โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คำ ผกา | เช่าเขาอยู่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 11.01 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 11.01 น.
คำผกา2081

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์เด็กหลุดนอกระบบหรือเด็กใช้ชีวิตบนท้องถนน มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากผลเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่กระตุ้นสำคัญคือเรื่องปัจจัยในครอบครัวที่มาจากความรุนแรง ความตึงเครียด ที่เป็นแรงผลักทำให้เด็กต้องออกไปใช้ชีวิตบนถนนมากขึ้น และหลังจากโควิด-19 สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ใน กทม.ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวของเด็กเหล่านี้มีรายได้ลดลง บางครอบครัวไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่เช่าห้องราคาถูก นอนพักอาศัยใต้ทางด่วน ชุมชนแออัด เป็นลูกแรงงานต่างจังหวัดอยู่ตามไซต์ก่อสร้าง แรงงานนอกระบบ ทำงานรายได้ต่ำ ทั้งหมดยิ่งตอกย้ำว่าเด็กมีความเสี่ยงหลุดนอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องต้นทุนอื่นๆ ที่สูงเช่นกัน และสภาพเด็กเมื่ออยู่ในวัยแรงงานก็ต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือไม่ใช่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มเรื่องช่องทางอาชีพและการเรียนที่ยืดหยุ่น self esteem ทักษะชีวิต เพราะความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตจะสร้างความมั่นคงได้มาก

ลุยช่วยเด็กกลุ่มยากจนพิเศษใน กทม. แบกค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมมากกว่ารายได้ทั้งเดือน

สารภาพว่าฉันมีความกังวลต่ออนาคตของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยกังวลมากเท่านี้

และไม่เคยเห็นสังคมไทยอยู่ในภาวะเปราะบางในทุกมิติไปพร้อมๆ กันขนาดนี้

ตอนปี 2549 เรามีรัฐประหาร เป็นวิกฤตการเมือง วิกฤตประชาธิปไตย แต่องคาพยพอื่นๆ ของสังคมไทยในช่วงนั้นอยู่ในภาวะขาขึ้น แข็งแกร่งทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาคประชาสังคม สติปัญญา ชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน ชาวชนบท ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นทางเศรษฐกิจที่เป็นผลงานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลไทยรักไทย (ผ่านไปสิบกว่าปี ความแข็งแกร่งเหล่านี้ไม่เหลือแล้ว)

หันมาดูสภาพสังคมไทยในยุคหลังโควิด ตอนนี้เราเห็นอะไรบ้าง?

ฉันเฝ้าพูดซ้ำๆ ว่า นี่ไม่ใช่วิกฤตโควิด-19 แต่เป็นวิกฤตที่เกิดจากมาตรการรับมือกับโควิดของรัฐบาลไทย

เริ่มตั้งแต่ตอนที่โควิดระบาดช่วงแรก ควรรีบปิดรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พร้อมทำ state quarantine อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ รอจนเกิดการระบาดภายในประเทศ พร้อมกับการเกิด super spreaders จากสนามมวย จึงตัดสินใจชัตดาวน์ประเทศอย่างไร้วิสัยทัศน์

นั่นคือ ปล่อยให้มีการปิดเมืองทั่วไทย ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว จากนั้นก็โหมกระหน่ำสร้างความกลัวและความหวาดวิตกจนเกินกว่าเหตุให้กับประชาชน

ต่อมาแม้เหตุการณ์ของโรคจะสงบลงตามลำดับ รัฐบาล หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ ศบค. ที่นำโดยนายกฯ บวกหมอกลุ่มหนึ่ง บวกฝ่ายความมั่นคง กลับมีความพยายามส่งต่อความกลัวสถานการณ์โควิดลงสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยอ้างเรื่องการระบาดระลอกสอง

จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็ดูเอ็นจอยกันมาก กับการที่ใช้เรื่องโควิดมาทำให้ประชาชนเชื่อฟัง อยู่ในโอวาท ยอมทำตามคำแนะนำของรัฐบาล

ไม่ว่าคำแนะนำเหล่านั้นจะดูประหลาดสักเพียงใดก็ตาม

เช่น กฎแห่งการรักษาระยะห่าง การใส่หน้ากาก การกดเจลแอลกอฮอลล์ล้างมือกันอย่างบ้าคลั่ง เอะอะกด เอะอะกด

