โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณปัสสาวะบ่อยหรือเปล่า? ระวังสัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 14.20 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 14.20 น.
27-1p1

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มมะเร็งระบบขับถ่ายปัสสาวะ ถ้าใครมีพฤติกรรมเสี่ยง อย่างสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ ร่างกายสัมผัสสารเคมีในกลุ่มอะโรเมติกเอมีน (aromatic amines) ที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาง สิ่งทอ เครื่องหนัง สี สายไฟฟ้า พลาสติก และสิ่งพิมพ์ เป็นเวลานาน ชอบกินอาหารประเภทหมักดอง หรืออาหารแปรรูป ได้รับอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารหนู (สารอาร์ซีนิก arsenic) เป็นเวลานาน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคนี้

สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ เกิดจากความผิดปกติในตำแหน่งของเซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะที่มีการเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ จนทำให้กลายเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา ซึ่งก้อนเนื้อนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลือง และเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจาย มะเร็งสามารถลามไปถึงกระดูกสันหลัง ปอด ท่อไต ได้อีกด้วย นอกจากนี้ การติดเชื้อและการระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือความผิดปกติแต่กำเนิดของกระเพาะปัสสาวะ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้เช่นกัน

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่มักเป็นชนิด urothelial cell carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ และถึงแม้มะเร็งชนิดนี้จะไม่ได้ติดอันดับต้น ๆ ที่ผู้ป่วยไทยเป็นมากที่สุด แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะโรคมักมีความรุนแรง โรคชนิดนี้พบในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง อายุที่พบได้บ่อยเป็นช่วงอายุ 50-70 ปี เป็นมะเร็งประเภทที่มีความซับซ้อนในการวางแผนขั้นตอนการรักษา อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

อาการที่สังเกตได้และพบบ่อยที่สุดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ ปัสสาวะเป็นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด แต่เนื่องจากลักษณะของอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปัสสาวะบ่อยและปวดบริเวณท้องน้อย หรือปลายท่อปัสสาวะขณะเบ่งปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากเนื้องอกรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายจะมีอาการผิดปกติในระบบอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่กระดูกสันหลัง ไอเรื้อรัง เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่ปอด น้ำหนักลด หรือมีการอุดตันของท่อไต ทำให้เกิดภาวะไตวาย

ดังนั้น เมื่อสังเกตได้ถึงอาการดังกล่าว จึงควรไปพบแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยให้แน่นอน สำหรับการวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือ การตรวจเซลล์มะเร็งจากเนื้อเยื่อของกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจได้มาจาก 2 วิธี ได้แก่ การเก็บปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจ (urine cytology) ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็งที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ และการส่องกล้องขนาดเล็กสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) โดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อให้ทราบตำแหน่งที่แน่นอนและสามารถตัดชิ้นเนื้อที่มีลักษณะผิดปกติไปตรวจได้

การรักษามะเร็งในระยะที่ 1-3 จะใช้การผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายแบบ ได้แก่ การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกโดยไม่ต้องตัดกระเพาะปัสสาวะ การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน หรือการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด โดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะจะพิจารณาวิธีการผ่าตัดตามความเหมาะสมของระยะที่เป็นและลักษณะของตัวโรค ทั้งนี้ อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น การฉีดยาเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด ขึ้นกับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ส่วนการรักษาในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายนั้น นายแพทย์พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ระยะนี้จะรักษาด้วยยาเพื่อให้ออกฤทธิ์

ครอบคลุมตัวโรคทั้งร่างกาย ยากลุ่มแรก คือ ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาโรคมะเร็งในระยะนี้ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง และเหมาะกับผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาเคมีบำบัด เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ยากลุ่มที่สอง คือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ซึ่งจะออกฤทธิ์ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งได้ และด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงน้อยและส่วนมากจะไม่รุนแรง โดยอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ปอด ลำไส้ใหญ่ ดังนั้น การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดจึงสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษามะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง และไม่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

แม้ปัจจุบันนวัตกรรมของยาและวิธีการรักษาโรคมะเร็งจะมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง การสูบบุหรี่ เพราะร่างกายจะขับสารจากบุหรี่ออกทางปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะสารก่อมะเร็งจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน หากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสสารเคมีในกลุ่มเสี่ยง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร เพราะสารเคมีอาจติดมือและปนเปื้อนในอาหารได้

ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่ก่อมะเร็ง ที่สำคัญคือ ถ้าสังเกตได้ถึงอาการผิดปกติต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมา ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0