โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้! 5 โรคติดต่อหน้าฝน รับมืออย่างไรไม่ให้ลูกป่วย

MThai.com - Health

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2561 เวลา 01.00 น.
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้! 5 โรคติดต่อหน้าฝน รับมืออย่างไรไม่ให้ลูกป่วย
ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลง และมีความชื้นสูงขึ้น สภาพอากาศเช่นนี้ ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และแพร่กระจายได้ง่าย วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ม

ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลง และมีความชื้นสูงขึ้น สภาพอากาศเช่นนี้ ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และแพร่กระจายได้ง่าย วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับ 5 โรคติดต่อหน้าฝน ที่ติดเชื้อและพบบ่อยในเด็ก ซึ่งมักจะติดต่อกันมากในโรงเรียน ที่พ่อแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูนี้ ได้แก่ โรคที่มาจากไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคไข้เลือดออก และโรคที่เกิดได้จากทั้งไวรัสและแบคทีเรีย เช่น อุจจาระร่วง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

https://seeme.me/ch/women/9aabp9

แม่โบว์ แวนด้า แนะวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก

สาเหตุของการเกิดโรคที่สำคัญเลยก็คือ การสัมผัสกับเชื้อโรค ทั้งจากการสัมผัสคลุกคลีกับคนป่วย การหายใจและทางปาก ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยให้ดี จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

5 ข้อปฏิบัติ ครอบคลุม 5 โรคติดต่อฤดูฝน

  1. ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร

  2. หลีกเลี่ยงพาเด็กๆ ไปอยู่ในที่ชุมชน ผู้คนพลุกพล่าน หากเลี่ยงไม่ได้ต้องให้สวมหน้ากากอนามัยเสมอ

  3. รับวัคซีนพื้นฐานให้ครบและเสริมวัคซีนตามคำแนะนำแพทย์เป็นกรณี และคอยเฝ้าระวังสังเกตอาการเมื่อป่วย หากผิดสังเกตให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

  4. รับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ กินของปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางเป็นนิสัย เพิ่มเติมเสริมการออกกำลังกายที่เหมาะตามวัย

  5. จัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งในบ้านและรอบบริเวณบ้านให้สะอาด สว่าง และอากาศถ่ายเทได้ดี

5 โรคติดต่อฤดูฝน

1. โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ก่อโรคในคนมี 3 สายพันธุ์คือ A B C หากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการซึม งอแง ไม่ค่อยกินอาหาร ถ้าเป็นเด็กแรกเกิดแพทย์จะแนะนำให้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล

การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้เลี้ยง อาจเป็นพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยง สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี (6 เดือน – 9 ปี) ปีแรกที่ฉีดแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันอย่างเต็มที่ และเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป ฉีดแค่เพียงเข็มเดียวในปีแรกหลังจากนั้นฉีดกระตุ้นปีละหนึ่งเข็ม

2. โรคอุจจาระร่วง

อาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเบื้องต้นท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เมื่อเด็กมีอาการท้องเสีย หรือมีอาเจียน เด็กจะมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ควรรีบพบแพทย์ทันที

ปัจจุบันโรคท้องเสียที่เกิดจากไวรัสโรต้ามีวัคซีนในการป้องกัน ชนิดหยอดที่ใช้ได้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ลดความรุนแรงของโรค และมีความปลอดภัยสูง โดยจะเริ่มหยอดครั้งแรกในเด็กที่มีอายุเกิน 6 สัปดาห์ ขึ้นไปและจะให้ครั้งต่อไปห่างจากครั้งแรก 4 สัปดาห์ โดยหยอดทางปาก 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน สำหรับเด็กโตให้เน้นด้านการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว

*3. โรคมือ เท้า ปาก *

เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบได้ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งติดต่อได้ง่ายมาก ทั้งทางน้ำลาย ได้รับเชื้อจากแผลในปาก จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน เมื่อรับเชื้อเด็กอาจมีไข้สูง และมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาการมักจะหายเองภายใน 5-7 วัน โดยโรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบได้ ดังนั้นหากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัย ว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

*4. ไข้เลือดออก *

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งมียุงลายบ้านเป็นพาหะ เมื่อเด็กรับเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งสามารถให้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี หากต้องการรับวัคซีน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

5. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เมื่อเด็กติดเชื้ออาจมีอาการไข้สูง ซึม ชักเกร็ง แขนขาอ่อน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกอาการได้ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์

เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคคัส แพร่กระจาย ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ฉะนั้นจึงควรเลี่ยงพาเด็กไปในที่แออัด หรือหากเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนเสริมภูมิต้านทาน โดยฉีดเมื่ออายุ 2 4 และ 6 เดือน และกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 12-15 เดือน, ถ้าเริ่มฉีดในเด็กอายุ 7-11 เดือน ให้ฉีดสองครั้งห่างกันสองเดือน และกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 12-15 เดือน, ส่วนเด็กอายุ 1-5 ปีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ให้ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยให้ฉีดสองครั้งห่างกันสองเดือน

บทความจาก : ทีมแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น รพ.พญาไท 2 (สนามเป้า)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0