โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฆาตกรรมชิงทรัพย์เด็กสมัยรัตนโกสินทร์ กับคดี “หนูไก๋” น่าหดหู่ สมัยรัชกาลที่ 5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ก.พ. 2566 เวลา 01.49 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2566 เวลา 01.46 น.
ภาพปก-เด็ก
เด็กชายในโรงเรียนคริสตังแห่งหนึ่งในบางกอก (ภาพจากหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม)

คดี “ฆ่าชิงทรัพย์” มีให้เห็นมาโดยตลอดไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ “เด็ก” ลักพาตัวและชิงเอาทรัพย์สินที่มักจะเป็นเครื่องประดับมีค่านั้น มีให้เห็นในประวัติศาสตร์ไทยตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปี ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ในสมัยรัชกาลที่ 1,ภาพจิตรกรรมวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3, ประกาศ ในสมัยรัชกาลที่ 4, และคดีฆ่าชิงทรัพย์ในสมัยรัชกาลที่ 5

ในกฎหมายตราสามดวงได้กล่าวถึงคดีฆาตกรรมและชิงทรัพย์ต่อเด็กไว้ว่า “…อนาปรชาราษฎรทุกวันนี้ ย่อมตบแต่งบุตรหลานใส่กำไลยเท้ากำไลยมือทุกวันอัดตรา หามีพี่เลี้ยงแม่นมพิทักรักษาไม่ ละให้บุตรให้หลานไปเหล้นไกลบ้านไกลเรือน อ้ายมีชื่อจึ่งคบคิดกันฬ่อลวงลักภา เอาบุตรแลหลานข้าทูลอองทุลีพระบาท อนาปรชาราษฎรไปฆ่าเสีย แล้วตัดเท้าตัดมือถอดเอากำไลยเปนหลายแห่ง พิจารณาเปนสัจก็มีบ้าง ที่ยังพิจารณาสืบสาวอยู่ก็มีบ้าง ที่เปนสัจนั้นให้ทะเวนแล้ว ปรหารชีวิตรเสียให้ตกไปตามกัน…”

นอกจากนี้ ในกฎหมายตราสามดวงยังกล่าวไว้อีกว่า แม้จะมีบทลงโทษถึงประหารชีวิต แต่ก็ยังมีคนไม่กลัว ไม่เข็ดหลาบ ยังกระทำการฆาตกรรมและชิงทรัพย์ต่อเด็กอยู่ เพราะพ่อแม่ยังนิยมให้เด็กใส่กำไลข้อมือข้อเท้าอยู่ แม้กระนั้นก็ยังไม่มีแม่นมหรือผู้พิทักษ์รักษาคอยดูแลซ้ำอีก ดังนั้น จึงออกกฎหมายห้ามไม่ให้พ่อแม่ใส่กำไลข้อมือข้อเท้าแก่บุตรหลานเป็นอันขาด หากผู้ใดยังทำเช่นนี้แล้วเกิดเหตุร้ายต่อเด็กแล้ว “…จะเอาตัวบิดามานดาผู้ตกแต่งเปนโทษจงหนัก…”

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ปรากฏหลักฐานในจิตรกรรมฝาผนังวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นภาพเหตุการณ์คดี “ลักเด็ก” ด้านซ้ายของภาพจะเห็นชาวจีนกำลังอุ้มเด็กหญิงที่ใส่เครื่องทองทั้งสายสร้อยและกำไลมือส่งให้กับชายชาวไทยบนเรือนแพ ที่แต่งกายด้วยผ้านุ่งลายและห่มผ้าแถบทั้งสองใหล่ทิ้งชายไว้ข้างหลัง การแต่งกายแบบนี้บ่งบอกว่าเป็นนักเลง บนเรือนแพยังมีเด็กชายอุ้มไก่ด้วยมือซ้าย ส่วนมือขวาอยู่ที่บริเวณใบหน้าท่าทางแบบนี้คือการร้องไห้ โดยเด็กชายมีเครื่องทองติดตัวอยู่จำนวนไม่น้อย ชาวจีนที่อยู่ถัดไปที่ออกมาจากเรือนแพคงเป็นพวกอ้ายผู้ร้ายลักเด็กเช่นกัน ส่วนทางขวาของภาพหญิงสูงวัยก้าวออกมาจากซุ้มประตูบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ริมท่าน้ำ คงเป็นย่าหรือยายของหลาน ๆ ที่ถูกลักตัวไป กำลังฟังบ่าวไพร่ชายสองคนเล่าเหตุการณ์ (ดังภาพด้านล่าง)

