โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คืนรถยนต์ให้ไฟแนนซ์ ถือว่าสมัครใจเลิกสัญญากัน หมดสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าส่วนต่าง

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 07.23 น. • เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและหลายท่านอาจจะกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ ปัจจุบันมีหลายคนบ่นว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ค้าขายลำบาก ส่วนบางคนเป็นลูกจ้างก็ถูกนายจ้างเลิกจ้าง โดยที่ยังค้างค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าเสียหายอื่นๆ

เมื่อรายได้หดหาย ในขณะเดียวกันภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนกลับคงที่บางท่านจึงจำเป็นต้องลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นน้อยที่สุดออกไปก่อน ซึ่งหลายท่านก็เลือกที่จะตัดภาระเรื่องของรถยนต์ออกไปเป็นอันดับแรก และเมื่อมีการคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ ท่านอาจจะถูกดำเนินคดีก็ได้

ดังนั้นเราจะมีวิธีการรับมือกับบริษัทไฟแนนซ์อย่างไรเพื่อเตรียมตัวสู้คดีกับบริษัทไฟแนนซ์ ในกรณีที่บริษัทไฟแนนซ์ฟ้องเรียกค่าส่วนต่างจากการขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อ

โดยในวันนี้ผมได้นำตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในกรณีดังกล่าว คือ

1. มีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่บริษัทไฟแนนซ์แล้ว
2. โดยบริษัทไฟแนนซ์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ

กรณีถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากัน บริษัทไฟแนนซ์จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าส่วนต่างจากการขายทอดตลาดรถยนต์ โดยอาศัยสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2558

สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา

ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป

โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่บริษัทไฟแนนซ์ก็จะใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องเรียกค่าส่วนต่างจากผู้เช่าซื้อ โดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เช่าซื้อ ที่จะแต่งตั้งทนายเข้าไปสู้คดี เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบในภาระหนี้ส่วนต่างที่เกิดจากการขายทอดตลาด โดยอ้างอิงหลักกฎหมายประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น

ในกรณีที่ท่านไม่ได้แต่งตั้งทนายความเข้าไปสู้คดี ศาลอาจจะพิพากษาตามฟ้องของโจทก์ หรือในกรณีที่ท่านไปตกลงยินยอมชำระหนี้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ก็จะต้องบังคับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับหรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK หรือ Instagram : james.lk

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0