โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ค้นหาคำตอบทำไม “Big Bike” ราคาหลักแสน ถึงเฉียดล้าน! เป็นดาวรุ่งมาแรงในตลาดมอเตอร์ไซค์

Brandbuffet

อัพเดต 28 เม.ย. 2561 เวลา 08.16 น. • เผยแพร่ 26 เม.ย. 2561 เวลา 17.39 น. • WP

ในช่วง 5 ปีมานี้ ตลาดรถจักรยานยนต์ในไทย อยู่ในภาวะอิ่มตัว ไม่คึกคักเหมือนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (50 – 250 cc.) ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาด เหตุเพราะปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัวของกลุ่มแรงงานและเกษตรกร ที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักของจักรยานยนต์เซ็กเมนต์นี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น และอัตราการครอบครอง (Penetration Rate) สูงกว่า 80% ของครัวเรือนในประเทศไทย

แต่ท่ามกลางสถานการณ์เติบโตลดลง…กลับพบว่ายังมีอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่กำลังเป็น “Sunrise” และนับวันจะขยายตัวขึ้น คือ “บิ๊กไบค์” (Big Bike) ที่เวลานี้ Major Player ทั้งผู้ผลิตในฝั่งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ต่างหันมารุกตลาดนี้มากขึ้น

เจาะลึก 6 เหตุผลทำไม “บิ๊กไบค์” โตแรง

ตลาดรวม “บิ๊กไบค์” ในไทยเมื่อปี 2560 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่กว่า 27,000 คัน และคาดการณ์กันว่าปีนี้จะทะยานไปอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 คัน แม้ยังเป็นสัดส่วนที่เล็ก เมื่อเทียบกับตลาดจักรยานยนต์ทั่วไป ทว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตลาด “บิ๊กไบค์” บูม!!

1. พัฒนาการของตลาดมอเตอร์ไซค์ในไทย จากในอดีตมอเตอร์ไซค์ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะสำหรับขี่ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยมี Core Value คือ ความคล่องตัว โดยใน 1 ครัวเรือน มีมอเตอร์ไซค์เฉลี่ย 1 – 2 คัน ใช้กันทั้งครอบครัว

แต่ทุกวันนี้รถจักรยานยนต์ไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะเท่านั้น แต่ยังเป็น “สินค้าไลฟ์สไตล์” ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเจ้าของ เป็นผลมาจากผู้ผลิตค่ายต่างๆ พัฒนาสินค้าให้ Sub-segment มากขึ้น เพื่อรองรับกับการใช้งานและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง

ประกอบกับการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะ Functional Benefit แต่เน้น Emotional Value เพื่อสื่อให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ ไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะที่ไปทำกิจวัตรประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเพื่อนรู้ใจที่สามารถไปด้วยทุกหนแห่ง พร้อมกับการใช้ดีไซน์ทั้งจากโรงงานเอง และมี accessory เพื่อให้ผู้บริโภคไป Custom ในสไตล์ของตัวเอง ส่งผลให้ 1 ครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวมีรถจักรยานยนต์ของตัวเอง ซึ่งผู้บริโภคบางคนที่เคยใช้รุ่นเล็ก อยาก Trade up มาใช้รุ่นใหญ่ขึ้น

2. พฤติกรรมผู้บริโภคขยับไปตลาดพรีเมียมมากขึ้น ปัจจัยข้อนี้เชื่อมโยงกับข้อ 1 ข้างต้น เพราะโดยธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ดังนั้น ผู้บริโภคที่ขี่รถจักรยานยนต์อยู่แล้ว ต้องการที่จะ Trade up จากรถรุ่นปกติ ขยับไปรุ่นใหญ่ขึ้น และหนึ่งในรถที่นักขี่อยากครอบครอง คือ “บิ๊กไบค์” เพราะตอบโจทย์ทั้งด้านดีไซน์ สมรรถนะเครื่องยนต์ การขี่ และภาพลักษณ์ที่ดูแล้วเท่ สะท้อนตัวตนของผู้ขับขี่