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่า ชาวบ้านยังนิยมการสวมเครื่องประดับมีค่าให้บุตรหลานกันอยู่ ตามที่ “ประกาศห้ามไม่ให้เอาทองเหรียญเงินเหรียญแต่งตัวให้เด็กและอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอก” พ.ศ. 2399 อธิบายไว้ความตอนหนึ่งว่า

“…อนึ่งราษฎรชาวบ้านนอกมีเงินน้อยหาเงินยาก เมื่อหาได้เล็กน้อยก็เอาเงินบาทบ้าง เงินสลึงบ้าง เงินเฟื้องบ้าง เจาะร้อยผูกคอผูกข้อมือบุตรหลาน ด้วยจะอวดกันว่ามีเงิน อย่างนั้นเห็นงามอยู่ฤๅ และบัดนี้คนในกรุงเปนอันมาก ทั้งไพร่ทั้งผู้ดีชื่นชมนิยมกันเอาทองเหรียญเงินเหรียญเจาะร้อยผูกคอบ้าง ผูกข้อมือบ้าง ทำเปนสังวาลย์บ้าง แต่งตัวบุตรหลาน ด้วยสำคัญว่าเปนของปลาด… อย่าได้เอาทองเหรียญเงินเหรียญมาเจาะร้อยทำเปนเครื่องแต่งตัวบุตรหลานเลย ขอให้เลิกเสียเปนอันขาดทีเดียว เงินเหรียญทองเหรียญใครมีใครหาได้ก็จงใช้สอย ซื้อจ่ายขายแลกปนไปกับเงินตราในกรุงนี้เถิด…”

ความนิยมการสวมเครื่องประดับมีค่าให้บุตรหลานในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของชาติตะวันตก ซึ่งไม่ได้มีเพียงของมีค่าที่เป็นของไทยอย่างเดียว แต่กลับมีเหรียญของต่างประเทศที่มีรูปพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นบ้าง ไม้กางเขนของศาสนาคริสต์บ้าง ซึ่งรัชกาลที่ 4 เห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะไม่ควรเอาเครื่องหมายของต่างชาติต่างศาสนามาเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้บุตรหลาน

ประกาศฉบับต่อมาว่าด้วยเรื่อง“ประกาศห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็ก ที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย” เมื่อ พ.ศ. 2409 ระบุว่า เมืองไทยมีธรรมเนียมไม่ดีมาแต่โบราณ คือเมื่อมีเงินทองก็อยากอวดว่ามั่งมี ทำกำไลข้อมือข้อเท้าหลายบาทหลายตำลึงให้บุตรหลานสวมใส่ แล้วปล่อยเด็กเที่ยวเล่นไปทั่วโดยไม่ได้สนใจ จนเกิดเรื่อง “…ลอบลักพาเอาเด็กไปฆ่าเสียบ้าง ไม่รู้ว่าสักกี่สิบรายมาแล้ว คนก็ไม่เข็ด ยิ่งมีเงินทองขึ้นก็ยิ่งเอาของแต่งเด็กล่อผู้ร้ายหนักเข้า ทุกวันนี้คนก็เล่นเบี้ยเสียโปมากผู้ร้ายชุกชุม จนมีความเรื่องที่มีผู้จับเอาเด็กไปกดน้ำบีบคอหักคอฆ่าเสียไม่ว่างเดือนเว้นปีเลย…”

ปรากฏคดีฆาตกรรมและชิงทรัพย์ต่อเด็กในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังนี้

*อีดก เมืองขุขันบุรี หักคอเด็กตาย ถอดเอาสิ่งของแต่งตัวเด็ก เจ้าเมืองกรมการส่งตัวอีดกมา ณ กรุงเทพฯ ให้ประหารชีวิตเสีย*

*อีกลาย ทาสหมื่นอาจบ้านบางตนาวศรี แขวงเมืองนนทบุรี หักคอหนูเผือกอายุ 8 ขวบตาย ถอดเอาเสมาทองคำ 1 เอากำไลทองคำคู่ 1 เอากำไลเท้าเงินคู่ 1 ได้ตัวอีกลายมาแล้ว ให้ประหารชีวิตผ่าอกเสียที่ศาลเจ้าปากคลองบางขวาง*

*อีปั่น บ้านบางลมุดแขวงกรุงเทพฯ หักคอเด็กบุตรนายเรืองนายเงินตาย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 2 ยก 60 ที ขึ้นขาหย่างประจาน 3 วัน สับเสี่ยงแล้วให้นายเงินรับเอาตัวไป*

