โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คิดการใหญ่!'ปิยบุตร'หวังได้เสียงข้างมากล้างคสช.ปฏิรูปทหารสอนประชาธิปไตยให้ศาลผุดนิรโทษกรรม

ไทยโพสต์

อัพเดต 16 ส.ค. 2561 เวลา 00.53 น. • เผยแพร่ 16 ส.ค. 2561 เวลา 00.53 น. • ไทยโพสต์

16 ส.ค.61-นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Piyabutr Saengkanokkul ถึงการล้างมรดกคสช.ว่า

ผมร่างกรอบข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และสถาบันการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตย ไว้ในรายละเอียดยังมีประเด็นต้องอภิปรายอีกมากข้อเสนอต่างๆนี้ หลายเรื่องสามารถทำได้โดยใช้พระราชบัญญัติ หลายเรื่องสามารถทำได้โดยใช้มติ ครม และอีกหลายเรื่องต้องใช้ระดับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยผลการเลือกตั้ง เสียงข้างมากในสภา และเจตจำนงทางการเมือง แต่มีบางเรื่องที่ใช้ปัจจัยเหล่านี้ไม่พอ แต่ยังต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคมจนเกิดเป็นกระแสฉันทามติขึ้นมา

คิดค้น "วิธีการ" นั้นไม่ยาก แต่การสร้าง "ฉันทามติร่วม" ยาก จึงต้องเริ่มทดลองลงมือ เสนอ และอภิปราย

สำหรับเนื้อหานายปิยบุตรเขียนเป็นบทความผ่านเว็บไซต์ประชาไท อาทิ การจัดการ "มรดก" คณะรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างร้าวลึกตลอดทศวรรษ จนดูเหมือนว่าไม่อาจหาฉันทามติร่วมกันได้ ทำให้กองทัพฉวยโอกาสก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสองครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในช่วงของการครองอำนาจ คณะรัฐประหารได้สร้าง “มรดก” ในรูปของ “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมาย” ไว้จำนวนมาก เพื่อเป็นกลไกรับประกันว่าระบอบการเมืองในฝันของคณะรัฐประหารจะสามารถดำรงอยู่ได้ “มรดก” เหล่านี้ มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขาดความชอบธรรมและการมีส่วนร่วมจากประชาชน หากไม่จัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร จะทำให้ระบอบรัฐประหารดำรงอยู่กับเราต่อไปจนยากที่จะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

ข้อเสนอคือ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ตามมาตรฐานตามแบบประชาธิปไตย คสช.จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรงค์อย่างเต็มที่ มีบุคคลจำนวนมากที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่กลับถูกจับกุมและดำเนินคดี ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีความชอบธรรม

นายปิยบุตรระบุวิธีการ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช … เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีเนื้อหาตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

หรือให้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับหมวด 15 นี้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว จะต้องมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งแรก การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ คร้้งที่สอง การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น

นอกจากนี้ให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2560) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย ในขณะที่ศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้องกรณีเหล่านี้ โดยอ้างมาตรา 279 ว่ารับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้หมดแล้ว ดังนั้น แม้การกระทำเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยุติธรรม การกระทำเหล่านี้ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสมอ กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด

เพื่อทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ ทบทวน แก้ไข ยกเลิก ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ประเด็น สิทธิและเสรีภาพของบุคคล แก้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่นยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457  แก้ไขพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548   ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 

การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับประชาธิปไตย ด้วยหลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ รับเรื่องร้องเรียนจากนายทหารชั้นผู้น้อย  ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร  สร้างระบบการคุ้มครองสิทธินายทหารชั้นผู้น้อย

 การปฏิรูประบบศาลให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย การได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลสูง - ให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอรายชื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง ให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้นต่อสาธารณะ แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของศาล การปฏิบัติหน้าที่ของศาล และทำรายงานเสนอสภาผู้แทนราษฎร  กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย

นายปิยบุตร ยังระบุถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าให้ตั้งคณะกรรมการ transitional justice ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ริเริ่มดำเนินคดี ตลอดจนจัดทำรายงานและข้อเสนอเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา และยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในคดีทางการเมือง และตรากฎหมายนิรโทษกรรมในคดีการเมืองให้แก่ “ผู้ต้องหาและนักโทษ” ของระบอบ คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557.  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0