โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี (เจ้าของเพจ Dr. Pam book club หมอแพมชวนอ่าน): ฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว แต่พิษภัยมหาศาลต่อร่างกาย

Mood of the Motherhood

อัพเดต 11 ก.พ. 2562 เวลา 07.18 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2562 เวลา 08.50 น. • INTERVIEW

ปีนี้เราเปิดศักราชต้อนรับปีพุทธศักราช 2562 ด้วยฝุ่นละออง PM 2.5 เจ้าฝุ่นละอองได้ปกคลุมไปยังหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องหันมาใส่หน้ากากเข้าหากันอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกาย  

เพราะค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จึงทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ หมอแพมพญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาช่วยไขข้อข้องใจว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ อย่างไรบ้าง

ฝุ่นที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะมีฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายกับร่างกายหรือไม่

ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป ไม่ได้เป็นอากาศที่บริสุทธิ์ อากาศที่เราหายใจเต็มไปด้วย ก๊าซ ฝุ่นละออง สารเคมี เชื้อโรค ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เราหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเหล่านี้ เข้าไปเท่ากับปริมาตรอากาศที่ใช้บรรจุลูกโป่ง 2,000 - 3,000 ลูกต่อวัน ถ้าร่างกายไม่มีระบบการกรองที่ดี เราจะเจ็บป่วยตลอดเวลา

แต่เฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่แข็งแรงๆ คนหนึ่ง จะเป็นหวัดหรือติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ไม่เกิน 2-3 ครั้งต่อปี เพราะระบบทางเดินหายใจของคนเรามีกระบวนการกำจัดฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่หายใจเข้าไปได้

ร่างกายมีกระบวนการกำจัดฝุ่นละอองเหล่านี้อย่างไร

ร่างกายเรามีกลไกการกำจัดฝุ่นละอองดีมาก ถ้าเป็นฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ไมครอน จะถูกดักจับบริเวณจมูก โพรงหลังจมูก ร่างกายจะหลั่งน้ำมูก มาดักจับ ฝุ่นหรือเชื้อโรคขนาดใหญ่ก็จะตกตะกอน บนเซลล์ทางเดินหายใจก็จะมีขนเล็กๆ พัดโบก เอาขี้มูกเหล่านั้นมาทิ้ง สังเกตว่าถ้าเราเข้าไปในที่ที่ฝุ่นมาก ขี้มูกจะดำ ขากเสมหะออกมาจะเหนียวและมีฝุ่น นี่ก็คือวิธีกำจัดฝุ่นแบบหนึ่งของร่างกาย

แต่ถ้าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนหรือ PM 10 ตกบริเวณหลอดลมปอดส่วนต้น บริเวณนี้ก็ยังมีสารคัดหลั่ง เพื่อดักจับเชื้อโรค และก็ใช้เซลล์ขนพัดโบกดันออกมาทิ้ง ส่งสัญญาณให้สมอง เราก็อยากจะไอ หรือคายเสมหะออกมา

ในกรณี PM 2.5 ฝุ่นมีขนาดเล็ก ฝุ่นก็จะไปตกที่หลอดลมส่วนปลาย และถุงลมปอด ร่างกายก็จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาว เหมือนทหาร ที่ประจำอยู่ในปอด คอยกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่ถ้าได้รับปริมาณมากเซลล์เม็ดเลือดขาวก็อาจจะสู้ไม่ไหว ก็อาจจะตกค้างในร่างกาย

โดยสรุป ถ้าได้รับปริมาณน้อย ร่างกายจะมีวิธีกำจัดได้ค่ะ

ตัวอักษร PM ที่เราเห็นกันตอนนี้คือค่าอะไร

ค่า PM มันคือหน่วยวัดอนุภาคที่ล่องลอยในอากาศ PM คือ อนุภาคที่เป็นมลพิษต่อร่างกาย จริงๆ แล้ว PM เป็นส่วนหนึ่งของการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index (AQI)

AQI ก็คือค่าสมมติที่เราตั้งขึ้นมา เพื่อให้สื่อสารตรงกัน ว่าตอนนี้อากาศที่เราหายใจมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน AQI ก็จะวัดระดับของก๊าซพิษที่ส่งผลต่อร่างกาย อย่างเช่น ก๊าซโอโซนที่ระดับผิวโลก ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซค์

