โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คุรุปัทมสมภพ พระพุทธเจ้าองค์ที่สองในคติวัชรยาน กับภารกิจทางธรรมในโลกสมัยใหม่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 04.20 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 04.20 น.
1491979458111

พุทธศาสนาทุกฝ่ายมีการยึด “ไตรรัตนะ” หรือที่เราเรียกกันว่า “พระรัตนตรัย” คือแก้วทั้งสาม อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานกล่าวถึง “จตุรรัตนะ” คือ คุรุ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กล่าวคือ เพิ่มคุรุหรือครูทางจิตวิญญาณให้เป็นรัตนะแรกสุด

การให้ความสำคัญแก่คุรุอย่างสูงสุดนี้ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของฝ่ายวัชรยาน มีคำกล่าวว่า หากปราศจากคุรุแล้ว พระรัตนตรัยที่เหลือก็ย่อมไม่เป็นที่รู้จักแก่ศิษย์ คุรุจึงสมควรเป็นรัตนะแรก

นอกจากนี้ ในแง่มุมของวัชรยานเอง คุรุอาจเป็นทั้ง “ผู้เปิดใจ” คือให้ศิษย์ได้มีโอกาสสัมผัส “แวบหนึ่ง” ของธรรมชาติแห่งจิตพุทธะที่ศิษย์มีอยู่แล้วด้วยอุบายวิธีต่างๆ และยังเป็น “จอมก่อกวน” อันดับหนึ่งของจักรวาล คือคุรุจะคอยก่อกวนเรา หากเราแสดงตนว่าสงบสุขหรือก้าวหน้าในทางธรรม (อย่างลวงๆ) คุรุจะฉีกกระ=ากหน้ากากอันจอมปลอมนั้น คุรุจะเฆี่ยนตีเรา ไม่ปล่อยให้เราพะเน้าพะนออัตตาของเราเองไม่ว่าจะด้วยเล่ห์กลแบบใดก็ตาม จนกว่าเราจะบรรลุถึงเป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้คุรุจึงไม่จำเป็นจะต้องน่ารักและใจดีอยู่เสมอ แต่ความกรุณาสามารถแสดงออกด้วยอาการอันเกรี้ยวกราดก็ได้ ทว่าเป็นความเกรี้ยวกราดที่มุ่งหมายจะขจัดอัตตาให้บำราบไป

ด้วยเหตุนี้พระพุทธะในวัชรยานจึงปรากฏปาง “พิโรธ” มีใบหน้าอันดุร้ายแต่แฝงความเมตตา แวดล้อมด้วยเปลวเพลิงแห่งกรุณาอันลุกโชน

 

ในบรรดาคุรุทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดูเหมือนว่า “คุรุปัทมสมภพ” หรือในภาษาทิเบตว่า “คุรุริมโปเช” (ริมโปเชเป็นคำยกย่อง แปลว่ารัตนมณี หรือประเสริฐ) จะได้รับการเคารพอย่างสูงสุดจากพุทธศาสนิกชนฝ่ายวัชรยาน

ชาวทิเบตถึงกับมีคำกล่าวว่า ท่านเป็น “พระพุทธะองค์ที่สอง” เสียด้วยซ้ำ คือเป็นประดุจพระพุทธะสำหรับชาวทิเบตทุกคนนอกจากองค์พระศากยมุนี

ความผูกพันกับคุรุริมโปเชเป็นเรื่องประหลาด ดูเหมือนความผูกพันนี้จะหยั่งลึกลงในใจผู้ที่ได้ฝึกฝนในวิถีแห่งวัชรยานอย่างลึกซึ้งจนยากจะอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด

ผู้ปฏิบัติวัชรธรรมรู้สึกต่อคุรุริมโปเชดุจท่านเป็นบิดา, พี่ชาย, ครูและเพื่อน เป็นผู้ทั้งคอยชี้นำและปกป้อง ช่วยเหลือในยามคับขัน ไม่ว่าจะขึ้นสูงหรือตกต่ำท่านจะอยู่ตรงนั้นเสมอ เพราะนี่เป็นคำสัญญาของท่าน เป็นผู้ขจัดอุปสรรคภายนอกอันได้แก่ภูตผีและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และอุปสรรคภายในอันได้แก่ มิจฉาทิฐิและอัตตาของเรา

ท่านเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันชีวิตของท่านก็โลดโผนราวเทวะในตำนาน และทุกแง่มุมของชีวิตท่านก็สำแดงคำสอนอันลึกซึ้งไว้ด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนปรากฏอยู่ในเส้นทางการปฏิบัติธรรมของทุกคน

 

ความสัมพันธ์อันสดใหม่กับคุรุริมโปเชนี้ จึงทำให้ท่านได้รับการกล่าวขานว่า ท่านยังคงมีชีวิตอยู่เพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์ตราบทุกวันนี้ และยังคงเพ่งมองสัตว์โลกมาจากพุทธเกษตรของท่าน “ตามรบรรพต” หรือภูเขาทองแดงอันรุ่งเรือง

