โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ค้าปลีก "อาเซียน" กล้า ๆ กลัว ๆ หวั่นลงทุน AI ได้ไม่คุ้มเสีย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 02.51 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 02.50 น.
Exhibition
แฟ้มภาพ gettyimages

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” ในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจอย่างมหาศาล ทั้งช่วยให้ผู้ค้าเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นผ่านระบบการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น แต่ผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่า ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังไม่มั่นใจว่า การนำ “เอไอ” มาใช้จะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่

“นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า “ไมโครซอฟท์” ร่วมกับ “ไอดีซี” บริษัทวิเคราะห์การตลาดเปิดเผยผลสำรวจธุรกิจค้าปลีก 218 รายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 15 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พบว่า ธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคนี้ถึง 67% ยังไม่ตอบรับในการนำเอไอมาประยุกต์ใช้กับโมเดลธุรกิจของตนเอง

โดยในสัดส่วนดังกล่าว 23% ระบุว่า ยังไม่ได้พิจารณาเอไอเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ขณะที่อีก 44% ระบุว่า รอให้การพัฒนาเอไอก้าวล้ำไปมากกว่านี้ แต่ก็มีผู้ค้าปลีกถึง 71% ที่มองว่า เอไอจะกลายเป็นเครื่องมือแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญในอีก 3 ปีข้างหน้า

“ราช รากุนีธาน” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจระดับภูมิภาคด้านค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคของไมโครซอฟท์ ระบุว่า “ร้านค้าอาจยังไม่รับรู้ว่าเทคโนโลยีเอไอได้พัฒนาไปมากแล้ว หรือยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของเอไอมากพอ” และยังระบุด้วยว่า ธุรกิจค้าปลีกแตกต่างจากภาคธุรกิจอื่นในภูมิภาคนี้ที่หันมาใช้เอไออย่างรวดเร็ว อย่างภาคการผลิตที่มีการใช้เอไอถึง 41% ส่วนภาคบริการทางการเงินใช้เอไอถึง 52%

และหากเจาะลึกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พบว่า ธุรกิจค้าปลีกในเอเชียตะวันออกก้าวล้ำกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก รากุนีธานชี้ว่า จีนกำลังก้าวเป็นผู้นำด้านค้าปลีกและนวัตกรรม แม้ผู้ประกอบการในอาเซียนจะมีความพยายามผลักดันและเริ่มปรับตัว แต่ก็ยังล้าหลังมากหากเทียบกับจีน โดยสภารัฐกิจของจีนคาดว่า อุตสาหกรรมเอไอของจีนจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

ขณะที่ “ซู เลียน ไจย์” นักวิเคราะห์ของเอบีไอ รีเสิร์ช ระบุว่า สาเหตุหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อนำเอไอมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจสูง ประกอบกับผลตอบแทนที่ไม่แน่ชัด ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเกรงว่าผลลัพธ์จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยอาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะเกิดแรงผลักดันให้ผู้ค้าปลีกในอาเซียนปรับตัวเข้ากับเอไอมากขึ้น แม้ว่าบางประเทศอย่าง “สิงคโปร์” จะพัฒนาล้ำหน้าเพื่อนบ้าน มีร้านค้าสะดวกซื้อไร้พนักงานอย่าง “พิก แอนด์ โก” ที่ให้ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าออกไปจากร้านได้ทันที โดยใช้ระบบกล้องและเซ็นเซอร์เอไอจะหักชำระค่าสินค้าจากบัญชีของลูกค้าอัตโนมัติเมื่อออกจากร้าน รวมถึงการบริหารจัดการร้านทั้งหมดด้วยเอไอ แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวยังช้ากว่าสหรัฐและออสเตรเลียถึง 5 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0