โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คิโนะคูนิยะ ร้านหนังสือ ที่ยังมีกำไร

ลงทุนแมน

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 08.55 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 02.40 น. • ลงทุนแมน

คิโนะคูนิยะ ร้านหนังสือ ที่ยังมีกำไร / โดย ลงทุนแมน

“ร้านหนังสือ” ถ้าพูดถึงธุรกิจนี้ ทุกคนคงส่ายหน้า
เพราะต่างรู้ดีว่ากำลังโดน ดิสรัปชันจากเทคโนโลยี

การเชื่อมต่อโลกออนไลน์ที่แย่งเวลาของเราไปจากหนังสือ
รวมถึงหนังสือในรูปแบบ E-Book ที่มีจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ล้วนส่งผลให้ความสำคัญของ “หนังสือเล่ม” ค่อยๆ ลดเลือนไป
เช่นเดียวกับ ร้านหนังสือ ที่ค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีร้านหนังสือที่ยังคงอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตินี้
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ร้านคิโนะคูนิยะ (Kinokuniya)

ร้านหนังสือร้านนี้มีความน่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..

ร้านคิโนะคูนิยะ ก่อตั้งโดย คุณโมอิจิ ทานาเบะ เปิดให้บริการครั้งแรกที่ย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1927

คำว่า คิโนะคูนิยะ แปลว่า ร้านที่มาจากเมืองคิอิ ซึ่งอยู่ใกล้กับโอซากา

ในตอนแรกธุรกิจของร้านนี้คือ ขายถ่านและไม้ เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

ต่อมาเมื่อคุณโมอิจิเปิดร้านหนังสือ จึงนำชื่อนี้มาใช้เป็นชื่อร้านเช่นกัน

ในช่วงแรกนั้น ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะเป็นเพียงตึกไม้สองชั้น และมีพนักงานอยู่แค่ 5 คน

แต่เรื่องราวไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อกรุงโตเกียวถูกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ร้านคิโนะคูนิยะเองก็หนีไม่พ้น ถูกทิ้งระเบิดเช่นเดียวกัน

คุณโมอิจิเกือบตัดสินใจเลิกทำร้านหนังสือแล้ว
แต่หลังสงคราม สังคมญี่ปุ่นต้องการตำราภาษาอังกฤษ และ หนังสือความรู้เฉพาะทางต่างๆ

จึงทำให้เขาตัดสินใจกลับมาเปิดร้านหนังสือคิโนะคูนิยะอีกครั้ง

กิจการร้านหนังสือคิโนะคูนิยะค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม

จากร้านเพียง 2 ชั้นที่สาขาชินจูกุ ขยายตัวกลายเป็นตึก 9 ชั้น และขยายสาขาจนกลายเป็น 70 สาขา ทั่วประเทศญี่ปุ่น

จุดเด่นที่สุดของร้านคิโนะคูนิยะก็คือ ความครบครันของหนังสือ..

ทางร้านต้องการให้ผู้อ่านทุกคนที่เดินเข้ามา ได้พบกับหนังสือที่ตัวเองต้องการ จึงพยายามวางจำหน่ายหนังสือให้หลากหลายมากที่สุด แม้หนังสือที่เพิ่มเข้ามาจะขายได้น้อย แต่ร้านก็พยายามวางหนังสือให้ครบที่สุดเท่าที่จะทำได้

Cr. Tokyo Weekender
Cr. Tokyo Weekender

อีกจุดเด่นหนึ่งก็คือ ความใหญ่โตของร้าน..

นอกจากหนังสือแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับสื่อการเรียนรู้ประเภทอื่น เช่น ซีดี เพลง สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก
และด้วยความที่ผู้ก่อตั้งเป็นคนชอบศิลปะ ในร้านคิโนะคูนิยะจะมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานทางศิลปะอยู่เสมอ

Cr. MONDA Gallery
Cr. MONDA Gallery

ร้านคิโนะคูนิยะ ยังขยายสาขาไปถึง 31 สาขาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ในประเทศไทย มีร้านคิโนะคูนิยะอยู่ 3 สาขา คือ

สาขาอิเซตัน ซึ่งเป็นสาขาแรกในประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2535

สาขาสยามพารากอน เปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2548

และสาขาเอ็มควอเทียร์ เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งย้ายมาจากสาขาเอ็มโพเรียม

ในช่วงแรกคิโนะคูนิยะในประเทศไทย เปิดขึ้นเพื่อเน้นให้บริการแก่ชาวญี่ปุ่นในเมืองไทยเป็นหลัก จึงมีหนังสือภาษาญี่ปุ่นอยู่มาก

แต่ในช่วงหลัง ร้านได้เน้นการบริการหนังสือต่างประเทศ โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษให้แก่ชาวไทย และมีโซนหนังสือภาษาไทยด้วย

แม้จะมีเพียง 3 สาขาในประเทศไทย
แต่ด้วยความที่มีหนังสือทุกประเภทวางขายอยู่ครบครัน โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถดึงดูดนักอ่านเฉพาะทางได้เป็นอย่างดี

Cr. Kinokuniya ประเทศไทย
Cr. Kinokuniya ประเทศไทย

รายได้ และกำไร บริษัท คิโนะคูนิยะ บุ๊คสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ปี 2559 รายได้ 730 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 776 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 757 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า รายได้และกำไรของร้านยังคงเปลี่ยนแปลงไม่มาก แม้เป็นยุคที่ยอดขายหนังสือลดลงอย่างหนัก จนร้านหนังสือหลายแห่งต้องประสบกับภาวะขาดทุนจนต้องปิดตัวลง

สิ่งที่ร้านคิโนะคูนิยะให้ความสำคัญมาตลอดก็คือ “หลักไคเซ็น” ของญี่ปุ่น
ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่การปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

แม้แต่ถุงพลาสติกสีน้ำเงินเสียงดังกรอบแกรบ อันเป็นเอกลักษณ์ของร้านคิโนะคูนิยะ
หากสังเกตให้ดีจะพบกับคำว่า

“Please reuse this eco-green biodegradable bag to protect our environment.”
“Disposed by Sunlight, Heat and Oxygen.”

ซึ่งหมายความว่า คิโนะคูนิยะตั้งใจเลือกถุงที่สามารถถูกย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ

Cr. Kinokuniya ประเทศไทย
Cr. Kinokuniya ประเทศไทย

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ความใส่ใจในรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อย นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้..

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความก้าวหน้าของมนุษย์
การดำรงรูปแบบธุรกิจให้คงเดิมไว้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย

แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเราตั้งใจ ก็คงไม่ยากเกินไป

ในยามที่ร้านหนังสือทั่วไป ลดจำนวนชั้นวางหนังสือ และเพิ่มสัดส่วนของสินค้าอื่น
แต่ คิโนะคูนิยะ กลับเลือกที่จะวางหนังสือแบบจัดเต็มครบทุกประเภทในร้านขนาดใหญ่

การกล้าทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ในบางครั้งมันก็จะย้อนกลับเป็นผลตอบแทนให้เรา

ถ้าตอนนี้ให้ไปถามคนที่ชอบอ่านหนังสือ
ว่าร้านหนังสือโปรดของเขาคือที่ไหน?
แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นจะมีคำตอบนี้
คิโนะคูนิยะ..
———————-
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป Blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
———————-

References
-http://www.kinokuniya.com
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Books_Kinokuniya
-https://kinokuniya.com.sg/corporate-information/
-https://www.stou.ac.th/Schools/sst/main/KM/KM%20Post/57/BioPlastic.pdf
-https://datawarehouse.dbd.go.th/fin/profitloss/5/0105533057799
-นิตยสาร a day ฉบับที่ 99 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0