และ PM ก็คือ particulate pollution ขนาดของฝุ่นที่จะเข้าไปในปอด ก็จะมีขนาดน้อยกว่า 10 ไมครอนเป็นต้นไป ก็จะแยกเป็น 2 ค่าคือ PM 10 และ PM 2.5 อย่างที่เราได้ยินกัน

ฝุ่นที่เจอในชีวิตประจำวัน ก็มีขนาดที่หลากหลาย มันก็มี PM 2.5 ปนเปื้อนอยู่มาตลอด แต่มีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่ร่างกายรับมือไหว เขามีการแยก PM 10 และ PM 2.5 เพราะฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จะไปตกที่หลอดลมขนาดเล็กและถุงลมปอด ซึ่งลักษณะของเซลล์บริเวณถุงลมปอด ต้องทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ผนังจะบางมากและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงตลอดเวลา ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากๆ จะดูดซึมเข้าร่างกาย ที่ไม่ดูดซึม ก็อาจสะสมหรือสร้างความเสียหายใจกับเนื้อเยื่อปอด

ค่า PM 10 และ PM 2.5 เป็นค่าที่มนุษย์ตั้งขึ้นมา เพราะส่วนใหญ่ฝุ่นละอองเหล่านี้ เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ปอดเราวิวัฒนาการมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ปรับตัวไม่ทันกับมลภาวะที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง จึงเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีคนเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจกันมากขึ้น

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาวอย่างไรบ้าง

ในระยะสั้น กลุ่มคนทั่วไปที่แข็งแรงอาจจะเห็นไม่ชัด แล้วแต่ระดับของการหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ที่เห็นอากาศครึ้มๆ มัวๆ ไม่ได้มีแต่ฝุ่น PM 2.5 เพียงอย่างเดียวนะคะ มีทั้งฝุ่นละอองขนาดใหญ่ มีทั้ง PM 10 และ PM 2.5 คือ อากาศมันนิ่ง ฝุ่นสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ไม่ได้กระจายไปไหนเลย ทุกคนหายใจเข้าไปก็ได้รับผลกระทบต่อร่างกายไม่มากก็น้อย เพราะร่างกายก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อกำจัดฝุ่นละอองเหล่านี้

แต่กลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มคนที่มีโรคปอด โรคหัวใจ คนที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี ก็จะมีความเจ็บป่วยถึงระดับที่เข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ไม่ต้องมองไกล คนไข้เด็กของหมอที่เป็นโรคหอบหืด จับหืด (Acute asthmatic attack) ต้องมาแอดมิตหลายรายแล้ว

ส่วนผลในระยะยาว ไม่เคยมีการสำรวจในประเทศไทย แต่มีงานวิจัยหลายงานในต่างประเทศ ที่พบมากก็จะเป็นผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท แต่มันยากที่จะระบุได้ชัดว่าต้องระดับไหน สูดดมไปเท่าไรถึงจะมีผล

ส่วนเรื่องการสะสมแล้วเกิดมะเร็งหรือไม่ ที่หมอไปอ่านเพิ่มเติมมา มีรายงานเพียงว่า การสูดดม PM 2.5 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ เขาก็เลยมีการตั้งสมมติฐานกันว่าถ้าเราได้รับมากๆ ก็อาจทำให้เซลล์ร่างกายพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่จะยืนยันว่า เกิดจาก PM 2.5 อย่างเดียวคงยาก เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระยะเวลา ปริมาณที่ได้รับ เพศ อายุ มันมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง

แต่หมอสรุปอย่างนี้ การได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย ไม่ดีแน่นอน แต่เราก็ป้องกันตัวเองด้วยการทำตัวเองให้แข็งแรง ในช่วงที่มีประกาศเตือนว่าระดับ PM 2.5 สูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ใส่หน้ากากป้องกัน

ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อทุกช่วงวัยเหมือนกันหรือไม่

มีผลเสียต่อทุกช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกวัย แต่คนที่มีความเสี่ยงเช่น ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ควรระวังมากเป็นพิเศษ

