โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ค้าชายแดนเซ่นบาทแข็ง จี้ลดดอกเบี้ยสกัดเงินร้อน

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 04.30 น.

เงินบาทแข็งโป๊กรอบ 6 ปี ส่งออกไทยไข้ขึ้น คู่ค้าเบรกออร์เดอร์ หันซื้อสินค้าคู่แข่งราคาถูกกว่า สภาผู้ส่งออกจี้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย สกัดเงินร้อนไหลเข้า ชี้ทุก 1 บาทที่แข็งค่า ทำรายได้ส่งออกหล่นหาย 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน พาณิชย์หวั่นเป้าค้าชายแดน 1.6 ล้านล้านบาทวืด สภาธุรกิจไทย-
เมียนมาเผยยอดวูบทุกด่าน

การส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มูลค่าการส่งออกยังติดลบที่ 2.7%

ขณะที่เงินบาทที่ทำสถิติแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปัจจุบันจะเป็นปัจจัยซํ้าเติมที่อาจทำให้เป้าหมายการส่งออกของไทยที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายใหม่ที่ 3% ไปไม่ถึงฝั่ง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดรอบ 6 ปี สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับเงินสกุลเช่นยูโร ทำให้เวลานี้การส่งออกของไทยแข่งขันได้ยากขึ้นไปอีก จากช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ชะลอตัวอยู่แล้วจากผลกระทบสงครามการค้า ซึ่งจากบาทที่แข็งค่ามากทำให้ราคาสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนกว่า กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

“เวลานี้เงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 30 บาทปลาย ๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากต้นปีอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกที่แม้จะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯหากได้รับชำระค่าสินค้าในช่วงนี้ก็จะขาดทุนไปแล้ว 2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯและจากมูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ที่ 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ยเดือนละ 20,312 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากช่วงจากนี้ไปไทยสามารถส่งออกได้ในระดับดังกล่าว ในทุก 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้รายรับจากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า เวลานี้คู่ค้าได้ชะลอคำสั่งซื้อและมีโอกาสจะหันไปนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินอ่อนกว่าไทย และสินค้าราคาต่ำกว่าไทยมากขึ้น เช่นจากเวียดนาม และมาเลเซีย ถือเป็นผลกระทบซํ้าเติมจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ยิ่งชะลอตัวลงไปอีกหากผู้ส่งออกของไทยจะไปลดราคาสินค้าแข่งขัน ข้อดีอาจสามารถรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้แต่ข้อเสียคืออาจทำให้ประสบภาวะขาดทุน และธุรกิจอาจขาดสภาพคล่องถึงขั้นปิดกิจการได้

“อยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง  (จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.75%) เพื่อลดแรงจูงใจเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเพื่อกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ที่เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญทำให้บาทแข็งค่า”

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระทบการค้าชายแดนไทยและการค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น สวนทางกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านอ่อนค่า ต้องใช้เงินซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น จากที่เวลานี้สงครามการค้าและค่าเงินที่ผันผวนทำให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการค้ารวม 5.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 3.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และนำเข้า 2.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่ทางกรมได้เป้าหมายการค้าชายแดนและผ่านแดนในปีนี้ไว้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ยังต้องลุ้นว่าจะทำได้หรือไม่

สอดคล้องกับนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่เผยว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากในเวลานี้ ทำให้เกิดการชะลอการสั่งซื้อจากลูกค้าชายแดนในทุก ๆ ด่าน กระทบต่อการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าเงินในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แข็งค่ามากเหมือนเงินบาท ทำให้ลูกค้าต้องชำระค่าสินค้าไทยแพงขึ้นจากเดิมเกือบ 20% หากเปรียบเทียบกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม ที่ช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินสกุลจ๊าต กีบและด่อง ไม่ได้มีการเปลี่ยน แปลงมากนัก มีผลให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งแม้สินค้าจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นทำให้ผู้ค้าต้องแบกรับภาระการขาดทุน

“หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าทะลุถึงหลัก 29 บาท คงทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้ากับประเทศคู่แข่งเช่นจีนได้ เพราะในภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน การสั่งซื้อสินค้าจีนของสหรัฐฯได้ลดลงอย่างมาก ผู้ผลิตและผู้ค้าของจีนได้หันมามองตลาด CLMVT มากขึ้น การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าไปเกือบ 20% ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ 6.925-6.85 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% เท่านั้น ทำให้สินค้าจีนยังมีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป และกระทบในวงกว้างมากขึ้น” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,482 วันที่ 27 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0