โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับ นพดล สุเนต์ตา นักธุรกิจสายระห่ำ เริ่มธุรกิจโรงแรมด้วยเงินหลักหมื่น!

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 12.33 น. • BLT Bangkok
คุยกับ นพดล สุเนต์ตา นักธุรกิจสายระห่ำ เริ่มธุรกิจโรงแรมด้วยเงินหลักหมื่น!

‘นพดล สุเนต์ตา’ นักธุรกิจสู้ชีวิตที่ไม่ยอมศิโรราบให้กับปัญหาใด จากเคยทำธุรกิจล้มมาหลายครั้ง กลับลุกขึ้นสู้ รวบรวมต้นทุนทางสติปัญญา กำเงินไม่กี่หมื่นบาท สร้างโรงแรม‘สุเนต์ตา’ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วเมืองเชียงคาน จ.เลย โดยที่มาที่ไปที่ทำให้เขาเจอลู่ทางของตัวเอง เกิดขึ้นจากการพลิกหนังสืออ่าน(ในห้องน้ำ) แล้วพบกับคำว่า“เชียงคาน เมืองที่เวลาเดินช้า” กลายเป็นวลีสะกิดใจให้เขาต้องพาตัวเองไปเที่ยวกับน้องชาย และเกิดตกหลุมรักบรรยากาศที่นั่นตั้งแต่แรกเห็น บวกกับมีความฝันอยากทำธุรกิจที่พักอยู่แล้ว จึงตัดสินใจทำตามสิ่งที่ใจเพรียกหาทันที

เริ่มต้นด้วยเงินหลักหมื่น

“หลังจากตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจที่พักที่เชียงคาน ตอนนั้นเราก็ตระเวนดูบ้าน พอมาเจอบ้านไม้ริมแม่น้ำโขงหลังหนึ่งที่ปล่อยร้างมานานก็เกิดชอบ แต่ตอนนั้นคือทั้งเนื้อทั้งตัวผมมีเงินแค่ไม่กี่หมื่น จึงใช้วิธีขอเช่าเจ้าของบ้านแบบเป็นรายปี เพื่อเปิดเป็นโรงแรม มีการเจรจาต่อลองพูดคุยประนีประนอมในการจ่ายเงินนิดหน่อย(หัวเราะ) ซึ่งช่วงนั้นในปี พ.ศ. 2552 เชียงคาน ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ข้าวของทุกอย่างก็ถูก ค่าแรงช่างก็ไม่แพง บวกกับผมเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมมาก็พอจะมีวิชาเรื่องนี้อยู่บ้าง เราจึงทำโรงแรมภายใต้งบจำกัดและต้นทุนความคิดที่มีอยู่ครับ”

แนวคิดในการออกแบบ

“ผมออกแบบที่นี่ให้เกาะไปกับสภาพแวดล้อมของเมือง เก็บสภาพบ้านเดิมไว้ เปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุดไม่ได้ฉีกอะไรมาก เพราะไม่มีเงิน(หัวเราะลั่น) แต่จะเน้นความปลอดโปร่ง จากเดิมลักษณะเป็นบ้านทึบผมก็ตัดโถงตรงกลางออกให้มองเห็นแม่น้ำ เพราะจุดขายของที่นี่คือแม่น้ำโขง รวมถึงรื้อหลังคาที่รั่วและผุเป็นสนิมออก เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องโทนสีเทาและขาว เพื่อไม่ให้โดดไปจากเดิมมากนัก พวกไม้เก่าบางอย่างก็รื้อ และนำมาดัดแปลงใช้เป็นของตกแต่งที่พัก บรรยากาศจะคล้ายๆLiving Museum คือประดับประดาด้วยทีวีเก่า ถ่านไฟฉายตากบ อารมณ์ถอยร่นไปอีกพุทธศักราชหนึ่ง คือผมมองว่าการเปิดโรงแรมไม่ใช่ทำแต่ที่พักเท่านั้น นอกเหนือจากความสะดวกสบายแล้ว เราต้องมีเรื่องของบรรยากาศ ส่งมอบเป็นประสบกาณ์ดีดีให้แก่ลูกค้าด้วย ซึ่งพอทำเสร็จมีคนชอบเยอะ เริ่มเป็นที่รู้จัก ปี2555 ผมจึงเริ่มขยายกิจการ เปิดอีกสาขาที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ ในรูปแบบโฮสเทลสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มแบ็คแพ็คเกอร์ และปี2560 เปิดสาขาที่เชียงใหม่ ลักษณะเป็นลูกผสมกึ่งโรงแรมและกึ่งโฮสเทล มีทั้งห้องนอนเดี่ยว และห้องนอนรวม”

