โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณเลือกได้ว่าจะทุกข์หรือไม่ - นิ้วกลม

THINK TODAY

อัพเดต 03 ส.ค. 2561 เวลา 09.24 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2561 เวลา 05.37 น. • นิ้วกลม

เมื่ออาร์ชบิชอป เดสมอนด์ ตูตูเอ่ยถามทะไลลามะว่า “ท่านลี้ภัยมานาน จากบ้านเมืองที่ท่านรักมาตั้งห้าสิบหกปี ทำไมท่านจึงไม่มีวี่แววของความหม่นหมองหรือความเศร้าเลย”

ทะไลลามะกุมมืออารช์บิชอปไว้ขณะใคร่ครวญและนึกย้อนไปถึงเรื่องราวอันน่าเจ็บปวด

ขณะอายุเพียงสิบห้าปี ท่านต้องเป็นผู้ปกครองประชาชนหกล้านคน ปี ค.ศ. 1950 จีนเข้ารุกรานทิเบต ทำให้ท่านต้องหลบหนี ฝ่าฟันทั้งพายุทรายและพายุหิมะ ปีนป่ายไปตามยอดเขาสูงตลอดช่วงเวลาเกือบเดือนของการหลบหนี จากชีวิตความเป็นอยู่อันแสนสุขสบายในพระราชวังโปตาลาซึ่งมีห้องนับพัน ต้องระกระเหเร่ร่อนกลายเป็นผู้ไร้ที่พักอาศัย กระทั่งไร้แผ่นดินอันเป็นบ้านของตนเอง

ท่านตอบคำถามของอาร์ชบิชอปว่า “ฉันมีการปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งได้มาจากท่านศานติเทวะ-คุรุชาวอินเดียสมัยโบราณ ท่านสอนว่าเมื่อเธอเผชิญสถานการณ์เลวร้าย ให้พิจารณามัน หากไม่มีหนทางใดที่จะเอาชนะเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวิตกทุกข์ร้อนให้มากนัก ฉันจึงปฏิบัติแบบนั้น”

ท่านศานติเทวะมีคำสอนว่า "หากมีหนทางใดที่จัดการกับสถานการณ์นั้นได้ จะเศร้าโศกไปทำไม และหากไม่มีหนทางใดที่จัดการกับสถานการณ์นั้นได้ จะเศร้าโศกไปเพื่ออะไร"

ทั้งสองทางไม่มีเหตุผลให้ต้องวิตก

แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อย

ทะไลลามะยังแนะนำวิธีลดความกังวลของตัวเองด้วยการมองให้กว้างขึ้น “เวลาเห็นแค่เรื่องของเรา เราก็เป็นกังวล แต่เมื่อฉันมองผู้คนในโลกซึ่งมีปัญหาและความทุกข์มากมายไปหมด เมื่อเรามองเห็นสิ่งเหล่านี้ เราจะตระหนักว่าไม่ได้มีแค่เราที่มีความทุกข์ แต่พี่น้องร่วมโลกของเราอีกมากมายก็มีความทุกข์เหมือนกัน เมื่อเรามองเหตุการณ์เดียวกันจากมุมมองที่กว้างขึ้น เราก็จะลดความวิตกกังวลและความทุกข์ของตัวเองลง”

นี่คือการเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความเมตตา

เมื่อหมกมุ่นเรื่องตัวเอง เราจะโกรธ เมื่อเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นเพื่อสัมผัสทุกข์ของผู้อื่น เราจะเมตตา

ข้อที่น่าสังเกตคือท่านทะไลลามะมิได้ “เปรียบเทียบ” ความแตกต่างระหว่างความทุกข์ของตัวเองกับผู้อื่น แต่ท่าน “ผสาน” ความทุกข์ของตัวเองเข้ากับความทุกข์ของคนอื่น รู้สึกร่วมในความทุกข์นั้น

นี่คือความสวยงามของหัวใจมนุษย์ ที่สามารถสัมผัสรับรู้ความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ด้วยประสบการณ์ทุกข์ของตนเอง และเมื่อแผ่อาณาเขตและมุมมองให้กว้างขึ้น ตัวเราเองย่อมได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของสถานการณ์นั้นเพิ่มเติม

