โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฆาตกรคือใคร ทำไมยังเป็นปริศนา? 60 ปี 'คดีฆาตกรรมทะเลสาบโบดอม' ที่ยังคงรอวันกระจ่าง

The MATTER

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 09.38 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 09.36 น. • Thinkers

ช่วงสายของวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1960 ที่ทะเลสาบโบดอม (Bodom) ในเมืองเอสโป (Espoo) ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศฟินแลนด์ ห่างจากเมืองหลวงเฮลซิงกิประมาณ 20 กิโลเมตร พลเมืองดีได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจว่าพบเหตุฆาตกรรมขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะนั้นเวลา 11 โมงเช้า ทางตำรวจใช้เวลาเกือบชั่วโมง ประมาณเที่ยงจึงเดินทางมาถึง ก่อนจะพบผู้เสียชีวิต 3 ศพถูกฆาตกรรมด้วยของแข็งทุบตี และถูกแทงด้วยของมีคมจำนวนหลายแผล เป็นที่น่าสยดสยองแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก ทางเจ้าหน้าที่พบผู้รอดชีวิต 1 ราย ชื่อ นายนิลส์ วิลเฮี่ยม กุฟสตาฟสัน (Nils Wilhelm Gustafsson) อายุ 18 ปี สภาพคางหัก ใบหน้ามีบาดแผลจำนวนมาก อาการสาหัส จึงเร่งนำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นอาการปลอดภัย

สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.มาเลีย อิเมียลี บิจ็อกลุนด์ (Malia Irmeli Björklund) น.ส.อันจา ตุลิกี มากิ (Anja Tuulikki Mäki) ทั้งสองเป็นหญิงสาวอายุ 15 ปี ผู้เสียชีวิตอีกรายเป็นชาย อายุ 18 ปีชื่อ เซ็ปโป้ อันเตโร บอยสมัน (Seppo Antero Boisman) จากการตรวจสอบโดยละเอียดไม่พบว่าทั้ง 3 ศพถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีเต็นท์ที่ทั้งหมดพักอาศัยอยู่ในสภาพพังยับ ผ้าใบฉีกขาดและมีคราบเลือด

ตำรวจตรวจสอบพบว่ารองเท้าของนิลส์ ผู้รอดชีวิตถูกพบอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปพอสมควร กระเป๋าสตางค์ กุญแจรถ และกางเกงนอนของมาเลียหายไป แต่รถยนต์ที่ทั้ง 4 คนเดินทางมาทะเลสาบแห่งนี้ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน

จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยละเอียด เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าคนร้ายก่อเหตุขณะที่ทั้ง 4 คนนอนอยู่ในเต็นท์ โดยใช้กระบองและมีดเป็นอาวุธสังหาร เมื่อพิจารณาจุดเกิดเหตุเชื่อว่าคนร้ายก่อเหตุนอกเต็นท์ ไม่ได้เดินเข้าไปในเต็นท์อย่างแน่นอน

ทั้ง 4 คนเป็นวัยรุ่นที่เดินทางไปเที่ยวออกเดต เมื่อสมัย 60 ปีก่อน ยังไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายที่เด็กอายุ 18 ปีจะชวนเด็กสาวอายุ 15 ปีไปเที่ยว โดยนิลส์ ผู้รอดชีวิตเป็นแฟนกับมาเลีย ส่วนอันจานั้นเป็นแฟนกับเซ็ปโป้

ตำรวจพบว่าทั้ง 4 คนเดินทางมาตั้งแคมป์ในวันที่ 4 มิถุนายน เมื่อตรวจสอบสภาพศพพบว่า เหตุฆาตกรรมน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาตี 4 ถึง 6 โมงเช้า โดยหลังจาก 6 โมงเช้านั้น มีกลุ่มเด็กที่มาดูนกเห็นชายผมบลอนด์ผิวขาวเดินออกจากจุดเกิดเหตุ

ข้อมูลตรงนี้ไม่ช่วยอะไรตำรวจมากนัก เพราะในประเทศฟินแลนด์นั้นมีผู้ชายผิวขาวผมบลอนด์เต็มไปหมดอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็พอจำกัดช่วงเวลาก่อเหตุได้ หลังเกิดเหตุตำรวจได้ลงพื้นที่สืบสวนอย่างเต็มที่เพื่อหาตัวคนร้ายที่ก่อเหตุฆาตกรรมโหดรายนี้