ผมผู้มีปัญญาน้อยจะเล่าเรื่องคุรุริมโปเช ก็ดุจกบเขียดเล่าความกว้างใหญ่ของมหานทีสีทันดร ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยในความโง่เง่าของผมด้วยเถิด

 

คุรุปัทมสมภพ (สันสกฤต ปทฺมสมฺภว) หรือปัทมกร ภาษาทิเบตเรียกว่าเปมาจุงเน ตามตำนานเล่าว่าท่านเกิดในดอกบัวจึงได้ชื่อว่าปัทมสมภพ ณ แคว้นโอฑิยานหรืออุฑฑิยาน (ว่ากันว่าอยู่ในประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ภายหลังกษัตริย์อินทรภูติทรงนำไปเลี้ยงดูเป็นราชโอรส แต่ชีวิตท่านไม่ง่ายนัก ท่านได้ทำให้ภรรยาและบุตรสาวของเสนาบดีตายด้วยอุบัติเหตุจึงถูกขับไล่ออกจากพระราชวัง

ท่านออกบวชเป็นพระภิกษุ หลังจากศึกษาเล่าเรียนเจนจบก็ใช้ชีวิตเยี่ยงโยคีเร่ร่อนจนได้พบคุรุคือท่านศรีสิงหะ ท่านศรีสิงหะได้ทำให้ท่านพบประสบการณ์ทางธรรมที่ลึกซึ้ง (เล่ากันว่าท่านศรีสิงหะได้กลืนปัทมสมภพลงไปและขับถ่ายออกมาโดยที่ยังมีชีวิตอยู่) จากนั้นท่านอยู่ในฐานะ “มหาสิทธา” ไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป

ชีวิตของท่านปรากฏออกมาในแปดแง่มุม เช่น ยุพราชน้อยผู้กำเนิดในดอกบัว ศากยเซงเกหรือพุทธะแห่งวงศ์ศากยะ หรือในปางพิโรธ “ดอร์เจ โทรโล” เพื่อกำจัดมิจฉาทิฐิ ณ ถ้ำทักซังแห่งภูฏาน

แง่มุมเหล่านี้บางครั้งก็เรียกว่า ปางทั้งแปดของคุรุริมโปเช

 

ในเชิงประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่สิบสาม ท่านศานตรักษิตพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาได้รับอาราธนาจากกษัตริย์ตริซง เตเซนแห่งทิเบตเพื่อไปเผยแผ่พุทธศาสนา ทว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะคนทิเบตมีศาสนาของตัวเองคือนับถือเทพเจ้าและภูตผี (ศาสนาเพินเก่า) อยู่แล้ว ทั้งยังดื้อรั้นและดุร้ายป่าเถื่อน

ท่านศานตรักษิตจึงแนะนำให้กษัตริย์อาราธนาคุรุริมโปเชไปยังทิเบต พูดง่ายๆ เพราะท่านเป็น “สายบู๊” น่าจะจัดการได้ง่ายกว่า คุรุริมโปเชจึงไปยังทิเบต ปราบปรามภูตผีให้สยบต่อพุทธศาสนา ปวารณาตัวเองเป็นธรรมบาล และทำให้พุทธศาสนาตั้งมั่นลงได้

ท่านมีชายาหรือคู่ธรรมสององค์ ได้แก่ เยเช โซเกียล ชาวทิเบตและเจ้าหญิงมณฑารพ เมื่อท่านอยู่ในทิเบตได้ระยะหนึ่ง ตำนานเล่าว่า ท่านได้ซุกซ่อนคำสอนหรือธรรมสมบัติ (ทิเบต – เตอร์ม่า) เอาไว้ ด้วยตระหนักว่ายังไม่ถึงเวลาที่คำสอนเหล่านั้นจะแพร่หลาย หากในวันหนึ่งข้างหน้าจะมีผู้เหมาะสมมาค้นพบ

ผู้ค้นพบธรรมสมบัติ (เรียกในภาษาทิเบตว่าเตอร์เติน) มีคุรุหลายองค์ที่มีชื่อเสียง เช่น ดุดจม ริมโปเช, ดิลโกเคียนเซ ริมโปเช หรือแม้แต่ตรุงปะริมโปเช ต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบธรรมสมบัตินี้

ก่อนคุรุริมโปเชจะจากไปสู่พุทธเกษตรของท่าน เชื่อกันว่าท่านได้ให้คำพยากรณ์ดังนี้ “เมื่อนกเหล็กบินอยู่บนท้องฟ้า ชาวทิเบตจะกระจัดกระจายไปดุจมดแตกรัง และพุทธธรรมจะแพร่ไปสู่ดินแดนของคนผิวแดง”

 

ว่ากันว่าคำพยากรณ์นี้แม่นยำนัก เพราะเมื่อ “นกเหล็ก” (เครื่องบิน) จากจีนบุกเข้าไปในทิเบตแล้ว ทิเบตก็แตก ชาวทิเบตกลายเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดโอกาสให้พุทธธรรมไปแพร่หลายในโลกตะวันตก (ดินแดนของคนผิวแดง)