*อีเมาะอีนุ่น ทาสหลวงบานเบิกบุรีรัตน บ้านหน้าวัดบพิตรพิมุข หักคอหนูเล็กอายุ 7 ปี บุตรนายเงินตาย ถอดเอากำไลมือทองคำคู่หนึ่ง ให้ประหารชีวิตเสียที่ทุ่งนามักกะสัน*

*อีปลี บ้านเมืองชลบุรี หักคอเด็กตายแล้วถอดเอาเสมาทองคำอันหนึ่ง ได้ตัวอีปลีมาชำระเปนสัตย์แล้ว สั่งให้ประหารชีวิตเสียที่เมืองชลบุรี*

*อีเทศ ทาสอำแดงกลายเมืองอุไทยธานี หักคอหนูเขียวอายุ 9 ขวบตาย ถอดเอาเสมาทองคำ 1 กำไลเท้าคู่ 1 ได้ตัวอีเทศมาชำระเปนสัตย์ แล้วส่งตัวไปให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 3 ยก ประหารชีวิตเสียที่เมืองอุไทยธานี*

*อ้ายโห บ่าวพระพิไชยกองลวา อยู่บ้านถ้ำแขวงเมืองกาญจนบุรี เอาไม้ตีหนูฉาวอายุ 14 ปีตาย ถอดเอาตุ้มหูทองคำ 1 กำไลเท้าคู่ 1 ให้ลงพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก*

*อีอ่ำ ทาสอำแดงสุด บ้านริมพระราชวังหลวง กดคอหนูจูอายุ 8 ปีตาย ถอดเอาปิ่นทองคำอัน 1 เสมาทองคำอัน 1 กำไลมือทองคำคู่ 1 ให้ลงพระราชอาญาจำไว้ ณ คุก*

*อีเปีย ทาสหม่อมเจ้าอัมพร ริมวังกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หักคอหนูเล็กบุตรอำแดงต่วนอายุ 7 ปีตาย ถอดเอากำไลทองคำคู่ 1 กำไลเงินคู่ 1 ให้ลงพระราชอาญาจำไว้ ณ คุก*

ดังนั้น รัชกาลที่ 4 จึงทรงออกประกาศว่า “…ขอให้เลิกการแต่งสวมสอดของเครื่องเงินทองไว้กับเด็กๆ นั้นเสียเปนอันขาดทีเดียว เพราะเปนเหยื่อล่อผู้ร้าย เปนเหตุให้เด็กต้องตายเนืองๆ ถ้าท่านผู้ใดที่มีเงินมีทองมากยังคิดอาลัยอยู่อยากจะแต่งให้ได้ ก็จงแต่งไปตามเวลา คือคราวตรุษสงกรานต์ฤๅสารทเข้าพรรษา หน้าฤดูกฐินเทศนามหาชาติ เวลาโกนจุกแลงานบ่าวสาว แลวันทำบุญให้ทานอื่นๆ เปนคราวที่ควรจะตกแต่งบิดามารดาฤๅญาติผู้ใหญ่แลคนที่ไว้วางใจได้ จนถึงว่าจะไม่มีภัยเปนอันตรายแก่เด็กแลของที่แต่งนั้น กำกับไปด้วยคนหนึ่งสองคนแล้ว ถึงจะตกแต่งให้เปนเกียรติยศเปนคราวดังนี้ไม่ห้าม…”

แล้วทรงออกบัญญัติ 4 ประการ สรุปได้ว่า ห้ามไม่ให้สวมเครื่องประดับมีค่าให้บุตรหลาน (ตั้งแต่ทองหนักบาทเฟื้องหนึ่งขึ้นไป) ผู้ใดพบเห็นเด็กสวมเครื่องประดับมีค่าให้จับตัวส่งกรมพระนครบาล ถ้าผู้ร้ายฆาตกรรมและชิงทรัพย์ต่อเด็ก ผู้ร้ายจะมีโทษถึงตายตามเด็ก ฯลฯ

ต่อมาก็ทรงออก “ประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงินแล้วปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง” เมื่อ พ.ศ. 2409 เป็นประกาศย้ำประกาศก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า หากมีผู้ใดพบเด็กที่สวมเครื่องประดับมีค่าให้จับตัวเด็กนั้นมามอบแก่นายอำเภอ กรมพระนครบาล หรือจะถอดเอาแต่ของมามีค่ามาก็ได้ แต่อย่าทุบตีทำให้เด็กผู้นั้นถึงขั้นเจ็บป่วย แล้วเอามามอบให้กรมพระนครบาล