จากหลักฐานทั้งหมดนำไปสู่การระบุตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนหลายคน ตำรวจค่อยๆ ตัดไปทีละคน วางกรอบประเด็น 60 ปีครบรอบการฆาตกรรม มีผู้ต้องสงสัยที่น่าสนใจและมีโอกาสจะเป็นฆาตกรตัวจริงทั้งหมด 3 รายด้วยกัน

แต่ทั้ง 3 คนนี้เป็นได้เพียงผู้ต้องสงสัย ไม่มีใครถูกระบุอย่างแน่ชัดว่าคือคนร้ายที่ก่อเหตุเหี้ยมโหดในคดีนี้

ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ชอบนักท่องเที่ยว

ผู้ต้องสงสัยรายแรกมีชื่อว่า นายวัลเดมาร์ จีนสตอรม (Valdemar Gyllstrom) คนเฝ้าร้านขายของในเมืองที่เกิดเหตุ ตัวเขานั้นมีนิสัยไม่เป็นมิตรกับคนที่มาตั้งแคมป์เที่ยวในทะเลสาบแห่งนี้อยู่แล้ว เคยมีประวัติชื่อเสียปาหินใส่นักท่องเที่ยวด้วย เมื่อตำรวจได้ข้อมูลนี้ ก็มาชั่งน้ำหนักและพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องสงสัยรายนี้จะเป็นฆาตกรสุดโหดตัวจริงได้ เพราะเขาค่อนข้างไม่ชอบวัยรุ่นที่มาเที่ยวเล่นทะเลสาบแห่งนี้ ตำรวจได้คุมตัวเขามาสอบปากคำอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดีในวันเกิดเหตุ เขามีพยานหลักฐานจากภรรยายืนยันว่า เขาไม่ได้ออกไปไหน แต่นอนอยู่บนเตียงกับคนรัก

จากการสอบปากคำอย่างละเอียด ตำรวจก็คลายความสงสัยในตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ทันที แม้จะได้รับข้อมูลจากเพื่อนบ้านที่อ้างว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้เมาเหล้าแล้วสารภาพว่าตัวเองคือฆาตกรในคดีนี้ก็ตาม แต่ตำรวจไม่พบความเชื่อมโยงเขากับการฆาตกรรมนี้ได้เลย

อย่างไรก็ดีเพื่อนฝูงคนแถวนั้นและญาติใกล้ชิดต่างปักใจว่า เขานี่แหละคือฆาตกรที่ก่อเหตุสังหารโหดกับเด็กๆ ทั้ง 3 คนแน่นอน ในเวลาต่อมาภรรยาของเขาออกมาเผยว่า ได้รับการข่มขู่เอาชีวิตจากสามีให้บอกตำรวจว่าเขานอนหลับอยู่บ้านในวันเกิดเหตุ ทั้งๆ ที่จริงวันนั้นเขาไม่ได้อยู่บ้านก็ตาม แถมยังถูกขู่ฆ่าซ้ำอีกหากว่าเธอไปเปลี่ยนคำให้การกับตำรวจ

สุดท้าย 12 ปีหลังคดีนี้เกิดขึ้น ผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้ก่อเหตุฆ่าตัวตายโดยการเดินลงทะเลสาบโบดอม สถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม โดยตำรวจไม่เคยเชื่อว่าชายคนนี้ คือ ฆาตกรตัวจริง

ผู้ต้องสงสัยที่มากความหลัง

เมื่อตำรวจไม่มีหลักฐานจะแจ้งว่าวัลเดมาร์ คือฆาตกรตัวจริง จึงควานหาตัวผู้ต้องสงสัยรายต่อไป นั่นจึงนำไปสู่การนำตัวนายฮันส์ เอสสมันน์ (Hans Assmann) มาสอบปากคำ

สำหรับผู้ต้องสงสัยรายนี้ มีประวัติที่น่าสนใจมาก เขาอ้างว่าตัวเองคืออดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอส ซึ่งเป็นหน่วยรบของพรรคนาซี แถมยังเคยเป็นผู้คุมค่ายเอาช์วิทซ์ที่มีไว้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังอ้างอีกว่าเคยถูกส่งไปแนวรบด้านตะวันออกเพื่อต่อสู้กับกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตและถูกจับตัวไว้ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา ต่อมายังอ้างตัวอีกว่าเป็นสายลับเคจีบีของโซเวียตด้วย

ข้ออ้างทั้งหมดนี้

ไม่มีอันไหนเลยที่ดูน่าเชื่อถือแม้แต่เรื่องเดียว

แต่ที่ตำรวจนำตัวเขามาสอบ เพราะว่าตัวเขานั้นเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมหลายคดี เคยถูกนำตัวมาสอบปากคำ แต่ก็หลุดจากคดี เพราะไม่มีหลักฐาน และไม่อาจระบุแรงจูงใจในการก่อเหตุได้