จนกล่าวได้ว่า พุทธธรรมส่วนมากในตะวันตกในปัจจุบันเป็นสายวัชรยาน

เชอเกียม ตรุงปะริมโปเช ให้ข้อเตือนใจที่สำคัญว่า หากเรามองเห็นคุรุริมโปเชแต่เพียงแง่มุมตำนานศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์หรือแง่มุมทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวก็นับว่าเปล่าประโยชน์ เพราะเราจะมัวยึดติดกับภาพลักษณ์เช่นนั้นจนลืมไปว่า เราควรเข้าสัมพันธ์กับ “หลักการ” แห่งคุรุปัทมสมภพได้อย่างไร

“ตัวตนทั้งหมดของเราก่อขึ้นจากปัทมสมภพ ดังนั้น เมื่อเราพยายามที่จะสัมพันธ์กับท่านที่อยู่ภายนอก เป็นตัวบุคคลซึ่งสถิตอยู่ ณ ขุนเขาสีทองแดงบนเกาะอันเปลี่ยวร้างห่างไกลชายฝั่งชมพูทวีป นั่นก็หาได้มีความหมายใดใดไม่”

ข้อความข้างต้นมาจากธรรมบรรยายของตรุงปะริมโปเช ว่าด้วย “ปรีชาญาณบ้า” (Crazy Wisdom) ผ่านตำนานและคุณลักษณ์ทั้งแปดของคุรุปัทมสมภพ

ซึ่งน่ายินดีที่ธรรมบรรยายนี้ได้ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือและแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ “ปรีชาญาณบ้า” โดยคุณพจนา จันทรสันติ ตั้งแต่ปี 2553

 

หลักการแห่งปรีชาญาณบ้าซึ่งคุรุริมโปเชถือครองอยู่นั้น ค่อนข้างมีรายละเอียดซับซ้อนและผมเองยังไม่กระจ่างแจ่มชัด จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ หากท่านสนใจโปรดอ่านหนังสือข้างต้นเองจะดีกว่า

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้วิจักขณ์ พานิช และผมมักนึกถึงคุรุริมโปเชอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่วัชรสิทธารวมทั้งสายธรรมอื่นๆ ทำอยู่นั้น คือสิ่งเดียวกันกับการงานของคุรุริมโปเช เป็นการนำเอา “พุทธธรรม” อันมีชีวิตชีวากลับมาสู่ดินแดนใหม่ (หรือที่จริงคือกลับสู่ดินแดนเดิม เพราะวัชรยานเคยหยั่งรากในสุวรรณภูมิมาก่อน)

เช่นเดียวกับตรุงปะริมโปเช ซึ่งเปรียบเทียบการที่ท่านนำพุทธธรรมไปสู่ตะวันตกเป็นเช่นเดียวกับการที่คุรุริมโปเชนำพุทธธรรมไปสู่ทิเบต

แม้ประเทศเราจะมีพุทธธรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ก่อนหน้าคุรุริมโปเชจะไปทิเบต พุทธธรรมก็มีอยู่ในทิเบตเช่นกัน ทว่ามันขาดชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม

ทั้งนี้ มิได้แปลว่า พุทธธรรมที่มีอยู่แล้วในบ้านเราไม่จริงแท้นะครับ เพียงแต่ทุกวันนี้ ประเพณีพุทธศาสนาหรือองค์กรพุทธศาสนาดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากกว่าพุทธธรรม ผู้คนปฏิบัติประเพณีพิธีกรรมมากกว่าปฏิบัติธรรมที่แท้จริงอันพ้นไปจาก “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”

รวมทั้งสิ่งรุงรังพ้นสมัยทำให้ผู้คนเหินห่างพุทธธรรมไปทุกขณะ

 

วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ (Spiritual Materialism) หมายถึง การใช้รูปแบบ คำสอน ประเพณีทางศาสนามาเป็นอาภรณ์ห่อหุ้มอัตตาของเราโดยไม่รู้ตัว แทนที่พุทธภาวะภายในจะเติบใหญ่ อัตตากลับเติบใหญ่แทน

“ภูตผีปีศาจ” ที่ขัดขวางพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ ดูจะซับซ้อนกว่าภูตผีในสมัยโบราณ เป็นต้นว่า วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ อำนาจนิยม ความเป็นเผด็จการ บริโภคนิยม ความไม่แยแสต่อสังคม สลิ่ม องค์กรอำนาจนิยมเก่าๆ เช่น ทหาร ฯลฯ ล้วนเป็นภูตผีที่พยายามขัดขวางพุทธธรรมที่แท้ทั้งสิ้น เพราะเมื่อแสงแห่งพุทธธรรมที่แท้จริงปรากฏ ภูตผีเหล่านี้ย่อมแพ้พ่ายไป และสังคมอันฉ้อฉลที่ผีสิงอยู่ก็จะสว่างจนผีอยู่ไม่ได้

ด้วยความท้าทายเช่นนี้ เราคงต้องเชิญ “คุรุปัทมสมภพ”

มาเป็นแรงดลใจให้เรา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0