จากนั้นให้กรมพระนครบาลปรับไหมพ่อแม่หรือผู้เป็นเจ้าของเด็กคนนั้น ผู้ที่จับเด็กมาก็ได้เงินตอบแทน ต่อเมื่อถ้าไม่มีคนทั่วไปจับเด็กมาดังประกาศนี้ ราชการจะให้คนของราชการออกเที่ยวจับ ถ้าพ่อแม่หรือผู้เป็นเจ้าของเด็กคนนั้นมาติดต่อได้ทันภายในวันนั้น ก็จะให้เสียค่าไถ่และคืนตัวเด็กไป ถ้าไม่มีผู้ใดมาติดต่อล่วงเวลานั้นแล้ว จะให้ยึดเอาตัวเด็กเป็นไพร่หลวง เด็กผู้ชายให้หัดโขน เด็กผู้หญิงให้หัดละครหลวงอย่างเลว เพราะเห็นว่ามีประโยชน์กว่าให้ผู้ร้ายลักพาไปฆ่าชิงทรัพย์

ในประกาศเดียวกันนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึงการสวมเครื่องประดับมีค่าให้บุตรหลานว่า“…เอาทองเงินของตัวมาวางไว้กลางถนนหนทางไม่เก็บระวังรักษา ด้วยจะใคร่ให้คนทั้งปวงรู้ว่ามั่งมี… การที่เปนดังนี้ฉะเพาะมีในบ้านนี้เมืองนี้ เพราะธรรมเนียมไม่ดีมักอวดมั่งมี ด้วยการแต่งเด็กด้วยทองด้วยเงิน เมืองอื่นๆ เขาแต่งเด็กแต่ด้วยเสื้อแลกางเกง ไม่มีผู้ร้ายลักบุตรเขาไป ไม่มีผู้ร้ายฆ่าเด็กเสีย… ชาวบ้านชาวเมืองเราจะมาหลงผูกทองผูกเงินไว้แก่เด็กให้เที่ยววิ่งเล่นอยู่ล่อคน ให้เปนยักษ์กินเด็กไปทำไม…”

แม้จะมีกฎหมายประกาศห้ามไว้ชัดเจน รวมถึงโทษสถานหนักถึงขั้นประหาร แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ปรากฏว่ายังเกิดคดีฆาตกรรมและชิงทรัพย์ต่อเด็กขึ้นอีก ในหนังสือ หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 2 เขียนโดย เอนก นาวิกมูล (สำนักพิมพ์ 959 พับลิชชิ่ง, 2549) ระบุว่า มีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2417 เป็นเรื่องราวของไอ้สุกและไอ้กล่อม ฆ่าชิงทรัพย์หนูไก๋ อายุ 8 ขวบ อย่างทารุณโหดร้าย เรื่องมีดังนี้

พระยาราชพงษานุรักษ์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสมุทรสงครามกับกรมการ ส่งใบบอกรายงานมายังส่วนกลางว่า เมื่อแรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด สัปตศก นายจั่น ผู้เป็นพ่อ และอำแดงเอม ผู้เป็นแม่ ของหนูไก๋ อายุ 8 ขวบ ที่ใส่กำไลเงินที่เท้าคู่หนึ่ง หนักข้างละ 5 บาท เสมาทองคำหนัก 2 สลึงเฟื้อง นุ่งผ้าสีม่วงแดงผืนหนึ่ง คาดผ้าสีท่อนหนึ่ง ทั้งสามคนไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดบางเกาะ แขวงเมืองสมุทรสงคราม

หนูไก๋เก็บดอกพิกุนอยู่ที่ลานวัด เมื่อเลี้ยงพระเสร็จแล้วพ่อแม่และคนอื่น ๆ ก็กลับบ้านกันหมด เหลือหนูไก๋เก็บดอกพิกุนอยู่ แต่เมื่อนายจั่นไปตาม กลับไม่พบลูก จึงช่วยกันสืบเสาะหาเป็นเวลากว่า 5-6 วัน จนพบศพหนูไก๋ถูกหมกโคลนที่สระน้ำวัดบางเกาะ บริเวณหลังโบสถ์ เมื่อเอาศพขึ้นมา พบว่าต้นคอช้ำเขียว กระดูกหัก หน้าผากกระดูกยุบ ไหล่ซ้น ถูกแทง เครื่องประดับมีค่ากับเสื้อผ้าหายไปหมด