ผลคือ คนไทยจำนวนไม่น้อยกลายเป็นพวกวิตกจริต บ้าจี้ กลัวเชื้อโรคอย่างไร้เหตุผล ไปจนถึง ทำๆ ไปเพื่อตัดความรำคาญ และก็ก่อให้เกิดสถานการณ์โง่ๆ บ้าๆ เช่น ต้องเอาคนมานั่งเฝ้าโต๊ะเขียนชื่อ เช็กอิน เข้า-ออก

และทั้งหมดนี้ทุกคนก็รู้ว่า มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเชื้อโรคอีกแล้ว แต่มันเป็นแค่เรื่องที่เรารู้สึกว่า การเป็นเด็กดีของรัฐบาล คือหน้าที่พลเมือง

ผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมากที่ทำให้คนไทยกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ว่าง่าย และหลงลืมไปเลยว่าตนเองมีสมอง ที่พึงเอาไว้ใคร่ครวญว่า ทำไมเราต้องทำอย่างนั้น ทำไมเราต้องทำอย่างนี้ และเรามีสิทธิที่จะขัดขืนไม่ทำได้อย่างไร และเพราะอะไรเราจะไม่ทำ

อยู่ๆ พลเมืองไทยก็กลายเป็นซอมบี้ ทั้งเซื่องและเชื่องในเวลาเดียวกัน

และอย่างไม่น่าเชื่อ ที่ประเทศไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศไม่มีข้อยกเว้นที่จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่มีใครอธิบายได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคระบาดอย่างไร ไม่นับว่าภาวะโรคระบาดก็ได้สงบลงแล้ว

มิไยที่หมอหลายท่านหลายคนจะออกมาบอกว่า การจะพบผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อหลังจากนี้เป็นเรื่อง “ปกติ” ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกรี๊ดกร๊าด แพนิก ประสาทแดกกันแต่อย่างใด

เออ… ฉันฟังแล้วก็นั่นสิ ทำไมเราต้องประสาทแดกกับการระบาดรอบสองด้วย ทำราวกับว่าตลอดประวัติศาสตร์ประเทศ เป็นประเทศปลอดเชื้อ ปลอดโรค โรคภัยไข้เจ็บ ไปจนถึงโรคระบาดใดๆ ก็ไม่แผ้วพานยังงั้นแหละ

และเหตุใดเราต้องเลือกกลัวโควิด-19 มากกว่ากลัวไข้หวัดใหญ่ มากกว่ากลัวอหิวาต์ มากกว่ากลัวไข้เลือดออก มากกว่ากลัวโรคพิษสุนัขบ้า

อันนี้งงจริงไม่อิงนิยาย ว่าอยู่ๆ ก็อยากปิดประเทศ และมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปชั่วฟ้าดินสลาย เหตุเพียงเพราะกลัวโควิด

ด้วยมาตรการเช่นนี้จึงก่อให้เกิดผลที่ฉันเรียกว่าผลกระทบจากมาตรการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาล และผลที่เห็นเด่นชัดก่อนเรื่องอื่นๆ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ลองคิดว่าลำพังมีโควิดอย่างเดียว ไม่มีรัฐบาล หรือไม่มีผู้นำที่ด้อยสติปัญญา โควิดก็ส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วประมาณหนึ่ง

แล้วลองคิดดูว่า เมื่อรวมสองสมการเข้าด้วยกัน คือโควิดบวกรัฐบาลที่ด้อยปัญญา ด้อยความสามารถ แถมยังละโมบในอำนาจอย่างไม่มีที่สุด ผลลัพธ์ของมันจะหนักหนาสาหัสสักเพียงใด?

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกมาพูดแล้วว่า คนว่างงานจะสูงถึงสองล้านคน – หมายเหตุว่า สองล้านนี่คือตัวเลขที่สามารถเปิดเผยได้ ไม่สร้างความตระหนกจนเกินกว่าเหตุ

เศรษฐกิจหดตัวไป 8.1%

นักท่องเที่ยวจากสามสิบล้านคนเหลือแปดล้านคน

การส่งออกต่ำสุดในรอบ 130 เดือน

ค่าเงินบาทแข็ง

หนี้ครัวเรือน หนี้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม ฯลฯ

ไม่ต้องอื่นไกล ฉันท้าได้เลยว่า คนชั้นกลางอย่างเราๆ ท่านๆ ครึ่งปีนี้มีใครบ้างที่รายได้ไม่หายไปอย่างน้อยๆ 30%

