โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 11.30 น.
dollar-1362244_1920-728x485

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/7) ที่ 33.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/7) ที่ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงภายหลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 97.1 ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 98.2 ผลการสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ด้านสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐยังคงทวีตความรุนแรงมากขึ้น หลังจากสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยว่าจีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐในเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 2.897 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลในปี 2542 ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 4.262 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลง 0.4% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน และดัชนีส่งออกเพิ่มขึ้น 5.3% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.7% นอกจากนี้ตลาดยับจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสในวันอังคารและพุธนี้ โดยเฟดยื่นส่งรายงานในวันศุกร์ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกและเฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าได้เข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไป แต่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นไปตามสกุลเงินในภูมิภาคส่วนหนึ่งจากการอ่อนค่าของเงินหยวน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.27-33.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (16/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1683/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาด (13/7) ที่ 1.1627/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยหนังสือพิมพ์ฮันเดลส์บลาทของเยอรมนีรายงานว่า นายเยนส์ วีดมานน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนีได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เตือนรัฐบาลเยอรมนีให้ระวังความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยในเดือนที่แล้วธนาคารกลางเยอรมนีได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และระบุว่าปัญหาทางการเมืองและการค้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น นายวีดมานน์กล่าวอีกว่า รัฐบาลเยอรมนีอาจจะมีความจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งถัดไปเพราะว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องใช้เวลานานมากในการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นอีซีบีจึงมีโอกาสเพียงเล็กน้อยในการดำเนินมาตรการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหภาพยุดรป (อียู) ดำเนินไปด้วยดี โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวในวันนี้ว่าจีนจะเพิ่มช่องทางการเข้าสู่ตลาด และปรับลดอัตราภาษีศุลกากร นอกจากนี้จีนยังต้องการปรับการค้ากับอียูให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยตลาดคาดว่าการประชุมระหว่างจีน-อียูในครั้งนี้อาจจะนำมาซึ่งการหารือกันเรื่องการทำสนธิสัญญาการลงทุนระยะยาวในอนาคต แต่ค่าเงินยูโรอาจได้รับผลกระทบจากตัวเลขเงินเฟ้อที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ และจากการหารือเรื่องการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1678-1.1706 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1699/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (16/7) เปิดตลาดที่ระดับ 112.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (13/7) ที่ระดับ 112.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามสกุลเงินหลักเมื่อเทียบดอลลาร์จากการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากเป็นวันหยุดของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.33-112.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกประจำเดือน มิ.ย. (16/7), ดัชนีภาคการผลิตเดือนกรกฎาคม (16/7), ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน (17/7), รายงานสุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (19/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (19/7), ดัชนีการผลิตเดือน ก.ค. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (19/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.30/-2.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ -0.25/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0