แนวคิดตะกร้าหลายใบ!

“ดังนั้นเท่ากับว่าผมจะมีรายได้จากหลากหลายแหล่ง ทั้งคนไทยและต่างชาติ คือผมทำธุระกิจไม่ได้ไข่ไว้ใส่ตะกร้าใบเดียวไง ผมยังมีตะกร้าอีกหลายใบ ไม่มีเงินทางนี้ผมก็ไปทางโน้น ซึ่งโรงแรม‘สุเนต์ตา’ แต่ละที่ก็จะมีกลุ่มลูกค้าต่างกันไป ที่เชียงคาน มักจะได้ลูกค้าในช่วงไฮซีซั่น ช่วงเวลาวันหยุดเทศกาล ดังนั้นถ้าอยากได้ลูกค้าทั้งปี ผมก็ต้องหันมาเปิดสาขาที่2 ที่3 เพื่อให้เกิดมีรายได้เข้ามาจากหลายๆ ทาง”

การจัดการชีวิตและธุรกิจในช่วงล็อคดาวน์

“ส่วนช่วงถูกสั่งปิดโรงแรมชั่วคราวเพราะวิกฤตโควิด-19 ดีนะที่ผมรู้ตัวทัน คิดหาทางออกได้เร็วภายในเวลา20 นาที(หัวเราะ) ตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เพราะเรามีญาติทำฟาร์มสุกรที่นั่น จึงหาวิธีในการต่อยอดกิจการโดยนำวัตถุดิบที่มีมาทำแคบหมู, หมูกระจก, ไส้อั่ว และน้ำพริกหมูก๊องขายผ่านออนไลน์ เพื่อรักษาธุรกิจและพนักงานไว้ เพราะผมไม่ได้เลย์ออฟหรือลดเงินใครเลยเนี่ย กลุ๊ม…กลุ้ม(หัวเราะ) และต้องพยายามหาเงินมาจ่ายพนักงานทุกเดือน เดิมทีกะทำผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นของฝากวางขายในโรงแรมอยู่แล้ว โดยมีแผนลงมือปลายปีนี้ พอโควิด-19 ระบาด จึงเลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น เพื่อให้เกิดรายได้มาจุนเจือรายจ่ายที่มีอยู่

คือไม่ได้ทำให้เรามีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เพราะผมคิดว่าการทำธุรกิจต้องใช้เวลาสะสมยอด สะสมลูกค้า แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เงินเราไหลออกช้าหน่อย มีเวลาในการปรับกลยุทธทางธุรกิจมากขึ้น คือทุกคนเดือดร้อนหมดล่ะครับ แต่การเลย์ออฟพนักงาน ไม่ใช่ทางที่ผมเลือก ผมชอบเลือกทางที่มันย๊าก… ยาก ไม่รู้ทำไม(หัวเราะ)”

