โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ค่าชดเชย “โฮปเวลล์” รวมดอกเบี้ย การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ต้องจ่ายรวมกว่า 2.4 หมื่นล้าน

TODAY

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 13.09 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 13.05 น. • Workpoint News
ค่าชดเชย “โฮปเวลล์” รวมดอกเบี้ย การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ต้องจ่ายรวมกว่า 2.4 หมื่นล้าน

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ รวมดอกเบี้ยแล้วจะเป็นเงินกว่า 24,131 ล้านบาท โดยเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวคิดเป็นมูลค่ากว่า 11,689 ล้านบาท ทั้งนี้ดอกเบี้ยทุกรายการ คิดในอัตรา 7.5% ต่อปีแบบไม่ทบต้น แต่ระยะเวลาในการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละรายการไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดในคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องร่วมกันปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีคำสั่งให้ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ เคยจ่ายให้การรถไฟฯ 2,850 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 38.75 ล้านบาท โดย 3 รายการดังกล่าวข้างต้นจะต้องจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นอกจากนี้ยังจะต้องคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์อีก 16.53 ล้านบาทให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นเป็นเพียง “เงินต้น” เท่านั้น เพราะเมื่อคำนวณดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีที่ต้องจ่ายเพิ่มด้วย จะพบว่าเงินที่ทางการรถไฟฯ ต้องจ่ายชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ นั้น เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว นั่นคือเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว รวมกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 11,689 ล้านบาทแล้ว ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยจากเงินค่าก่อสร้าง คิดในอัตรา 7.5% ต่อปี โดยในคำพิพากษาให้เริ่มนับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด นั่นคือวันที่ 30 ก.ย. 2551 ดังนั้นแล้วเมื่อนับถึงปัจจุบัน (24 เม.ย. 62) ก็นับเป็นเวลา 10 ปีกับอีก 206 วัน จากเงินต้นค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะเสียดอกเบี้ยทั้งสิ้น 7,130.96 ล้านบาท (9,000 x 7.5% x 10 ปี 206 วัน)

2. ดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ จ่ายให้การรถไฟฯ ไปแล้ว คิดในอัตรา 7.5% ต่อปี โดยเงื่อนไขคือให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ชำระเงินให้กับการรถไฟฯ ในแต่ละงวด แต่เนื่องจากการชำระเงินดังกล่าวแบ่งเป็นหลายสิบงวด และทีมข่าวเวิร์คพอยท์ยังไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าแต่ละงวดจ่ายเป็นเงินเท่าไหร่และวันที่เท่าไหร่ ฉะนั้นแล้วจึงใช้วิธีคำนวณอย่างคร่าวๆ โดยสมมติให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนทั้ง 2,850 ล้านบาทนี้ในวันที่ 19 ม.ค. 2541 ก่อนที่จะมีการยกเลิกสัญญา 1 วัน ผลลัพธ์จากการคำนวณจะเป็นดอกเบี้ยจำนวนต่ำสุดที่เป็นไปได้ (ดอกเบี้ยจริงจะสูงกว่าจำนวนที่คำนวณได้นี้ เนื่องจากการจ่ายจริงทยอยจ่ายก่อนยกเลิกสัญญาหลายปี ดอกเบี้ยย่อมมากขึ้นไปด้วย)

จากเงินต้น 2,850 ล้านบาท เมื่อนับตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา 20 ม.ค. 2541 ก็หมายความว่า การรถไฟฯ ผิดนัดชำระหนี้ก้อนนี้มาแล้วอย่างน้อย 21 ปี 94 วัน คิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมแล้วเฉพาะดอกเบี้ยคิดเป็นเงิน 4,543.79 ล้านบาท (2,850 x 7.5% x 21 ปี 94 วัน)

3. ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน คิดในอัตรา 7.5% ต่อปีเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ว่า ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 5 ปี ฉะนั้นจากเงินต้น 38.75 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีทั้งสิ้น 5 ปี จะเป็นเงินค่าดอกเบี้ยรวม 14.53 ล้านบาท (38.75 x 7.5% x 5 ปี)

ดังนั้นแล้ว เฉพาะดอกเบี้ย 7.5% ที่การรถไฟฯ ต้องจ่ายรวมจากเงินต้น 3 ก้อนดังกล่าว ก็คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,689.28 ล้านบาทแล้ว

และเมื่อคิดรวมทุกรายการ ที่การรถไฟฯ ต้องจ่ายชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ทั้งหมด ถ้าจ่ายในวันนี้ (24 เม.ย. 62) จะต้องจ่ายเป็นเงินอย่างน้อย 24,131 ล้านบาท

และแน่นอนว่าเงินจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกหากยิ่งจ่ายช้า เพราะดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0