โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คำ ผกา | วิบากกรรมนี้ใครรับผิดชอบ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 04.49 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 04.49 น.
คำผกา

เท่าที่ได้อ่านและฟังบางตอนของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. ในการวิจารณ์หนังสือ “กกต. ม.44 เชิงอรรถการเมืองไทย 2556-2561” โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร มีความน่าสนใจหลายอย่าง

นั่นคือ มีการออกตัวว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยอดีต กกต. ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ลุล่วง ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ (จากมุมมองของ กกต.) ม็อบ กปปส.ที่ออกไปชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งย่อมมีภาพเป็นผู้ร้าย

ขนาดตัวเจิมศักดิ์ที่เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม กปปส. มาอ่านหนังสือเล่มนี้เข้ายังรู้สึกว่า กปปส.เลวร้ายกว่าที่คิด

แปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ ตัวเจิมศักดิ์ไม่ได้คิดว่า กปปส.เลวร้าย แต่ความเลวร้ายของ กปปส. เป็นความเลวร้ายที่มองจากมุมมอง หรือ perspective ของคนที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง คือ สมชัย

และสมชัยก็เขียนหนังสือเก่งมาก เขียนเก่งจนทำให้คนอ่านเคลิ้มและคล้อยตามได้

แต่ที่ฉันเห็นว่าน่าสนใจคือตอนที่เจิมศักดิ์พูดถึงบทที่ 21 กับ 22 ของหนังสือ (เขียนตรงนี้ ฉันก็คิดว่า จำต้องไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน และเชื่อว่านี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยที่สำคัญเล่มหนึ่งทีเดียว) ที่สมชัยในฐานะ กกต. ได้บันทึกเทปบทสนทนาการประชุมร่วมเพื่อหาทางออกระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน (ปชป.) กปปส. และ “ทหาร” นำโดยคุณประยุทธ์

ในการเจรจานั้นเราพบว่าฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ทางออกของความขัดแย้งมีทางเดียวเท่านั้นคือ “การเลือกตั้ง”

นัยคือ เมื่อตกลงกันไม่ได้ ก็คืนให้อำนาจให้ประชาชนสิ ไม่เห็นจะซับซ้อน ทีนี้ก็ฟังเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งนี่แหละว่าเขาจะเอาอะไร? เขาจะเอารัฐบาลเพื่อไทยเหมือนเดิม? หรือเขาจะหันไปเลือกฝ่านค้านคือ ปชป. หรือเขาจะเลือก กปปส.? ทั้งนี้ ในการยืนยันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า การเลือกตั้งคือทางออกเดียวและทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนฝ่ายค้านนั้นไม่ยอมรับข้อเสนอเรื่องให้เลือกตั้งใหม่ แต่เสนอว่าตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีความชอบธรรม ต้องมี “รัฐบาลกลาง” ถามว่าเอารัฐบาลกลางมาจากไหน คำตอบคือให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็น “รัฐบาลกลาง”

เหตุการณ์วันที่ 21 จบลงที่ตรงนี้ตกลงกันไม่ได้

วันที่ 22 ซึ่งเจิมศักดิ์บอกว่า เมื่อได้อ่านแล้วทำให้ได้รู้ ได้เข้าใจว่า “เพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถอยให้เยอะมาก” ถอยจนถึงยอมว่าตัวเองจะเป็นรัฐบาลในนาม ส่วนการบริหารบ้านเมืองนั้นให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนไปเลย จนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ

กระนั้นก็ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะอภิสิทธิ์แย้งว่า รัฐบาลก็อาจมีอำนาจสั่งปลัดกระทรวงอยู่ดี

ซึ่งหลังจากนั้นมีคำถามจาก พล.อ.ประยุทธ์ถึงรัฐบาลถึงสองครั้งว่า “จะลาออกหรือไม่?”

