โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คำ ผกา | อยู่ๆ ไป เดี๋ยวก็ชิน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 08.05 น.
2056คำผกา

ถึงเวลานี้ยังมีใครไม่เชื่อหรือไม่รู้ตัวกันอีกว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

วิกฤตชนิดที่อาจเรียกได้ว่าผุกร่อนรอวันพังทลาย

วิกฤตเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึงอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทิ้งห่างประเทศไทยไปแล้ว

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียก็กำลังจะเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน มากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในกรณีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้น แม้ทั้งสองประเทศจะล้มลุกคลุกคลานในหลายมิติ

แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองประเทศทิ้งประเทศไทยไปไกลอย่างน่าอิจฉาคือ พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารแล้ว

การเมืองอินโดนีเซียหลุดจากระบอบทหาร อำนาจนิยม เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ผู้นำที่เป็นพลเรือน และมีระบบการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

อันเป็นสัญญาณว่าอีกไม่ช้านาน อินโดนีเซียจะเป็นอีกประเทศที่ทิ้งประเทศไทยไว้ข้างหลังได้ไกลมาก

วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากอะไร?

หลายคนอธิบายว่าเกิดจากรัฐบาล “ไม่เก่ง” บริหารเศรษฐกิจของประเทศไม่เป็น แต่ฉันคิดว่า นับแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และยิ่งชัดเจนมากหลังรัฐประหารปี 2557 ว่า orientation หรือแผนแม่บทของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ถ้า orientation ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยหลังปี 2535 เป็นต้นมาคือตลาดเสรีในบริบทไทย นั่นคือกลุ่มทุนผูกขาดไม่ได้ถูกทำลายลง แต่ถูกทำให้หลวมลงมากพอที่จะก่อให้เกิดกลุ่มทุนใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งขันได้บ้าง

ยิ่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พร้อมกับการเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นเหตุให้เรามีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคนั้นสมาทานแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่างเต็มที่ นั่นคือ เน้นการ privatized กิจการรัฐ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบราชการให้กระชับฉับไว

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ในขณะที่ขาข้างหนึ่งสมาทานเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ดูเป็นทุนสามานย์หนักมาก และน่าจะสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง

แต่รัฐบาลในขณะนั้นกลับใช้อีกขาหนึ่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีกลิ่นอาย “รัฐสวัสดิการ” นั่นคือ สร้างระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค จนกลายเป็นโมเดลระบบประกันสุขภาพที่ได้รับการชื่นชมยกย่องไปทั่วโลกว่า ประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย ยังสามารถสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้

พูดอย่างหยาบ orientation ของการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหลังปี 2540 รัฐบาลไม่ได้ทำลายเครือข่ายของทุนผูกขาดคือทุนของชนชั้นนำ ทุนธนาคาร ทุนทหาร (ซึ่งทำให้เป็นปัญหาของการเมืองไทยในเวลาต่อมา)

แต่สิ่งที่ทำเพิ่มคือ เพิ่มศักยภาพ และโอกาสการแข่งขันของนายทุนหน้าใหม่ รวมทั้งเกื้อหนุนทุนขนาดกลางนั่นคือทุน SMEs

ขณะเดียวกันก็ดูแลกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือที่เรียกว่า “รากหญ้า” ด้วยนโยบายที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ประชานิยม” เช่น กองทุนหมู่บ้าน

อีกทั้งแบ่งขาข้างหนึ่งสำรองสิ่งที่เป็นรัฐสวัสดิการ คือ universal public health care กับระบบประกันสังคม

เพื่อให้เป็นเซฟตี้เน็ตของ “แรงงาน”

orientation นี้ถูกชะงักไปหลัง 2549 และถูกถอดทิ้งโดยสิ้นเชิงหลัง 2557 และ orientation ใหม่ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังการรัฐประหารคือการ renovate เครือข่ายทุนผูกขาด ปรับปรุงให้เครือข่ายนี้มั่นคง มั่งคั่ง เข้มแข็งขึ้น

ส่วนทุนเอกชนบางทุนทำให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับรัฐในนามของนโยบาย “พลังประชารัฐ” ทิ้งทุนขนาดกลาง ทุนขนาดเล็ก ให้ค่อยๆ หม่นหมองแห้งเหี่ยวเฉาตายไปเอง

คล้ายต้นไม้ที่เราไม่จำเป็นต้องไปตัดหรือโค่นมันทิ้ง แค่ปล่อยๆ ไว้ทำลืม ไม่รดน้ำ ไม่ให้ปุ๋ย ปล่อยให้โดนแดดฟาด ปล่อยให้โดนน้ำขังไปตามยถากรรม ไม่ช้าก็เร็ว มันก็ยืนต้นตายไปเอง