“เหตุการณ์ใดก็แล้วแต่ ล้วนมีมุมมองที่ต่างกันหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น เราสูญเสียประเทศของเราและกลายเป็นผู้ลี้ภัย แต่ประสบการณ์เดียวกันนี้กลับมอบโอกาสใหม่ให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น ฉันมีโอกาสได้พบผู้คนต่างๆ มากขึ้น ได้พบผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณหลายคน นักวิทยาศาสตร์มากมาย โอกาสใหม่นี้เข้ามาเมื่อฉันกลายเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าฉันยังอยู่ในโปตาลาที่ลาซา ฉันก็คงเหมือนอยู่ในกรงทอง เป็นลามะ เป็นทะไลลามะผู้ศักดิ์สิทธิ์”

ท่านยังบอกอีกว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ฉันจึงชอบช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมาของชีวิตการเป็นผู้ลี้ภัยมากกว่า เพราะมันมีประโยชน์มากกว่า มีโอกาสได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า นั่นคือเหตุผลที่ฉันไม่หม่นหมอง มีภาษิตทิเบตที่บอกว่า ‘ที่ไหนก็ตามที่เธอมีเพื่อน ที่นั่นคือประเทศของเธอ และที่ใดก็ตามที่เธอได้รับความรัก ที่นั่นก็คือบ้านของเธอ’

ความทุกข์ความผิดหวังย่อมเกิดขึ้นในชีวิตเป็นธรรมดา คำถามไม่ใช่ว่าเราจะหนีจากมันได้อย่างไร แต่เป็น ฉันจะใช้มันในทางบวกได้อย่างไร

เช่นนี้เองที่ครูบาอาจารย์บอกกันว่า “ความเจ็บปวดเป็นสิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ความทุกข์เป็นสิ่งที่เลือกได้”

เมื่อได้รับรู้เรื่องราวอันน่าเจ็บปวดรวมถึงคำตอบที่อ่อนโยนสวยงามของท่านทะไลลามะ ผมคิดกับตัวเองว่าเรื่องราวทุกข์ใจที่ตนเองพบเจอเมื่อเทียบกับสิ่งที่ท่านเผชิญนั้นช่างเหมือนธุลีเล็กจิ๋ว แทนที่จะโอดครวญรวดร้าวระบมวนเวียน กลับควรขยายมุมมองออก มองเห็นเพื่อนร่วมทุกข์ และมองเห็นอีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์เลวร้ายนั้นว่ามันได้มอบแง่มุมที่สวยงามกับชีวิตในก้าวต่อไปอย่างไรบ้าง

เหตุการณ์เลวร้ายอาจทำให้บางคนเป็นแผลในใจ อาจทำให้บางคนเกลียด กลัว และกลายเป็นคนที่โหดร้ายอัปลักษณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื้อแท้ของมนุษย์เรามีศักยภาพที่จะฟื้นฟูเยียวยาหัวใจตัวเองขึ้นมาจากเหตุการณ์ย่ำแย่เหล่านั้น กลับคืนสู่ความสวยงามต่อตัวเองและผู้อื่นอีกครั้งได้เสมอ

ไม่หลีกหนีทุกข์ มองเห็นอีกด้านของความทุกข์

ใบหน้าแจ่มใส เบิกบาน และมีเมตตาเสมอของท่านทะไลลามะไม่มีวี่แววของผู้ที่ผ่านเรื่องเลวร้ายครั้งใหญ่ในชีวิตมาเลยแม้แต่น้อย ไม่มีหรอกกระมัง ผู้ที่ไม่เคยพบเรื่องเลวร้าย คนที่เราเห็นใบหน้าของเขาผ่องใสเบิกบานเป็นผู้ผ่านเรื่องร้ายแต่ได้เลือกแล้วว่า-ฉันจะไม่เป็นทุกข์

ใช่, เราเลือกได้ว่าจะทุกข์หรือไม่

เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้น หากมีสติ เราจะพลิกเจออีกด้านของเหตุการณ์เดียวกันนั้น

ด้านที่ตรงข้ามกับ "ทุกข์" คือ "สุข" ที่รอให้เราพลิกไปเจอ

เขียนและเรียบเรียงจากการอ่าน “The Book of Joy” โดยองค์ทะไลลามะ, อาร์ชบิชอป เดสมอนด์ ตูตู และดักลาส เอบรัมส์ แปลโดย ธีรา สนพ.อมรินทร์ธรรมะ ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ มีหลายแง่มุมที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อชีวิตที่เบิกบานได้ เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาลึกซึ้งแต่เล่าด้วยลีลาอันผ่อนคลาย อ่านสบายและรื่นรมย์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0