กลับไปที่ข้อความที่ฉันโควตมาจาก The Reporter ข้างต้น ที่พูดถึงกลุ่มคนยากจนที่สุดในประเทศ ที่มีรายได้สูงสุดประมาณสองพันเก้าร้อยบาทนิดๆ ต่อเดือน ซึ่งคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 8.61% ในปีที่ผ่านมา

ย้ำว่าเรามีกลุ่มประชากรที่รายได้ปริ่มสามพันบาทต่อเดือนมากถึงร้อยละ 8.61 ของจำนวนประชากร ซึ่งจากข้อความที่ฉันโควตมาจะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกหลานของคนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และสถานีต่อไปของพวกเขาคือ ร้านเกมบ้าง ข้างถนนบ้าง ห้องเช่าในชุมชนที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด การพนัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่เป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น ตามมาด้วยภาวะป่วยไข้ทางจิตใจ อารมณ์ และอื่นๆๆๆ อันใครจะปฏิเสธได้ว่า นี่คือปัญหาสังคมอันหนักอึ้งที่จะซ้ำเติมปัญหาการเมือง เศรษฐกิจที่หนักเสียยิ่งกว่าหนักมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

กลุ่มคนและเยาวชนที่เปราะบางเหล่านี้คือ “เหยื่อ” ของระบบ ที่วันหนึ่งพวกเขาบางคนก็จะกลายเป็นคนที่เราเรียกว่า “ภัยสังคม” แต่คำถามของฉันคือ เป็น “เรา” ใช่หรือไม่ที่มีส่วนในการ “สร้าง” ภัยสังคมนี้ขึ้นมาจากมือของเราเอง

นี่คือภาวะ “อันตราย” ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แม้ไม่มีโควิด

หันกลับมาดูว่า ภาวะหลังโควิด ที่ฉันรู้สึกว่า โรงเรียน สถาบันการศึกษาของไทยทั้งหมดเหมือนถูกกระทรวงศึกษาธิการลอยแพ

ทั้งเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์

เรื่องการเลื่อนเปิดเทอมยาวมาที่เดือนกรกฎาคม

เรื่องการเปิดเทอมแล้วต้องมีระยะห่างทางสังคมที่ทำให้หลายโรงเรียนต้องใช้วิธีสลับกันเรียน อาทิตย์เว้นอาทิตย์

ทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรชัดเจนเกี่ยวกับการ “วัดผล” การเรียนว่า ถ้าไม่อาจเรียนได้เหมือนเดิม เราจะใช้วิธีวัดผลเหมือนเดิมได้หรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะ “อลหม่าน” ของโรงเรียน รวมไปถึงมหาวิทยาลัย ที่ต่างก็ต้องพยายามจัดการตัวเองไปตามคำสั่งของกระทรวง บางโรงเรียนก็จัดการได้ดี บางโรงเรียนก็จัดการไม่ได้ และอีกมากโรงเรียนก็คงทำอะไรกันไปพอเป็นพิธี เหมือนการใส่หน้ากาก หรือการเช็กอิน เช็กเอาต์ แอพพ์ไทยชนะ

สุดท้ายเราก็หลงลืมไปเลยว่า เรามีการศึกษาไว้ทำไม?

จะว่าไป เรื่องระบบการศึกษาไทย ก็มีชะตากรรมเหมือนเมืองไทยเปี๊ยบ นั่นคือ ลำพังไม่มีโควิด การศึกษาไทยก็ยักแย่ยักยัน เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความไม่พอดี สมดุล ในหลายมิติ เช่น ในเมืองไทยเรามีโรงเรียนทั้งโรงเรียนที่เป็นต้นแบบแห่งความลิเบอรัล ก้าวหน้า มีคุณภาพสูง ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนอีกมากที่คงไว้ซึ่งความอำนาจนิยม เฆี่ยนตี self esteem เด็กได้สารพัด มีโรงเรียนเอกชนราคาแพงที่ออกประกาศห้ามเด็กเป็นเกย์ มีโรงเรียนที่ขอพาสเวิร์ดเด็กนักเรียน ฯลฯ