3. ศักยภาพของตลาดมอเตอร์ไซค์ในไทยเวลานี้อยู่ที่ “บิ๊กไบค์” ก่อนอื่นต้องมองภาพรวมตลาดมอเตอร์ไซค์ในไทย ทั้ง Supply และ Demand ของตลาดในไทย ส่วนใหญ่ยังคงเป็น “รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก” ที่ปัจจุบัน Penetration Rate สูงกว่า 80% ของจำนวนครัวเรือนในไทยที่มี 22 – 23 ล้านครัวเรือน

ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา” (Krungsri Research) ระบุว่า การผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วน 85% ของจำนวนรถจักรยานยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในไทย เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ

ประกอบกับอัตราการครอบครองรถจักรยานยนต์ของไทยที่อยู่ในระดับสูงอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ครอบครอง หรือเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์สัดส่วนสูงกว่า 80% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด สะท้อนถึงตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว และอาจมีข้อจำกัดในการเติบโตระยะยาว

อีกทั้งในตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก กลุ่มลูกค้าใหญ่ คือ กลุ่มแมส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย เพราะฉะนั้น ทางที่จะผลักดันให้ทั้งตลาดรวมเติบโตได้ คือ การสร้าง Demand ในตลาดใหม่ ในทีนี้คือ การขยายฐานตลาด “บิ๊กไบค์” ในไทยให้เติบโตขึ้น ซึ่งจะได้ในแง่ของ Value Growth และยังได้กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ

4. ประเทศไทย เป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของโลก และแบรนด์ “บิ๊กไบค์” รายหลักเข้ามาปักธงลงทุนตั้งโรงงานในไทย “ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา” (Krungsri Research) ฉายภาพว่า ไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์สำคัญอันดับ 5 ของโลก รองจากจีนอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม 1 ผลจากการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกของค่ายรถจักรยานยนต์ระดับโลก

จากยุคแรกเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ (Completely Knock- Down: CKD) มาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป ต่อมาส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนฯ ภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้ารถจักรยานยนต์สำเร็จรูปและการนำเข้าชิ้นส่วนฯ รวมทั้งในปี 2543 มีการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) ทำให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไทยเติบโตขึ้น

ในปี 2559 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 10 แห่ง ทำการผลิตรถจักรยานยนต์รวมทั้งสิ้น 12 แบรนด์ กำลังการผลิตราว 3.5 ล้านคันต่อปี

โดยผู้ผลิตรายใหญ่เป็นทุนสัญชาติญี่ปุ่น ได้แก่ Honda, Yamaha, Suzuki, Kawasaki มีการผลิตทั้งรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก และ Big Bike (ยกเว้น Yamaha ที่ไม่มีการลงทุน Big Bike และมีนโยบายนำเข้า Big Bike จากญี่ปุ่น โดยอาศัยประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA )

นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตสัญชาติไต้หวัน (บริษัท เอ็มไบค์ มอเตอร์เซลล์ จำกัด) ที่ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กแบรนด์ SYM และผลิต Big Bike แบรนด์ Benelli และ KeeWAY

ส่วนผู้ผลิตที่เหลือแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติอื่นที่เน้นผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก 2 ราย คือ Ryuka (จีน) และ GPX (ไทย) / 2. ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ Big Bike จากยุโรป 3 ราย ประกอบด้วย Triumph (อังกฤษ), BMW (เยอรมนี) และ Ducati (อิตาลี)

นอกจากผู้ผลิตบิ๊กไบค์รายใหญ่ของโลกฝั่งยุโรป 3 รายแล้ว ข้อมูลจาก“BOI” รายงานว่า Harley-Davidson เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งศูนย์การผลิตและประกอบจักรยานยนต์ เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทย อยูใจกลางภูมิภาคอาเซียน และยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินการ เช่น การสนับสนุนต่างๆ ที่ช่วยให้นักลงทุนดำเนินธุรกิจได้ง่ายและมีอัตราภาษีที่จูงใจให้ลงทุน

การใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและประกอบ ทั้งเพื่อส่งออกไปประเทศต่างๆ และป้อนตลาดในประเทศ ย่อมทำให้ผู้บริโภคไทยได้ประโยชน์ในด้านราคาจำหน่ายที่ถูกลง ดังนั้นเมื่อราคาจับต้องได้ ก็เป็นการปลุกกระแส “บิ๊กไบค์” ให้บูมขึ้น

5. สถาบันการเงินแข่งเดือด “สินเชื่อบิ๊กไบค์” เพราะมองว่านับวัน Demand ในตลาดบิ๊กไบค์จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงิน ต่างปล่อยสินเชื่อบิ๊กไบค์ เพื่อเจาะตลาดนี้โดยเฉพาะ ทำให้เปลี่ยนภาพ “บิ๊กไบค์” จากในอดีตที่ดูเป็นของจับต้องยาก มีคนขี่เฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันกลายเป็นของที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

การที่สถาบันการเงินเข้ามาแข่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อในตลาดนี้ ช่วยกระตุ้นให้ตลาด “บิ๊กไบค์” ในไทยคึกคัก และขยายฐานคนขี่บิ๊กไบค์กว้างขึ้น

6. สื่อสารการตลาด – สร้างเครือข่ายช่องทางการขาย และการให้บริการ – สร้าง Engagement ด้วยกิจกรรม เวลานี้ทั้งแบรนด์บิ๊กไบค์ สัญชาติญี่ปุ่น และยุโรป รุกสื่อสารการตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเดินหน้าขยายเครือข่ายดีลเลอร์ และเพิ่มศูนย์ให้บริการ ขณะเดียวกันเพื่อสร้าง Brand Engagement ในระยะยาว ได้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มของผู้ขี่บิ๊กไบค์แบรนด์นั้นๆ เพื่อสร้าง Community ให้แข็งแกร่ง ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นผู้ใช้จริง และเป็น Brand Ambassador ที่จะคอยบอกต่อ จนเกิดการขยายฐานแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีศึกษา “ไทรอัมพ์” บิ๊กไบค์สัญชาติอังกฤษ ทำอย่างไรแจ้งเกิดในไทย ?!?

ท่ามกลางการแข่งขันของ “บิ๊กไบค์” หนึ่งในกลุ่มผู้เล่นที่น่าจับตามอง คือ เซ็กเมนต์พรีเมียมบิ๊กไบค์ สัญชาติยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดบนของบิ๊กไบค์ในไทย โดยในปี 2559 ยอดจดทะเบียนของพรีเมียมบิ๊กไบค์ กลุ่มยุโรป และอเมริกาอยู่ที่ราว 6,000 คัน ขณะที่ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 6,434 คัน จากตลาดรวมบิ๊กไบค์กว่า 27,000 คัน ส่วนแนวโน้มปีนี้ คาดการณ์ว่าทั้งตลาดรวมบิ๊กไบค์ ที่รวมถึงกลุ่มพรีเมียมด้วยนั้น ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากปัจจัยบวกทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อเจาะลึกเฉพาะ “กลุ่มพรีเมียมบิ๊กไบค์ สัญชาติยุโรป และอเมริกา” ในไทยมี Major Player 4 – 5 แบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ “ไทรอัมพ์” (Triumph) ซึ่งในวงการ “บิ๊กไบค์” ไม่มีใครไม่รู้จักบิ๊กไบค์สัญชาติอังกฤษแบรนด์นี้ เพราะเป็น Global Brand ที่อยู่ในตลาดมา 116 ปีแล้ว ปัจจุบันอยู่ภายใต้อาณาจักร “John Bloor” นักธุรกิจชาวอังกฤษ ที่ได้ซื้อกิจการไทรอัมพ์เมื่อปี 2533

