามว่า จะทำยังไง เพราะร่างกายของฉันแทบไม่เหลืออะไรเลย ฉันนึกไม่ออกว่า จะเกิดอะไรขึ้น”

“เมื่อลูกเกิดมา ฉันไม่เข้าใจว่าทำไม ฉันไม่อาจเชื่อได้ว่า ฉันคลอดลูกชายออกมา ฉันคิดว่า เกิดไรขึ้นกันแน่ หลังจากที่คลอดลูกแล้ว ฉันเก็บลูกไว้ แม้ว่าจะไม่ได้รู้สึกรักเลย”

เด็กที่ถูกทอดทิ้ง

เด็ก ๆ ทั่วประเทศรวันดา ได้ยินเรื่องนี้ หรือเรื่องราวทำนองนี้ นับร้อย ๆ ครั้ง ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีการพูดกันอย่างเปิดเผย

“การถูกข่มขืนเป็นตราบาป ส่วนใหญ่คนที่อายคือผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย” แซม มุนเดอเรเร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุนผู้รอดชีวิต (Survivors Fund—Surf) กล่าว กองทุนนี้ร่วมมือกับโครงการของมูลนิธิรวันดา (Foundation Rwanda) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและการศึกษาแก่แม่และเด็กที่เกิดจากการข่มขืนในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา. [ 6 เม.ย. 1994 ปธน.ฮับยาริมานา ชาวฮูตู เสียชีวิตจากเหตุวางระเบิดเครื่องบิน ],[ ช่วงกว่า 100 วัน ชาวฮูตูสุดโต่งสังหารชาวทุตซีและชาวฮูตูสายกลางราว 8 แสนคน ],[ 4 ก.ค. 1994 กลุ่มกบฏ RPF นำโดยทุตซี ยึดกรุงคิกาลี ],[ 2 ล้านคน ชาวฮูตูหนีไปซาอีร์ หรือคองโกในปัจจุบัน เพราะกลัวถูกแก้แค้น ],[ 93 คน ผู้นำที่ถูกตั้งข้อหาจากสหประชาชาติ ],[ 12,000 ศาล ศาลที่ไต่สวนผู้ต้องสงสัยกว่า 1.2 ล้านคน ], Source: ที่มา: BBC/UN, Image: Interahamwe militiamen pictured in 1994
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา. [ 6 เม.ย. 1994 ปธน.ฮับยาริมานา ชาวฮูตู เสียชีวิตจากเหตุวางระเบิดเครื่องบิน ],[ ช่วงกว่า 100 วัน ชาวฮูตูสุดโต่งสังหารชาวทุตซีและชาวฮูตูสายกลางราว 8 แสนคน ],[ 4 ก.ค. 1994 กลุ่มกบฏ RPF นำโดยทุตซี ยึดกรุงคิกาลี ],[ 2 ล้านคน ชาวฮูตูหนีไปซาอีร์ หรือคองโกในปัจจุบัน เพราะกลัวถูกแก้แค้น ],[ 93 คน ผู้นำที่ถูกตั้งข้อหาจากสหประชาชาติ ],[ 12,000 ศาล ศาลที่ไต่สวนผู้ต้องสงสัยกว่า 1.2 ล้านคน ], Source: ที่มา: BBC/UN, Image: Interahamwe militiamen pictured in 1994

เขาเล่าว่า ในบางราย ตราบาปนี้ทำให้ญาติ ๆ โน้มน้าวให้ผู้ที่เป็นแม่ทอดทิ้งลูกของตัวเอง หลายรายที่ต้องเลิกรากับสามี

ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ทำให้เด็ก ๆ จำนวนมากกว่าจะรู้เรื่องว่า พวกเขาเกิดมาได้อย่างไร ก็ตอนที่ต้องกรอกแบบฟอร์มอย่างที่ ฌอง-ปิแอร์ กรอก

“ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ที่เป็นแม่ที่บอกลูกว่าเกิดมาอย่างไรในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเธอบอกง่าย ๆ ว่า ‘พ่อของลูกเสียชีวิตในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'”

“แต่เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น พวกเขามีคำถามมากขึ้น และผู้ที่เป็นแม่ก็ถูกบีบให้เล่าความจริง”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิรวันดา ได้ช่วยผู้ที่เป็นแม่เหล่านี้หาคำพูดในการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีนั้น แต่แซม ยอมรับว่า ความจริงทำให้เกิดบาดแผลทางใจขึ้นได้

“ผลกระทบอาจเกิดขึ้นในระยะยาว อาจส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง” เขากล่าว โดยเล่าเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่เก็บงำความจริงเกี่ยวกับพ่อของเธอไม่ให้สามีใหม่รับทราบ