ในคดีฆาตกรรมที่ทะเลสาบนี้ เขาโดนตำรวจคุมตัวมาสอบเพียงเพราะพักอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุเท่านั้น

อย่างไรก็ดีมีเบาะแสว่าในวันเกิดเหตุฆาตกรรม เขาเดินทางไปโรงพยาบาลเฮลซิงกิเพื่อรักษาตัว โดยมีคราบเลือดตามเสื้อผ้าและนิ้วมือมีคราบสกปรก ตอนพบหมอ เขาพยายามปกปิดชื่อตัวเอง แถมระหว่างการปฐมพยาบาลนั้น เขามีท่าทางกังวลและค่อนข้างหงุดหงิด เมื่อมีข่าวเหตุฆาตกรรมนี้ ทางโรงพยาบาลจึงได้ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้

แต่จากการสืบสวน ตำรวจไม่พบว่าเขาจะเป็นฆาตกรโหดได้ โดยตำรวจไม่แม้แต่นำเสื้อผ้าวันที่เขาใส่ไปพบหมอมาตรวจด้วยซ้ำ เขาจึงเป็นผู้ต้องสงสัยเท่านั้น จนกระทั่งเสียชีวิตไปในเวลาต่อมา

ผ่านไปหลายปีกับคดีฆาตกรรมนี้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปิดคดีนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้ พอยุคสมัยของการสืบสวนก้าวหน้ามากขึ้น มีการนำหลักวิเคราะห์เลือด ดีเอ็นเอ ทางตำรวจฟินแลนด์จึงได้ขอความร่วมมือจากอังกฤษในการตรวจสอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

นั่นจึงนำไปสู่การเปิดเผยตัวผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 ซึ่งรายนี้ได้ถูกจับกุมแล้วนำตัวขึ้นศาลด้วย

ผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 นี้ ก็คือผู้รอดชีวิตในคดีฆาตกรรมวันนั้น

นิลส์ วิลเฮี่ยม กุฟสตาฟสันนั่นเอง

ชายผู้รอดชีวิต

45 ปีหลังการฆาตกรรมในปี ค.ศ.2005 ทางตำรวจและอัยการฟินแลนด์ก็นำตัวนิลส์ขึ้นศาล โดยกล่าวหาว่าเขานี่แหละคือฆาตกรที่สังหารโหดตัวจริงในคดีนี้

โดยหลังเกิดเหตุผู้รอดชีวิตรายนี้ให้การกับตำรวจว่าเขาจำอะไรไม่ได้เลยกับเหตุการณ์วันนั้น เพราะนอนหลับอยู่ในเต็นท์แล้วก็ถูกทำร้ายร่างกายจนแทบตาย

ในขณะที่ตำรวจควานหาตัวคนร้าย ทางผู้รอดชีวิตก็ได้มีชีวิตเติบโตแต่งงานกับหญิงสาว ทำงานเป็นคนขับรถบัสจนเกษียณอายุตัวเองในวัย 64 ปี แล้วต่อมาจึงถูกจับกุมในสภาพแก่ชรา

หลักฐานสำคัญในคดีนี้ ตำรวจใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เจ้าหน้าที่พบว่า บาดแผลของนิลส์นั้น เกิดจากการจัดฉากที่เขาทำตัวเองหรือไม่ก็โดนทำร้ายร่างกายระหว่างก่อเหตุ ซึ่งบาดแผลนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการจัดฉากหรือโดนกลุ่มคนตายทำร้าย มันก็ทำให้เขาดูเป็นเหยื่อในการสังหารโหดนี้ ซึ่งการจัดฉากยังรวมถึงการที่เขาได้เอาทรัพย์สินบางส่วนของคนตายไปทิ้ง เพื่อให้ดูว่าฆาตกรหยิบมันติดตัวไปด้วย

นอกจากนี้เขายังถอดกางเกงขาสั้นแฟนสาวของเขาออก เพื่อให้ดูว่าฆาตกรต้องการก่อเหตุโดยมีแรงจูงใจทางเพศเข้ามา โดยตำรวจคาดว่าเขามีปัญหาทะเลาะด้วยความหึงหวงและโกรธแฟนสาว จึงก่อเหตุแทงหญิงสาวตาย โดยสภาพศพของมาเลียนั้น มีบาดแผลถูกแทงมากกว่าอีก 2 ศพ