เมื่อถึงตรงนี้เจิมศักดิ์บอกว่า ทุกฝ่ายได้พยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว

นั่นคือ กกต.พยายามจัดการเลือกตั้ง

กปปส.ยืนยันภารกิจของตนเอง คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องออก

ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์และเพื่อไทยก็ทำดีที่สุดคือถอยให้ในทุกประการ

ส่วนคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “จะลาออกหรือไม่?” นั้น ฉันไม่แน่ใจว่า เข้าข่ายการทำหน้าที่ของตนเองที่ดีที่สุดในนิยามแบบเจิมศักดิ์หรือไม่?

ฟังดูเผินๆ เหมือนจะดี ฟังดูเผินๆ เหมือนเจิมศักดิ์ได้ถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้วพูดถึงทุกฝ่ายด้วยใจเป็นกลาง ด้วยความเป็นธรรม

แต่คำถามคือ มันมีความเป็นกลางระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิดด้วยหรือ?

นับจากวันที่รัฐบาล ฝ่ายค้าน กปปส. และกองทัพ นั่งเจรจากัน ผ่านไปแล้วเกือบ 6 ปี สังคมไทยสามารถเดินถอยออกมาหลายๆ ก้าว แล้วมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์นั้นด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรมได้หรือไม่?

ระหว่างทางออกของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีคีย์เวิร์ดว่า “การเลือกตั้งเท่านั้นคือทางออก” กับข้อเสนอของ กปปส. ที่บอกว่า ต้องมี “รัฐบาลกลาง” โดยให้วุฒิสมาชิกทำหน้าที่รัฐบาลกลาง

พิจารณาจากสองทางเลือก สองทางออกนี้ ทางออกไหนที่ซื่อตรงต่อหลักการประชาธิปไตยมากกว่ากัน และทางออกไหนที่บิดพลิ้วไปจากหลักการประชาธิปไตย และรังแต่จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ไม่จำเป็น นำประเทศติดหล่ม หาทางออกไม่เจอไปเรื่อยๆ เหมือนเดินอยู่ในเขาวงกต

และหากจะย้อนไปพูดเรื่องอดีตให้เรียบง่ายกว่านั้นก็คือ หากสังคมไทยจะมีปัญหากับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่องการจำนำข้าว ในเรื่องนโยบาย เรื่องคอร์รัปชั่น (ที่ปฏิเสธได้ไหมว่า เป็นปัญหาที่มีในทุกรัฐบาล แต่เรื่องที่เราควรโฟกัสคือ รัฐบาลไหนที่ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบ และรัฐบาลไหนที่รัฐบาลตรวจสอบเอาผิดรัฐบาลไม่ได้เลย) ไปจนถึงเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่แม้ฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลไม่ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แต่ฝ่ายค้านจะต้องเก็บแต้มทำคะแนนของตนเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการเลือกครั้งใหม่ ถึงตอนนั้นมันจะพิสูจน์ว่า ตกลงประชาชนไม่เอารัฐบาลนี้ ไม่เลือกพรรคนี้แล้ว

หรืออีกทางหนึ่งคือ ประชาชนออกมาก่อม็อบ ประท้วงรัฐบาลอย่างหนัก จนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลก็ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน มอบหมายหน้าที่ให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่

เรื่องมันเรียบง่ายเท่านี้! คำถามที่จะถามย้อนกลับไปคือ ทำไมทางออกที่เรียบง่ายและซื่อตรงต่อหลักการประชาธิปไตยแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในวันนั้น!?

ไม่ต้องมาอ้างว่า เลือกตั้งใหม่เดี๋ยวเพื่อไทยก็กลับมาชนะอีก

ชนะอีกแล้วยังไงเล่า? พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้นเขาไปจูงมือคนมากาให้เลือกพรรคเขาหรือ?

กกต.เป็นคนของพรรคเพื่อไทยหรือ?

กลไกราชการ ณ เวลานั้น ทำตามใบสั่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กระนั้นหรือ?

