โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"คีรี" แนะ "ศักดิ์สยาม" ดูภาระเอกชนก่อนทำรถไฟฟ้าราคาถูก ซัด รฟม.ปมลงทุนสีเหลืองต่อขยาย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 08.31 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 13.46 น.
67179559_2313101618786599_5902265884910551040_n

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวว่า กรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีนโยบายลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจะปรับลดค่าโดยสารให้อยู่ในระดับราคา 15 บาท ถือเป็นคนที่มีความคิดดีที่จะช่วยเหลือประชาชน ขอชื่นชม

แต่การลดภาระประชาชนนั้น ก็อยากให้รัฐบาลเข้าใจด้วยว่าเอกชนที่ลงทุนโครงการต่างๆ ไปก่อนหน้านี้เขาต้องแบกรับภาระต้นทุนเท่าไหร่ และจะทำอย่างไรไม่ให้พวกเขาเหล่านี้เสียเปรียบ เพราะถ้าหากมีมาตรการใดออกมาแล้วมีผลกระทบกับเอกชน ต่อไปรัฐก็ควรจะลงทุนทำโครงการต่างๆ เอง

ไม่แคร์หากไม่ได้ต่อขยายสีเหลือง

ส่วนโครงการสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม จำนวน 2 สถานี เงินลงทุนประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นการเสนอโดยบีทีเอสและจะลงทุนก่อสร้างเองด้วย เพราะในทีโออาร์ตั้งแต่แรกไม่มีตรงนี้ บีทีเอสจึงขอสร้างให้ไปถึงตรงจุดดังกล่าว แต่ถ้ากระทบกับใครแล้วทำให้บีทีเอสไม่ได้ก่อสร้าง ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้ทำบีทีเอสก็จะไม่ทำ

“ที่มีข่าวว่า ไม่ให้สร้างเพราะจะทำให้การการันตีรายได้ของบริษัทอื่นลดลงก็เป็นเรื่องที่แย่มาก และถ้าบีทีเอสไม่ได้สร้างส่วนต่อขยายนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรด้วย เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บีทีเอสแล้ว อยู่ที่รฟม.”

นายคีรีกล่าวต่อถึงการเจรจาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2562 ว่า ยังอยู่ระหว่างเจรจากับกทม.และกระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ยังมีเวลาคุยกันเพราะเดดไลน์ของประเด็นนี้อยู่ที่ประมาณเดือน ก.ย.นี้ ขอให้การเจรจาในขั้นสุดท้ายออกมาก่อน บีทีเอสไม่รีบ

“ถ้าอยากให้เอกชนลงทุน เราก็ต้องมองก่อนว่ามี IRR เท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ทุกโครงการ ถือว่าไม่สูงแต่อยู่ในกรอบของผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลอยู่ ส่วนค่าโดยสารที่กทม.ต้องการให้เก็บสูงสุดที่ 65 บาท ขอไม่ออกความเห็นในขณะนี้ เพราะยังอยู่ในระหว่างการเจรจา”

ทั้งนี้ นายคีรีกล่าวอีกว่า ต้องขอแก้ความเข้าใจเรื่องสัมปทาน 40 ปีก่อน ที่บอกว่า 40 ปีคือการรวมเอาสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุปี 2572 มารวมด้วย ซึ่งที่จริงแล้วยังไม่หมดอายุ เหลืออีกประมาณ 10 ปี

“สัมปทานบีทีเอสเดิมมีอายุ 30 ปี ตอนนี้กำลังเข้าปีที่ 20 คุณจะยึดกลับไปแล้วเหรอ คิดอย่างนี้พูดอย่างนี้คือการบิดเบือน ดังนั้นจะเป็น 40 ปีได้อย่างไร”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0