นอกจากนี้ตำรวจยังพบดีเอ็นเอและคราบเลือดของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คนปนเปื้อนอยู่ในรองเท้าของนิลส์ ซึ่งรองเท้านี้ถูกนำไปทิ้งห่างจากจุดเกิดเหตุ เมื่อหลักฐานมากขนาดนี้ พวกเขาก็เชื่อว่าการฆาตกรรมครั้งนี้ถูกจัดฉากปิดซ่อนการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นในวงแน่นอน

ที่สำคัญผ่านไป 40 กว่าปี หญิงสาวรายหนึ่งออกมาเปิดเผยกับสื่อโทรทัศน์ว่า วันเกิดเหตุเธอกับเพื่อนก็ไปตั้งแคมป์ใกล้กับสถานที่เกิดเรื่องฆาตกรรม โดยนิลส์กับเพื่อนผู้ชายที่ตายได้มาหาที่แคมป์ของเธอ โดยทางนิลส์นั้นเมาเหล้าและค่อนข้างจะก้าวร้าว

จากหลักฐานทั้งหมด ตำรวจจึงคุมตัวเขาเพื่อส่งฟ้องศาล เพื่อหวังปิดคดีปริศนานี้ให้ได้ โดยเชื่อว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุคือ เขาเมา ประกอบกับมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกับเพื่อนๆ รวมถึงแฟนสาว จึงใช้มีดและกระบองเข้าไปก่อเหตุในเต้นท์ ขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับกัน

อย่างไรก็ดีพอขึ้นศาล ทนายความของผู้ต้องสงสัยได้แย้งว่า ตอนนั้นผู้ต้องสงสัยอายุเพียง 18 ปี จะก่อเหตุฆาตกรรมอีก 3 คนเพียงคนเดียวได้อย่างไร หากคิดตามตรรกะ มันก็ค่อนข้างยากที่เขาจะเป็นฆาตกรได้จริงๆ นอกจากนี้คราบเลือดของที่พบในจุดเกิดเหตุ มันก็เกิดจากการที่เขาถูกทำร้ายโดยฆาตกรด้วย เพราะเขาก็นอนในเต็นท์ในช่วงนาทีสังหารโหด อีกทั้งอาวุธก่อเหตุก็ยังไม่พบ ข้าวของทรัพย์สินที่หายไปก็หาไม่เจอจนถึงวันนี้

แถมพยานที่ออกมาพูด ก็ช่างน่าสงสัย เพราะทำไมปล่อยให้เรื่องราวผ่านมาขนาดนี้ถึงค่อยเปิดปาก ด้วยข้อสงสัยที่มากมาย รวมถึงยังมีข้อพิรุธที่ไม่อาจชี้แจงได้ ในที่สุดศาลสถิตยุติธรรมแห่งฟินแลนด์ก็ตัดสินใจยกฟ้องในฐานความผิดฆาตกรรมเพื่อนทั้ง 3 คน แถมได้ชดใช้เงินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกจับกุมเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นแก่นิลส์ด้วย

นั่นจึงทำให้คดีฆาตกรรมทะเลสาบแห่งนี้จึงยังคงเป็นปริศนา ไม่อาจปิดคดีได้จนถึงทุกวันนี้

สรุป

“เด็ก 3 รุ่นมาแล้วที่โตมากับการถูกสั่งห้ามออกจากบ้านในตอนกลางคืน เพราะโดนขู่ว่าหากออกไปจะโดนฆาตกรโบดอมฆ่า” เจ้าของร้านขายของในเมืองเอสโปกล่าว มันแสดงถึงความเจ็บปวดหวาดกลัวของคนในเมืองที่ต้องอยู่กับเรื่องราวสยดสยองนี้ โดยผ่านไปหลายปีเรื่องราวนี้ยังคงวนเวียนในเมืองเอสโป โดยไม่ทีท่าจะจางหายไปไหน เพราะคดียังปิดไม่ลงนั่นเอง

สำหรับปริศนาฆาตกรรมคดีนี้ นำไปสู่การสืบสวนสอบสวนมากมายของคนที่สนใจเรื่องคดีฆาตกรรมที่ยังไม่อาจหาตัวคนร้ายได้ ถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเปิดกว้างรอรับหลักฐานใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะผ่านไปหลายปีแล้ว ปริศนาในคดีนี้ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

เรายังไม่รู้ว่าฆาตกรในคดีนี้คือใคร แล้วทำไมเขาถึงก่อเหตุนี้ขึ้น ก็ยังคงเป็นคำถามที่ไร้ซึ่งคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0