มาตรการป้องกันCovid-19 และแผนการต่อไป

“หลังจากมีประกาศปลดล็อค ผมก็เริ่มเดินหน้าเปิดโรงแรมสุเนต์ตาที่เชียงคาน ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่าง โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ เดิมจาก6 ห้อง คำนวณพื้นที่/ตร.ม. แล้วเหลือแค่4 ห้อง รับลูกค้าได้ประมาณ10 คน ส่วนผู้ที่จะเข้าพักต้องผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลมาก่อน เพราะผู้ประกอบการต้องนำใบรับรองแพทย์ส่งให้สาธารณสุขอำเภอ จากนั้นจะมีอาสาสมัครมาตรวจวัดไข้ พร้อมลงบันทึกประวัติการเดินทางถึงจะได้เข้าพัก เมื่ออยู่นอกห้องพักก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย ที่นี่จะมีเจลล้างมือตั้งไว้ตามจุดต่างๆ รวมถึงมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อวันละ3-4 ครั้งครับ สำหรับสาขาที่เชียงใหม่ ผมกำลังปรับปรุงให้เป็นรูปแบบโรงแรมต่อไปจะไม่มีห้องนอนรวมแบบ8 และ16 คนอีกแล้ว ส่วนที่สาขาถนนข้าวสาร ต้องปิดตัวครับ เพราะที่นี่เป็นโฮสเทล มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ปรับเปลี่ยนต้องใช้เงินเยอะ ต่อไปถ้าถนนคนเดิน(ที่เชียงคาน) กลับมาเปิด ผมก็จะเอาผลิตภัณฑ์พวกแคบหมู ไส้อั่ว ไปวางขาย และหากสภาพการท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น ก็จะนำไปวางที่โรงแรมด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางในการขายให้มากขึ้น”

ความปกติใหม่(New Normal) ของธุรกิจโรงแรมท้องถิ่น

“จากนี้ไปผมคิดว่าที่พักที่เป็นโฮสเทล ไม่น่าอยู่รอด เนื่องจากโฮสเทลเป็นสถานที่ที่มัก นำอาคารขนาดเล็กไร้ประโยชน์มาดัดแปลงเป็นธุรกิจที่พัก ซึ่งต้องออกแบบพื้นที่ใช้สอย/ตร.ม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นห้องนอนรวมคือสถานที่อันตราย คนจะไม่เลือก จนกว่าจะมียารักษาโรคนี้ เมื่อไม่รู้ว่าจะมียารักษาโรคนี้เมื่อไหร่ ผมก็แทงไปเลยละกันว่ามันหมดอนาคตแล้ว ถ้าใครพึ่งพารายได้จากธุรกิจโฮสเทลทางเดียวก็จบ ผมถึงบอกเราต้องมีตะกร้าหลายใบ บริษัททัวร์ หรืออาชีพไกด์ที่ต้องพึ่งพานักธุรกิจต่างชาติเช่นกัน พวกนี้จะแย่มาก แย่ไปอีกหนึ่งปี ผมเชื่อว่าในอีก2-3 เดือน ต้องมีธุรกิจเกินครึ่งปิดตัวถาวร ปิดแบบไม่สามารถกลับมาเลย ที่เหลือก็ประคับประคอง หรือไม่ก็เปลี่ยนมือเจ้าของ ส่วนพฤติกรรมคลุกคลีคุ้นเคย บรรยากาศสนุกสนานผู้ค้นมานั่งแฮงค์เอ๊าท์กันในโรงแรมจะหายไป เพราะรูปแบบของสเปซการใช้งาน พื้นที่ใช้สอย ความห่างจะเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แน่พื้นที่ส่วนกลางในโรงแรมก็อาจถูกยกเลิก เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เราจะอยู่กันแบบหลวมๆ หากโรงแรมใดสเปซเล็กก็จบ อยู่ไม่ได้ เพราะต้องปรับสเปซให้มันเหมาะสมกับการใช้งานในยุคหลังโควิด-19 นั่นเอง”

และนี่คือบทสัมภาษณ์ นพดล สุเนต์ตา นักธุรกิจที่มีแนวคิดไม่เหมือนใคร เขาบอกกับทางBLT ว่า… ตัวเองไม่ได้เป็นคนโลกสวย ทุกวิกฤตเขาต้องตั้งรับและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แต่เรามองว่า… เขาคือผู้ชายอารมณ์ดีที่มองโลกกว้าง มีจิตวิญญาณของผู้นำ นักสู้ นักคิด ที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างสุดซึ้ง

CONTACT:

SUNETA HOSTEL

www.suneta.net

FB: Suneta Hostel Chiang Khan - สุเนต์ตา โฮสเทล เชียงคาน

Mobile: 086-999-9218

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0