ส่วน “รากหญ้า” ทั้งหลายสิ่งที่เคยเป็นเครื่องมือ empower ทางเศรษฐกิจ ก็ถูกทำให้กลายเป็นการสงเคราะห์แบบเบี้ยหัวแตก

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายเดียวที่ภาคประชาสังคมช่วยกันยันเอาไว้ได้

ส่วนกองทุนประกันสังคมนั้นก็ลูกผีลูกคน ถ้าเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ ติดต่อกัน บวกกับภาระของสังคมสูงวัย ก็ไม่มั่นใจว่ากองทุนประสังคมจะรอดหรือไม่

ผลของการทำ “เศรษฐกิจ” แบบนี้ผลของมันคือทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแบบที่ฉันคิดว่าใช้คำ “เหลื่อมล้ำ” ก็ยังน้อยไป

เพราะถ้าเหลื่อมล้ำ มันยังให้ความรู้สึกว่า ในประเทศหนึ่งมีคนที่รวยมาก และคนที่จนมาก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองไทย ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำ แต่มันทำให้เกิดภาวะของการที่คนกลุ่มหนึ่งมีสถานะประหนึ่งเจ้าของบ้าน อีกกลุ่มคือทีมเลขาฯ เจ้าของบ้าน

และกลุ่มสุดท้าย และมีเยอะสุดมีสถานะเสมือน แม่บ้าน คนรับใช้ คนสวน คนขับรถ อะไรเทือกๆ นั้นเลย

สําหรับประเทศไทยที่ฉันเห็นตอนนี้เราก็มีคนสามกลุ่ม

คนกลุ่มแรกคือ กลุ่มอภิมหาอภิสิทธิ์ชน คือเครือข่ายชนชั้นนำทางการเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองบนเส้นทางแห่งเผด็จการกับกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง (เจ้าของบ้าน)

กลุ่มที่สอง กลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ยังประคองสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองเอาไว้ได้ อาจด้วยเพราะเป็นแขนขาให้คนกลุ่มแรกในทางใดทางหนึ่งได้รับอานิสงส์ มีเศษเนื้อเศษผักกระเด็นกระดอนลงมาให้บ้าง (ทีมเลขาฯ)

กลุ่มที่สาม ประชาชนคนไทยทั่วไปที่สิ้นสถานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง และถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ถูกปกครอง” ไร้สุ้มเสียง ไร้ปากคำ ไร้ตัวตน ในสายตาของผู้ปกครอง

คนไทยในกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็น “ภาระ” ในการ “ดูแล” และการที่พวกผู้ปกครองอุตส่าห์มาเป็นนายกฯ มาเป็นรัฐมนตรีเพื่อมาดูแลคนเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการเสียสละจะแย่อยู่แล้ว

สิ่งที่ผู้ปกครอง หรือผู้นำประเทศคาดหวังกับคนเหล่านี้คือ ต้องให้ความร่วมมือ, ควรรู้จักพัฒนาตัวเอง ทำงานหนักกว่านี้ จ่ายภาษีมากกว่านี้ ห้ามงอมืองอเท้า

เอะอะมากดดันเรียกร้องจากรัฐบาล – นิสัยยยยย – เลิกปั่นป่วนสร้างความขัดแย้ง หัดช่วยเหลือดูแลตัวเอง ปัญหาฝุ่นพิษ บ่นกันอยู่ได้ ก็ขับรถกันโครมๆ อยากให้ฝุ่นหมดก็เลิกขับรถสิ ทุกปัญหาแก้ได้ เริ่มจากตัวเอง

ไม่ใช่มาโทษรัฐบาล (บริวาร)

ถามว่า orientation ของการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นนี้เกิดจากอะไร?

เด็ก ป.สามก็ตอบได้ว่า เกิดจากการที่ประเทศถูกทำให้เปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นระบอบคณาธิปไตยที่อำนาจทางการเมืองเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในสังคม และพูดอย่างเป็นรูปธรรมในกรณีของเมืองไทยคือการสนธิกันระหว่างอำนาจกองทัพกับกลุ่มทุนผูกขาด

ผลจากการที่อำนาจทางการเมืองไม่ได้เป็นของประชาชน ไม่ใช่แค่เราไม่มีรัฐบาลที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่แค่ผลการเลือกตั้งที่ไม่ตรงไปตรงมา

แต่ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศมันรุนแรงกว่าที่เราคาดเอาไว้เยอะมาก

เช่น ในชั่วเวลาห้าปี ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการดูแล วางแผน เรียกได้ว่าถูกละเลยไปโดยสิ้นเชิง

เรามีวิกฤตขยะพิษ ขยะในทะเล เรามีปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

วิกฤตแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ถูกเพิกเฉยไปอย่างไม่น่าเชื่อ

และทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั้งประเทศ

ไม่นับปัญหาวิกฤตฝุ่น pm 2.5 ที่หนักหนาสาหัส

แต่โฆษกรัฐบาลออกมาบอกว่า “อย่าตื่นฝุ่น” (ฟังแล้วอยากให้โฆษกมาอยู่ที่แยกอโศกโดยไม่ใส่หน้ากากกันฝุ่นสัก 5 ชั่วโมงติดต่อกัน)

พูดกว้างๆ คือ โดยโครงสร้างทางการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในสถานะ “บริวาร” บริวารย่อมคิดได้อย่างเดียวคือ เขายอมให้เราได้อยู่ใต้ร่มไม้ชายคาเขาก็บุญหัวแล้ว

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ถ้าบ้านนี้ไม่ดี ก็ออกไป ถ้าประเทศนี้ไม่ดี ก็ไปอยู่ที่อื่นสิ”

บริวารมีแค่หน้าที่ส่งส่วยตอบแทนบุญคุณ “คณะผู้บริหารประเทศในฐานะเจ้าของประเทศ” และมีหน้าที่สำนึกในบุญคุณ และไม่มีสิทธิตั้งคำถามนอกจากยินดียิ่งแล้วที่เหล่าท่านยอมให้เรามีชีวิตอยู่ ให้เราได้ไถนา ให้เราได้ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ได้มีเวทีลิเก หมอลำ พอให้เพลินๆ

สิ่งเดียวที่คณะผู้นำประเทศทำที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ดูแล” คือ ถ้าบริวารทั้งหลายทะเลาะ จิกตีกัน ดื่มเหล้า เล่นการพนัน มีปัญหาชู้สาว โกงเงินกันเองระหว่างบริวาร

อันนั้นแหละที่เขาจะมีหน่วยดูแลความประพฤติบริวารมาจัดการในนามของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

ในเวลาเดียวกันก็จะจัดตั้งหน่วยบริวาร “ตัวอย่าง” เป็นหน่วยบริวารฟาสซิสต์ ถือศีล กินเจ เข้าวัด เชื่อฟังผู้นำ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน สมถะ มัธยัสถ์ (เป็นแบบนี้จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่เชื่อว่าตนเป็นคนดีจริง) เอาไว้คอยไล่ล่า ฆ่าฟันบริวารคนอื่นที่แตกต่างจากตน

สามารถ mobilized กลุ่มขึ้นมาล่าแม่มด ทำตัวเป็นศาลเตี้ย เอะอะอยากจับคนไปประหาร คนเลวต้องถูกฆ่าทิ้ง คนเนรคุณต้องไม่มีแผ่นดินอยู่ ฯลฯ

ทั้งหมดที่ฉันเขียนมาก็เพื่อจะบอกว่า ระบอบคณาธิปไตยมันส่งผลร้ายต่อเรามากกว่าที่เราคิด

มันไม่ใช่แค่ทำให้เราได้รัฐบาลที่ไร้ความสามารถ คอร์รัปชั่น ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ พูดจาเลวทราม สักแต่ขากถุยใส่ประชาชน หรือมีโฆษกตาแบ๊วมาพูดจาโง่ๆ ดูถูกสมองของประชาชนได้ทุกวี่ทุกวัน แต่ในระยะยาวมันกัดกร่อนเราทั้งจำนวนเงินในกระเป๋าสตางค์ของเรา ทรัพย์สิน ที่ดิน บ้านช่องของเรา สุขภาพทั้งทางกายและใจของเรา

สุดท้าย มันกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ของเราอย่างถึงรากถึงโคน เพราะในภาวะเช่นนี้สิ่งแรกที่จะหายไปคือความสามารถที่จะรักในเพื่อนร่วมสังคมในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันกับเรา

เพราะถ้าเราไม่มองว่าเขาสูงกว่าเรา ก็จะมองว่าเขาต่ำกว่า

สุดท้าย ความรู้สึกของเราที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ก็จะเหลือแค่ “สงสารต้องสงเคราะห์” กับ “กลัวต้องสมยอม” หรืออีกที ก็เกลียดชังสาปแช่ง อยากเข่นฆ่าให้สิ้นซาก

ไม่แปลกใจเลยที่เป้าหมายของคนไทย โดยเฉพาะคนหนุ่ม-สาวจำนวนมากในประเทศนี้คือการหนีออกไป พ่อ-แม่จำนวนไม่น้อยลงทุนเต็มที่กับการศึกษาของลูกเพื่อวางแนวทางให้ลูกได้ไปตั้งรกรากในประเทศอื่น

พ่อ-แม่จำนวนมากส่งลูกไปเรียนต่างประเทศแล้วบอกว่า ถ้าได้งานดีๆ ที่นู่น ไม่ต้องกลับมานะ แล้วพ่อ-แม่จะหาทางย้ายไปอยู่ด้วย

ส่วนคนที่เหลืออยู่และไม่มีที่ไปก็ฝากอนาคตไว้กับความเคยชินเท่านั้น

อยู่ๆ ไป เดี๋ยวก็ชิน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0