นับจากนั้นมาได้ก้าวสู่ยุคใหม่ของ “ไทรอัมพ์” ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น “Private Business” และยังคงใช้ฐานการผลิตที่ฮิงค์ลีย์ เขตเลสเตอร์ไซร้ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกที่ถึงทุกวันนี้ เพื่อส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

ต่อมา “ไทรอัมพ์” ต้องการขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันได้ จึงมองหาสถานที่ที่จะเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 2 ที่สามารถผลิตงานคุณภาพ ขณะเดียวกันสามารถแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตได้ ในที่สุดไทรอัมพ์ บริษัทแม่ที่อังกฤษ ตัดสินใจเลือกปักหมุดสร้างโรงงานที่นิคมอมตะนคร ประเทศไทยในปี 2542 โดยเริ่มจากผลิตชิ้นส่วน แล้วส่งกลับไปยังโรงงานที่อังกฤษ

จากนั้นในช่วง 10 ปีมานี้ ได้ขยายการเติบโตมาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันฐานการผลิตในไทยแห่งที่ 2 นี้ ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ “ไทรอัมพ์” เป็นคันๆ เช่นเดียวกับโรงงานที่ฮิงค์ลีย์ เพื่อส่งออกไปทั่วโลก และป้อนให้ตลาดไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตทั้งโรงงานที่อังกฤษ และไทย รวมกันอยู่ที่ 67,000 คันต่อปี ในจำนวนนี้มาจากโรงงานไทย 55,000 – 56,000 คันต่อปี

ขณะที่การทำตลาดและการขายของ “ไทรอัมพ์” ในไทย เริ่มแรกยังเป็นผู้นำเข้าอิสระที่ซื้อมา-ขายไป กระทั่งเมื่อ 11 ปีที่แล้ว“บริษัท บริทไบค์ จำกัด” ของ “คุณดอม เหตระกูล” เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ โดยหลังจากมีตัวแทนจำหน่ายทางการ ยอดขาย “ไทรอัมพ์” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2008 จำหน่ายได้ 30 คัน ในปีต่อๆ มาเพิ่มเป็น 40 – 50 คัน และในปี 2557 เป็นปีที่ “บริทไบค์” สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 300 คัน

กลุ่มลูกค้าในยุคแรกๆ ก่อนที่บริษัทแม่เข้ามาทำตลาดเอง ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในวงการบิ๊กไบค์ และรู้จักไทรอัมพ์ยู่แล้ว

“ในช่วง 5 ปีมานี้ ตลาดบิ๊กไบค์ในไทยบูมขึ้นมา บริษัทแม่ที่อังกฤษมองเห็นว่าเมืองไทยมีศักยภาพ เพราะไทยมีฐานการผลิตไทรอัมพ์แล้ว และมี Free Zone จึงลองศึกษาตลาด ในที่สุดบริษัทแม่ได้ตัดสินใจเข้ามาทำเอง ทั้งในด้านการตลาดและเครือข่ายการจัดจำหน่าย โดยแตะมือกับ “บริทไบค์” ในช่วงเมษายน ปี 2558 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยปัจจุบันบริทไบท์ ยังคงเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายหลักให้กับไทรอัมพ์ ประเทศไทย” คุณจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าถึงที่มาของการที่บริษัทแม่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย

พร้อมขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่อบริษัทแม่มาทำตลาดเอง ทำให้ยอดจดทะเบียนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 คัน จากปีก่อน 400 คัน จากนั้นในปี 2559 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ “ไทรอัมพ์” ในไทย เมื่อสามารถทำยอดขายได้ 2,400 คัน ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มพรีเมียมบิ๊กไบค์ แบรนด์ยุโรป และอเมริกา ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 40% ขณะที่ในปี 2560 ทำยอดขายได้ 2,832 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 44% โดยยังคงเป็นผู้นำตลาดกลุ่มนี้