อันตรายของฝุ่น PM 2.5 กับหญิงตั้งครรภ์

เราไม่สามารถระบุได้ว่า หญิงตั้งครรภ์ทุกคนในช่วงนี้ คลอดลูกแล้วทารกจะไม่แข็งแรง อย่างที่บอกคือต้องดูว่า ได้รับมากน้อยแค่ไหน ตอนที่ได้รับ อายุครรภ์เท่าไร แต่โดยปรกติ ถ้าได้รับตอนอายุครรภ์น้อยและถ้าได้รับตลอดการตั้งครรภ์ ก็ต้องมีผลมากกว่า

เท่าที่ไปหาข้อมูลมาได้ อ้างอิงจากงานวิจัยของประเทศแคนาดา เขาศึกษาและสรุปว่า ทุกการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5  10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะทำให้เด็กในครรภ์เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ในอายุครรภ์นั้นๆ เพิ่มขึ้น 1.2 เท่า ในประเทศอเมริกาก็ได้ผลการศึกษาคล้ายกัน แต่จากข้อมูลเท่าที่ค้นคว้ามา เขายังไม่เขียนถึงการที่ทารกในครรภ์พิการ หรือเขียนถึงผลในแง่พัฒนาการด้านสมอง

อาการของเด็กที่ได้รับ PM 2.5 มากเกินไป พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่าควรพาลูกมาหาหมอ

PM 2.5 ที่เรากลัวกัน คือจะส่งผลในระยะยาว เพราะอนุภาคเล็กมากจนกระทั่งดูดซึมเข้าร่างกาย หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ ผลระยะสั้น ถ้าตัดความ Social Panic ออกไป ก็จะเกิดในคนกลุ่มเสี่ยงมากกว่า เช่น คนไข้โรคปอด โรคหัวใจ เพราะคนกลุ่มนี้ กลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่ฝุ่นละอองในขณะนี้ ไม่ได้มีแต่ PM 2.5 ก็มีเชื้อโรค มีฝุ่นขนาดใหญ่ มีก๊าซที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจ รู้จักป้องกัน เราจะได้ไม่วิตกกังวลเกินเหตุ  เด็กหลายคนเจ็บป่วย ก็ไม่ได้เกิดจาก PM2.5 ไปซะทุกคน

การสังเกตก็เหมือนกับการดูแลที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่แล้ว ถ้าลูกมีอาการเจ็บป่วย ที่ให้การปฐมพยาบาลที่บ้านแล้วไม่ดีขึ้น ก็พามาพบแพทย์ได้ค่ะ

วิธีป้องกันสำหรับเด็กๆ

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้เด็กๆ ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็งดกิจกรรมกลางแจ้ง แทนที่จะไปเล่นข้างนอก ก็อาจจะชวนกันเล่นในบ้าน

เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศที่มี HEPA filter ก็พอจะลดปริมาณ PM 2.5 ได้แต่ก็ต้องเป็นเครื่องที่ได้รับการดูแลดูแลและซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอนะคะ

ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ช่วงสั้นๆ หลักนาที ก็ไม่ต้องวิตกกังวลมากนักนะคะ มันไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น อย่ากังวล จนกลายเป็นความตึงเครียด อาจจะให้ลูกใส่หน้ากากอนามัยที่ไซซ์เหมาะกับเด็ก ซ้อนกันสองชั้น เพราะเท่าที่รู้ N95 ที่พอดีสำหรับเด็กอาจจะหายากสักหน่อย แต่ถ้ามี และลูกใส่ได้ถูกวิธี ก็จะดีที่สุด

เอาเป็นว่า หลีกเลี่ยงดีกว่า ถ้าต้องออกกลางแจ้ง ใส่หน้ากากอย่างถูกวิธีดีที่สุด

สำหรับเด็กๆ ที่ต้องไปเรียนในพื้นที่อันตราย โรงเรียนควรดูแลเด็กอย่างไร

มีคำแนะนำจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ถ้าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูงกว่า 150 ก็คือให้เปิดเรียนเท่าที่จำเป็น แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าสูงกว่า 200 แนะนำให้ปิดโรงเรียนไปจนกว่าค่า PM 2.5 จะลดลง

สำหรับพ่อแม่ ถ้าเราติดตาม และคิดว่าโรงเรียนลูกอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่โรงเรียนไม่ได้ดำเนินมาตรการตามคำแนะนำ ก็เป็นวิจารณญาณของพ่อแม่ ว่าจะให้ลูกหยุดเรียนหรือไม่

สัมภาษณ์วันที่ 17 มกราคม 2562

พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0