โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คุมCOVID-19มาถูกทาง! ศิริราชย้ำ อยู่บ้าน-ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด

TNN ช่อง16

อัพเดต 31 มี.ค. 2563 เวลา 04.38 น. • เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 04.38 น. • TNN Thailand
คุมCOVID-19มาถูกทาง! ศิริราชย้ำ อยู่บ้าน-ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด
ศิริราชเผยข้อมูลละเอียดอัพเดทรอบสัปดาห์ ไทยยังอยู่กึ่งกลางระหว่าง ประเทศที่คุมการระบาดได้ไม่ดี และประเทศที่คุมได้ดี กทม. เชียงใหม่ อุบลฯ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอดผู้ติดเชื้อมาก ะย้ำว่าการอยู่บ้านให้มากที่สุด และออกจากบ้านให้น้อยที่สุด

วันนี้ (31 มี.ค.63) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่เฟซบุ๊ก IPTV Mahidol University, Mahidol Channel และ Siriraj Channel ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล updates สถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาด ตลอดจนข้อแนะนำและการปฏิบัติสำหรับประชาชน เพื่อรับมือ COVID-19 

"สวัสดีครับ ชาวศิริราชและชาวมหิดลทุกท่าน ก็เป็นการติดตามความก้าวหน้าของเรื่องที่เราได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ของโควิดไป เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ผมขอเริ่มที่อย่างนี้ก่อนนะครับ หากเราจำกันได้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นั้น เราได้เน้นจุดการเปลี่ยนของจำนวนผู้ติดเชื้อจาก 100 เป็น 200 คน เราได้พล็อตกราฟ จัดแบ่งประเทศในโลกนี้ กลุ่มประเทศที่ดูจะคุมโควิดไม่ค่อยอยู่ กับประเทศที่คุมโควิดได้ค่อนข้างดี แล้วเราก็มาดูว่าประเทศไทยจะอยู่ในแนวไหน"

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า หากจำกันได้ คราวนั้นเราได้ประมาณการณ์ว่า สถานการณ์ที่แย่ที่สุด หากเราไม่ทำอะไรเลย กราฟผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 33% สิ่งที่เราต้องการคือ พยายามดึงให้ลงมาเหลือประมาณ 20% คือ 32.7 เคสต่อวัน นั่นจะทำให้มั่นใจได้ว่า หากมีคนไข้หนักจริงๆ ยังอยู่ในความสามารถของศักยภาพ ของการดูแลระบบสุขภาพของไทย ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

"เพราะฉะนั้น นี่คือเป้าหมาย ของคราวที่แล้ว คือการกดเคิร์ฟ ทีนี้ มาดูกันว่าสัปดาห์นี้มีอะไรบ้าง ในสัปดาห์นี้ ถ้าคุณผู้ชมทุกท่านนึกออก มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นระลอก โดยรัฐบาล โดยส่วนท้องถิ่น จังหวัดรวมไปถึงภาคเอกชนต่างๆ หลายแห่งที่มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะมาตรฐานต่างๆ ที่ออกมา มันทำให้เราเห็นภาพ สไลด์วันนี้เป็นภาพจริง ไม่ใช่เป็นภาพที่คาดการณ์อีกแล้ว เป็นตัวเลขจริงที่เราติดตามทุกวัน ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ข้อมูลนี้มา และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้ เรามีกลุ่มประเทศที่คุมควบคุมโควิดไม่ค่อยดีนัก เป็นประเทศใหม่ๆ แล้วก็มีประเทศที่ควบคุมดีอยู่ 3 ประเทศ กราฟของเราเกือบจะทับอยู่กับกราฟของมาเลเซีย"

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ล่าสุด (30 มี.ค.63) เรามีผู้ติดเชื้อ 1,524 คน เพิ่มขึ้น 136 ราย แนวโน้มของประเทศไทย อยู่ระหว่าง "กลุ่มที่ควบคุมไม่ได้" และ "กลุ่มที่ควบคุมได้"

"จากกราฟกลุ่มผู้ติดเชื้อสะสมในกลุ่มประเทศอาเซียน จะเห็นได้ว่า มาเลยเซียค่อนข้างชันกว่าไทย เพราะขณะนี้มาเลเซียมีผู้เสียชีวิต 37 ราย ส่วนของประเทศไทย ข้อมูล ณ เช้าวันนี้ (31 มี.ค.63) อยู่ที่ 10 ราย ในกลุ่มอาเซียน ก็มีบางประเทศที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนเวียดนาม ตามสถิติกราฟ การที่จะสถานการณ์พลิกมาเป็นติดเชื้อเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว มีค่อนข้างไม่มากนัก หลังจากวันที่ 23 มีนาคม ที่เราได้สื่อออกไป มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้คนเคลื่อนที่ออกจากกรุงเทพฯ ออกไป ส่วนภูมิภาค เราพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกสุด ที่จำนวนสัดส่วนของคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด เริ่มกลับสัดส่วนกัน ต่างจังหวัดเยอะกว่ากรุงเทพฯ หลังจากนั้น ต่างจังหวัดก็ค่อยๆ ลดลง และกรุงเทพฯ ก็กลับขึ้นมาใหม่ ตอนนี้ ถ้าเราเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ จากเดิมกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด ตอนนี้ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ แต่ตัวเลขก็ใกล้ๆ กัน คือประมาณ 50/50 แปลว่าเรามีผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ในกรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่ง และต่างจังหวัดครึ่งหนึ่ง"

สำหรับสัดส่วนของผู้ป่วยในแต่ละจังหวัด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ที่มีจำนวนมากคือที่จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี และจังหวัดทางภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพฯ ที่มีผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย เราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเรามีมาตรการหลายอย่างที่ออกโดยรัฐบาลและจังหวัดและกทม.และความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นยังสามารถอยู่ในศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขจะดูแลได้ แม้ว่าจากเส้นกราฟต่างๆ อาจทำให้สบายใจขึ้นได้ว่าอาจจะไม่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ด้านหนึ่งก็ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นอยู่ เราจึงเป็นห่วงว่าทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพอาจจะทำให้เกิดความขาดแคลนได้ หากเรามีคนไข้หนักมากขึ้นเมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเกินศักยภาพ

“ดังนั้น สิ่งที่คนไทยทุกคนช่วยกันทำได้ คือ ช่วยกันลดจำนวนคนไข้ เพื่อให้ศักยภาพระบบสาธารณสุขที่มีอยู่จะสามารถดูแลได้ โดยวิธีการที่จะช่วยกันลดคนไข้ได้ คือ การอยู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไปรับเชื้อหรือแพร่เชื้อ การออกจากบ้านเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ต้องมีการเว้นระยะห่าง 2 เมตรและใส่หน้ากากเพื่องดรับการรับละอองต่างๆ และใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด” 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวสรุปว่า ถ้าช่วยกันคนไข้จะน้อยลงแม้คนไข้อาจจะไม่น้อยลงทันทีก็ตาม ซึ่งถ้าเรามีการสกัดได้ดีพอ เชื่อว่าคนไข้จะลดลง และระบบบริการสุขภาพของไทยจะเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด 19ทุกคน ที่สำคัญ ขอให้ปฏิบัติมาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างจริงจัง และชวนผู้รู้จักเพื่อนฝูงให้ร่วมดำเนินการตามข้อเสนอแนะและมาตรการต่างๆ อย่ารอจนต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด"

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0