แล้วพอเจอโควิดเข้าไป ไอ้ที่แย่อยู่แล้วก็ปั่นป่วน เรียนออนไลน์ ออฟไลน์กันตามยถากรรม แต่ไม่มีใครรู้ว่า เรียนไปแล้วเป็นอย่างไร

เด็กบางคนก็แฮปปี้กับการเรียนออนไลน์ ประสบความสำเร็จ เด็กอีกมากที่ปกติก็ไม่เรียนในห้องเรียนอยู่แล้ว (จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่) เจอออนไลน์เข้าไป สภาวะที่เกิดขึ้นคือการมีเกียร์ว่าง กับการเรียนออนไลน์ไปเลย

ไม่ต้องถามว่า ใบงาน แบบฝึกหัด ที่กำกับกันผ่านระบบลูกครึ่งออนและออฟไลน์นั้นจะได้ทำ ไม่ได้ทำ เพราะฉันบอกเลยว่า มีเด็ก “หลังห้อง” ในปริมาณมหาศาลที่จะหลุดจากการ “ศึกษา” ไปอย่างเปล่าดาย

แค่ระบบการศึกษาปกติที่ยักแย่ยักยัน ทำเด็กหลุดจาก “การศึกษา” ทั้งเพราะฐานะทางเศรษฐกิจและระบบการศึกษารวมศูนย์ ที่ไม่มีพื้นที่สำหรับเด็ก “ประหลาดๆ” ผู้ไม่ fit in กับคุณค่าสถาปนาในการศึกษากระแสหลัก ไม่นับเด็กที่มีปัญหา ความบกพร่องทางการเรียนรู้ สติปัญญา ไปจนถึงเด็กที่ปัญหาทางสุขภาพจิต ที่ไม่มีแค่เป็นบ้าหรือซึมเศร้า แล้วระบบการศึกษาที่แต่ละโรงเรียนต้องพยายามช่วยตัวเองให้มากที่สุดไปตามยถากรรม ขาดไกด์ไลน์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ขอฉันถามเถอะว่า ในสภาพนี้ ประเทศชาติจะเหลืออนาคตอะไรให้หวัง

เด็กที่ดี ที่เก่ง ที่เรียนรอด ที่ปรับตัวได้ จำนวนหนึ่งจะต้องเติบโตไปอยู่ในสังคมที่เพื่อนร่วมเจเนอเรชั่นของเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน มีแนวโน้มสร้างปัญหาให้กับสังคมมากกว่าจะได้มาร่วมเป็นเรี่ยวแรง ช่วยกันสร้างสังคมที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ถามว่า แล้วมันจะเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่ง สุขสงบ ปลอดภัย ของคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร?

ปัญหาปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ร่วงสู่หุบเหวแห่งความถดถอย

ปัญหาในอนาคตของไทยคือ ปัญหาของการมีประชากรที่ขาดคุณภาพ ขาดความสามารถในการแสวงหาความรู้ พัฒนาทักษะ อันจะไปบรรจบกับภาวะสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

ผนวกกับภาวะที่ประเทศไทยเกิดการขาดตอนในการบ่มเพาะสะสมทั้งฐานทางองค์ความรู้ ความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน ง่อนแง่น เป็นเหมือนบ้านที่ผุกร่อนต่อเนื่อง ได้แต่ปะผุ ซ่อมแซมกันตามยถากรรม แต่ไม่เคยมีโอกาสลงไปซ่อมที่ฐานรากและโครงสร้างอันเป็นเหตุให้เกิดความผุกร่อนร่อนพังของบ้านในทุกชิ้นส่วน

ปัญหาวิปโยคเมืองที่คงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ไม่อาจแก้ได้ด้วยการมีผู้วิเศษเก่งมากสักคนหรือสองคนมาปัดเป่า

แต่มันเป็นปัญหาที่รอคนไทยเองนั่นแหละว่าอยากจะซ่อมไปที่โครงสร้าง หรือหลับหูหลับตา ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่เห็น แล้วเร้นหลีกตัวเองไปตามมุมที่พอจะปลอดภัยในบ้านที่กำลังผุกร่อนรอวันพังทลายลงนี้ โดยคิดว่า

เออ เราคงตายก่อนบ้านจะพังแหละ หลบๆ เอาตัวรอดไปก่อน คิดเสียว่าเช่าเขาอยู่

อำนาจฉ้อฉลจึงดำรงอยู่ได้เรื่อยมาเพราะเหตุนี้เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0