เธอบอกว่า ถ้าเขารู้ความจริงจะส่งผลเสียต่อชีวิตสมรส

นอกจากนั้น ก็มีเรื่องของแม่ที่ยอมรับว่า กระทำทารุณต่อลูกสาวของตัวเอง เพราะเชื่อว่า การที่ลูกเป็นเด็กดื้อ เป็นเพราะ “เหตุการณ์ที่ทำให้ลูกเกิดมา”

มีผู้เป็นแม่อีกหลายคน อย่างคารีน รู้สึกว่าไม่ผูกพันกับลูก ซึ่งยังไม่ทราบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

“นั่นคือผลตามมาที่เราอาจจะนึกไม่ถึง” มุนเดอเรเร กล่าว “คนรุ่นใหม่มีปัญหาของตัวเองหลายอย่าง และเรากำลังทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในการช่วยเหลือพวกเขาให้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ให้พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาก็มีดีเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่คนอื่น ๆ ในรวันดา”

บาดแผลจากความผูกพัน

ในที่สุด คารีน ก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ ฌอง-ปิแอร์ ฟัง ตอนที่เขาอายุได้ประมาณ 19-20 ปี

เขากล่าวว่า เขายอมรับมันได้ แต่เขายังคงรู้สึกว่า ชีวิตของเขามีบางอย่างที่ขาดหายไปเมื่อไม่มีพ่อ ที่น่าประหลาดใจคือ เขาไม่รู้สึกเกลียดชังผู้ชายที่ข่มขืนแม่ของเขาเลย ในตอนนั้นเอง คารีน จึงได้ตัดสินใจให้อภัยผู้ชายคนนั้นเช่นกัน

“เรื่องหนึ่งที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้แก่ฉันมากที่สุดคือ การคิดถึงคนพวกนั้น เมื่อคุณให้อภัย คุณจะรู้สึกดีขึ้น” เธอกล่าวโดยไม่รู้สึกสะทกสะท้าน

ผู้หญิงคนหนึ่งล้มลงบนพื้น ขณะหนีออกจากรวันดาในปี 1994
ผู้หญิงคนหนึ่งล้มลงบนพื้น ขณะหนีออกจากรวันดาในปี 1994

ฌอง-ปิแอร์ กล่าวว่า “ผมไม่เคยโกรธเขา บางครั้งผมคิดถึงเขาด้วย ตอนที่ชีวิตผมเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ผมรู้สึกว่า อยากจะมีพ่อคอยช่วยผมแก้ปัญหาเหล่านั้น”

เขามีแผนที่จะฝึกหัดเป็นช่างยนต์ และสักวันหนึ่งจะแต่งงานมีครอบครัว

“ผมตั้งใจที่จะดูแลครอบครัวของผมด้วย” เขากล่าว แม้ว่าต้องใช้เงินซึ่งเขาเองก็ไม่ค่อยมีเงินนัก

ส่วนคารีน ซึ่งได้รับคำปรึกษาในช่วงเวลาที่ไม่สายเกินไป ทำให้เธอกลับมารู้สึกผูกพันกับ ฌอง-ปิแอร์ ในช่วงที่เขาเติบโตขึ้น “ฉันรู้สึกว่าเขาเป็นลูกของฉันแล้วตอนนี้”

แม่และลูกคู่นี้ใกล้ชิดกันมาก เห็นได้จากขณะที่พวกเขากำลังนั่งมองเนินเขาสีเขียวสลับซับซ้อนเบื้องหน้า จากประตูบ้านหลังใหม่ ซึ่ง Surf ได้ช่วยซื้อให้กับพวกเขา

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่นอกหมู่บ้านที่เธอเติบโตมา หมู่บ้านที่เธอวิ่งหนีตอนที่ครอบครัวของเธอบอกให้เธอทอดทิ้ง ฌอง-ปิแอร์ หมู่บ้านที่เขาถูกเรียกขานด้วยชื่อต่าง ๆ ในสมัยที่ยังอายุน้อยกว่านี้

แต่ตอนนี้สิ่งต่าง ๆ กำลังเริ่มดีขึ้นแล้ว พวกเขารู้สึกได้รับการยอมรับทั้งจากครอบครัวและสังคม

“พวกเขารู้ว่า ฉันมีชีวิตอยู่รอดมาได้ พร้อมกับบาดแผลทางจิตใจ แล้วฉันก็มีความสุขที่ได้อยู่ที่นี่” เธอกล่าว

ส่วน ฌอง-ปิแอร์ เขารู้สึกภาคภูมิใจกับแม่มาก “มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นแม่เป็นแบบนี้ ผมรู้สึกดีใจที่แม่ดีขึ้น”

“ทั้งการที่แม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น การคิดถึงอนาคต และหนทางข้างหน้า”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0