โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

#คิดก่อนแชร์ 4 สิ่งที่ไม่ควรแชร์บนโซเชียลมีเดีย

THE STANDARD

อัพเดต 24 ม.ค. 2562 เวลา 08.55 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 08.55 น. • thestandard.co
#คิดก่อนแชร์ 4 สิ่งที่ไม่ควรแชร์บนโซเชียลมีเดีย
#คิดก่อนแชร์ 4 สิ่งที่ไม่ควรแชร์บนโซเชียลมีเดีย

เรารู้ว่านี่คือยุคสมัยแห่งการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร แต่ถ้าคนที่กำลังกดดูหน้าไทม์ไลน์บนเฟซบุ๊กที่คุณแชร์มื้อกลางวันน่าอร่อย แชร์มุมมองการเมืองอันชัดเจน แชร์ข้อมูลการเดินทาง แชร์พิกัดที่พักอาศัย ไปจนแชร์ภาพลูกน้อยน่าหยิก หาใช่เพื่อน แต่เป็นมิจฉาชีพล่ะ เดาดูสิวายร้ายอาจได้ข้อมูลอะไรจากพฤติกรรมนักแชร์ของคุณบ้าง?

 

เราได้รวบรวมสิ่งที่ถูกแชร์ (แบบไม่คิดมาก) มาเป็นความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม และนี่คือ 4 สิ่งที่ควรคิดก่อนจะกดแชร์

 

via GIPHY

 

เบอร์โทรศัพท์

โลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคนมากหน้าหลายตา การแปะเบอร์โทรศัพท์หราเอาไว้บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ก่อให้เกิดความอันตรายได้ทั้งนั้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนแปลกหน้าจะเอาเบอร์ของเราไปทำ ‘อะไร’ และอย่าลืมว่าปัจจุบันนี้คนอื่นสามารถส่งเมสเสจหาเราได้ทั้งทาง SMS แอดไลน์ด้วยเบอร์ ส่งเมสเสจผ่าน WhatsApp กระทั่งหาเจอได้ทางเฟซบุ๊ก ดังนั้นใครไม่อยากรับสายโรคจิตตอนตี 2 หรือขายประกันโทรมา 10 ธนาคาร ท่องไว้ 3 คำ ‘อย่า’ ‘ได้’ ‘แปะ’

 

✓  ควรทำ: หากต้องการแลกเบอร์กับใครหน้าไหนออนไลน์ หรือแจ้งบอกเพื่อนว่าเปลี่ยนเบอร์แล้วนะ โปรดเช็กสักนิดว่าไม่ได้ตั้งเป็น ‘Public’ หรือ ‘สาธารณะ’ หรือบอกส่วนตัวจะดีที่สุดนะ

 

via GIPHY

 

บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต

เรารู้ว่าสมัยนี้เจ้าหน้าที่ใจดีให้คุณแอบยิ้มได้แล้วทั้งบนบัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง และเรายินดีด้วยถ้ารูปที่ถ่ายบังเอิญออกมาดูดีกว่าคนอีกครึ่งประเทศ แต่อย่าเพิ่งรีบดีใจจนโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เพราะเอกสารราชการมีข้อมูลทั้งวัน เดือน ปีเกิด ใบหน้าปัจจุบันของคุณ รวมไปถึงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่โจรเห็นเป็นต้องยิ้ม เพราะสามารถนำไปใช้เปิดเครดิตการ์ด และนำไปทำการฉ้อฉล รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลบัตรเครดิตของคุณได้แบบหมูๆ

 

✓  ควรทำ: หมั่นตรวจตราความเคลื่อนไหวของบัตรเครดิตเสมอ และสังเกตสักนิดว่าคุณกดแชร์ให้คนกลุ่มใดอ่านบนเฟซบุ๊ก รวมถึงระวังเรื่องการตั้งความปลอดภัยในแต่ละโพสต์ว่าไม่ได้แชร์แบบเป็น ‘Public’ หรือ ‘สาธารณะ’ หรือไม่โพสต์เลยเป็นดี

 

via GIPHY

 

ตำแหน่ง แผนการเดินทาง

อย่าเพิ่งตื่นเต้นกับทริปไปดูซากุระที่ญี่ปุ่นเกินจนโพสต์ภาพและสถานที่แบบไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะเมื่อคุณยังไม่ได้เดินทาง แถมยังระบุวันที่ไปและกลับ และสถานที่พักให้เสร็จสรรพ เพราะโจรหัวใสจะรู้ทันทีว่าคุณจะไม่อยู่บ้านถึงวันไหน และสามารถใช้ข้อมูลขี้อวดนี้ในการโจรกรรมเสียเลย

 

✓  ควรทำ: เลี่ยงประกาศให้โลกรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ โพสต์แค่ภาพสวยๆ (เพราะเราห้ามคุณไม่ได้หรอก) ให้พอเดาว่าอยู่ไหน หรืออาจจะโพสต์ตอนกลับมาแล้ว ติดแฮชแท็ก #tbt หรือ #throwback วนไป ก็ไม่มีใครว่า

 

via GIPHY

 

ข้อมูลทางการเงิน

ไม่ว่าคุณจะมีเงินสิบล้านหรือสิบบาทอยู่ในธนาคาร การบอกโลกถึงจำนวนเงินในบัญชีนั้นบอกเลยว่า ‘ไม่คูลจ้ะ’ เด็กจบใหม่อาจจะอยากอวดเงินเดือนก้อนแรก หรือนักธุรกิจอาจอยากประกาศก้องถึงการลงทุนที่ได้ผลมาเป็นกอบกำ แต่การแชร์ลงบนโลกออนไลน์นั้นเสี่ยงต่อการจารกรรมข้อมูลทางการเงินยิ่งนัก ยิ่งมีเลขที่บัญชีอยู่บนโพสต์ด้วยแล้วยิ่งอันตรายกว่า เว็บไซต์ของ CNN Money รายงานว่า ในปี 2557 มีการจดบันทึกว่ามิจฉาชีพจารกรรมข้อมูลทางการเงินมาจากรูปภาพบนอินสตาแกรม ที่ใส่แฮชแท็ก #myfirstpaycheck ซึ่งสามารถทำให้สร้างเช็กปลอมขึ้นมาได้จากข้อมูลที่ว่าหลายคดีเชียว

 

 ควรทำ: คิดก่อนอวด คิดก่อนแชร์กันดีกว่า ก่อนจะต้องปวดหัวกันภายหลัง

 

ส่วนถ้าใครทำที่บอกมาดังกล่าวไม่เป็น เราแนะนำให้ถามลูกหลาน หรือคนใกล้ตัวที่ไว้ใจและถนัดเทคโนโลยีเสียหน่อยให้ช่วยปรับค่าความปลอดภัยของการโพสต์ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ทำได้ไม่ยากเลย

 

เอ้า #รู้งี้ต้องแชร์ แล้วล่ะ!

 

 

ภาพประกอบ: Nuttarut B.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0