กลยุทธ์ที่ “ไทรอัมพ์” ให้สำคัญอยู่บนหลัก 3 แกน คือ British / Premium / Lifestyle ทั้งโปรดักต์ ดีไซน์ บริการ การสื่อสารการตลาด กิจกรรมการตลาด และเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย ต้องอยู่ภายใต้ 3 แกนนี้ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์แบบ “Premium Riding Experience”

4 กลยุทธ์รักษาบัลลังค์แชมป์บิ๊กไบค์พรีเมียม

การแข่งขันตลาดบิ๊กไบค์ในไทย จะดุเดือดยิ่งขึ้น ดังนั้น “ไทรอัมพ์” ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมภายใน ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก

  1. ยังคงต่อเนื่องกับการนำเสนอ “Premium Riding Experience” ให้กับลูกค้า ผ่าน Customer Touch Point ต่างๆ ทั้งช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Website และ Social Media เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดสินค้า เพื่อให้ลูกค้าศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจซื้อ

  2. การขยาย Network ดีลเลอร์ เพื่อตอบรับกับปริมาณการขายที่เติบโต โดยปัจจุบันมี 13 ดีลเลอร์ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 4 แห่ง และต่างจังหวัด 9 แห่ง ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 15 แห่ง

เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาช่องทางจำหน่าย คือ การพลิกโฉมโชว์รูมไทรอัมพ์ทั่วไป ให้เป็น “Triumph World” บรรยากาศองค์รวมเน้นความพรีเมียม ดูน่าเชื่อถือ แต่ยังอบอุ่น และเข้าถึงได้แบบสไตล์อังกฤษ ที่สำคัญในโชว์รูมมีรถไทรอัมพ์ทุกรุ่น เกือบทุกสี เพื่อให้ลูกค้าสามารถทดลองนั่งได้ทุกคัน และดูว่ารุ่นไหน สีอะไรที่ชอบ และเหมาะกับตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีรถ Demo ให้ทดลองขับขี่จริงทุกรุ่น เพื่อให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์จริง ขณะเดียวกันจะขยายกลุ่มสินค้า Accessory และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพความเป็น Premium Lifestyle เด่นชัดขึ้น

3. การฝึกอบรมพนักงาน เนื่องจากธุรกิจขยายตัว และมีดีลเลอร์มากขึ้น คนที่มีบทบาทในการนำเสนอ Premium Riding Experience คือ บุคลากรที่ให้บริการลูกค้า ดังนั้นปีนี้ “ไทรอัมพ์ ประเทศไทย” วางเป้าหมายโฟกัสการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อพัฒนาบริการหลังการขายให้ดีขึ้น

4. จัดคอร์สฝึกอบรมการขับขี่บิ๊กไบค์มากขึ้น เพื่อสร้าง Brand Engagement ทั้งกับลูกค้าเดิม ควบคู่ไปกับผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจบิ๊กไบค์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการให้โชว์รูมมีรถ Demo สำหรับให้ลูกค้าได้ทดลองขับขี่จริง

ที่ผ่านมาดีลเลอร์จัดคอร์สอบรมการขับขี่บิ๊กไบค์อยู่แล้ว แต่สำหับคนที่เป็นลูกค้าไทรอัมพ์เท่านั้น แต่ต่อไปจะเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าไทรอัมพ์ แต่มีความสนใจอยากทดลองขับขี่บิ๊กไบค์ ได้เข้ามาร่วมคอร์สฝึกด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลว่าจะเป็นไทรอัมพ์จากส่วนกลางทำเอง หรือให้ดีลเลอร์แต่ละรายทำ

ในที่สุดแล้วเราไม่ได้ต้องการแค่ให้ผู้บริโภครู้จักว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ไทรอัมพ์ และไม่ใช่แค่ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ แต่เราอยากให้คนรู้สึกว่าถ้าอยากจะมี Premium Riding Experience หรือประสบการณ์การขับขี่มอเตอร์ไซค์แบบพรีเมียม ต้องนึกถึงไทรอัมพ์” คุณจักรพงษ์ สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมายใหญ่ของไทรอัมพ์ ประเทศไทย

Source : Krungsri Research 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0