ต่อมา จับผู้ร้ายที่ฆ่าชิงทรัพย์ได้ คือ ไอ้สุกและไอ้กล่อม ทั้งสองคนสารภาพว่า ในวันเกิดเหตุได้ไปกินเหล้าที่บ้านผู้มีชื่อคนหนึ่ง เสร็จจึงไปที่วัดบางเกาะ ได้พบหนูไก๋เก็บดอกพิกุนอยู่อย่างเพลิดเพลิน ไอ้กล่อมก็ช่วยปีนขึ้นไปสั่นดอกพิกุนให้เก็บ ครั้นเมื่อชาวบ้านกลับกันหมด ไอ้กล่อมก็ลงมาพูดกับไอ้สุกว่า “สมคะเนเราแล้ว” แล้วไอ้สุกก็ชวนหนูไก๋เก็บดอกพิกุนต่อ ส่วนไอ้กล่อมเดินไปเอามีดที่กุฏิพระน้อย มาตัดไม้หมาก 3 ท่อน กว้าง 4 นิ้ว ยาวศอกเศษ เสี้ยมเป็นปากเป็ด แล้วเอาดาบเหล็กมาอีกเล่มหนึ่ง ถือไปกับไม้หมาก 3 ซีก

ไอ้สุกทำทีชวนหนูไก๋เดินไปที่สระน้ำ พอได้จังหวะ ไอ้สุกก็เอาไม้หมากตีท้ายทอยตรงผมดกของหนูไก๋หนึ่งที หนูไก๋พลัดตกลงสระ หงายหน้าขึ้นมาชักดิ้นชักงอด้วยความเจ็บปวด ไอ้สุกก็เอาลูกตุ้มมะพร้าวปาซ้ำลงไปอีก ถูกหน้าผากหนูไก๋อย่างแรง แล้วลากตัวลงไปในสระน้ำ ไอ้กล่อมใช้ดาบแทงที่ไหลซ้าย จนหนูไก๋ขาดใจตาย จากนั้นไอ้สุกแก้เอาผ้านุ่งผ้าห่มกับเครื่องประดับมีค่าเหล่านั้นออกทั้งหมด นำศพฝังโคลน เอาไม้หมากขัดไว้ไม่ให้ศพลอยขึ้นมา ต่อมา ไอ้กล่อมนำของมีค่าที่ได้มาไปจำนำ ได้เงิน 1 ตำลึงครึ่ง ไอ้กล่อมเอาไว้ครึ่งตำลึง ไอ้สุกได้ 1 ตำลึง

พระยาราชพงษานุรักษ์กับกรมการเห็นว่า ผู้ร้ายทั้งสองจิตใจโหดเหี้ยม คิดเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยการฆ่าเด็ก เห็นว่าควรเฆี่ยนคนละ 3 ยก หรือ 90 ที แล้วเอาตัวไปประหารชีวิต ต่อมา พระยาราชพงษานุรักษ์นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 โดยทรงตัดสินให้ริบราชบาตร เอาลูก เมีย และทรัพย์สินของผู้ร้ายทั้งสองให้ตกเป็นของแผ่นดิน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชเอาตัวนักโทษไปประหารชีวิตเสียตามกฎหมาย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในสังคมศักดินา ซึ่งกฎหมายถูกบัญญัติโดยพระมหากษัตริย์ผู้มีอาญาสิทธิ์สูงสุดในแผ่นดิน ก็ยังปรากฏว่ามีผู้คนไม่หวาดกลัวกฏหมาย ไม่เกรงกลัวความผิดทางศาสนาหรือศีลธรรมอันดี คดีฆ่าชิงทรัพย์เด็กก็มีให้เห็นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่ได้ยกหลักฐานให้เห็นไปข้างต้น

ผู้เขียนเข้าใจว่า ราษฎรในยุคต่อมาก็คงลดความอวดมั่งอวดมีลงไปบ้าง แต่การสวมเครื่องประดับมีค่าให้บุตรหลานก็มีอยู่ เช่น กำไลข้อเท้าข้อมือรับขวัญเด็กแรกเกิด แต่เมื่อเริ่มโต เริ่มเดินได้ พูดได้ คงเลิกให้เด็กสวมเครื่องประดับมีค่า เพราะเด็กไม่ (จำเป็นต้อง) รักษาของมีค่าที่พ่อแม่สวมใส่ให้ ทั้งนี้ คดีฆ่าชิงทรัพย์เด็กจะปรากฏให้เห็นในยุคหลังรัชกาลที่ 5 ล่วงมาแล้วหรือไม่นั้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีให้เห็นอยู่ คงต้องไปสืบค้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือท่านผู้อ่านมีข้อมูลแจ้งเพิ่มเติม ก็จะเป็นความกรุณา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0