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่เพื่อไทยชนะ มันมีเรื่องบัตรเขย่ง บัตรออกลูก มันมีเรื่อง ส.ส.ปัดเศษ มันมีเรื่องไม่มีใครรู้แน่ชัดในสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างนั้นหรือ

รัฐบาลเที่ยวไปห้ามภาคประชาสังคมไม่ให้สังเกตการณ์เลือกตั้ง แกล้งถ่วงเวลาไม่อนุญาตให้ต่างชาติมาสังเกตการณ์เลือกตั้งอย่างนั้นหรือ?

เท่าที่ฉันรู้ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา เรามีการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ และ กกต.ก็ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้น่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ล่าสุดนี่แหละ-อะแฮ่ม

เวลามันผ่านไปแล้วเกือบ 6 ปี เมื่อย้อนกลับไปอ่าน “อดีต” ฉันอยากจะสรุปว่าขบวนการ กปปส. ม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ นั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความพยายามปฏิรูปประเทศ ปราบคอร์รัปชั่น ต้องการสร้างการเมืองใสสะอาด มีคุณธรรม ศีลธรรม อยากเห็นประเทศชาติได้ดีก้าวหน้าอะไรทั้งนั้น

คนกลุ่มนี้เอาประชาชน เอาประเทศชาติมาเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ที่สั้นมากๆ นั่นคือแค่อยากล้างบางเพื่อไทย ทักษิณ เท่านั้นเอง ชีวิตนี้ไม่ขออะไร ขอแค่เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล ทักษิณและพวกไม่ได้มาเหยียบเมืองไทย ขอแค่นี้

ส่วนจะต้องแลกมาด้วยการแช่แข็งประเทศภายใต้รัฐบาลทหารและการรัฐประหารไม่เป็นไร จะต้องแลกมาด้วยการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ตรวจสอบอะไรไม่ได้ยาวนานถึง 5 ปีไม่เป็นไร

จะต้องแลกมาด้วยการที่ฝ่ายที่ครองอำนาจ 5 ปี มีเวลาในการออกแบบกลไกกฎหมายและการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเองและพวกได้อยู่ในอำนาจต่อ ก็ไม่เป็นไร

จะต้องแลกมาด้วยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ เพราะไม่มีคนเก่งจริงมาบริหารประเทศก็ไม่เป็นไร

หรืออีกทีก็ได้คนที่เก่งในเรื่องการผันเงินภาษีประชาชนไปใส่กระเป๋าเจ้าสัวผ่านโครงการโปรยทานของรัฐ

หนักกว่านั้นหากจะต้องแลกมาด้วยการที่สังคมของเรา สังคมของลูกหลานเราในอนาคตจะต้องพลัดพรากจากหลักการ “ประชาธิปไตย” ไปอีกนานแสนนาน ก็ไม่เป็นไร?

เวลาจะผ่านไปอีกกี่ปี ฉันก็จะถามพวกคนที่ออกไปเป่านกหวีดด้วยคำถามเดิมๆ ว่า ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วจะเอาอะไรอีก?

ทำไมไม่ไปเลือกตั้ง?

อยากให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็ระดมกำลังกันไปโหวตให้ประชาธิปัตย์สิ

อยากให้สุเทพเป็นนายกฯ ก็ช่วยกันไปโหวตให้สุเทพสิ

เวลาจะผ่านไปอีกกี่ปีฉันก็ยังจะยืนยันว่าวิบากกรรมที่เกิดแก่สังคมในทุกวันนี้ ที่เรามีรัฐบาลแบบนี้ ที่เรามีนายกฯ แบบนี้ ที่เรามี ครม.แบบนี้ ที่เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนี้ ที่เวลาและโอกาสของเราและเพื่อนร่วมชาติถูกปล้นไปขนาดนี้ก็เพราะคนที่ออกมาเป่านกหวีดต้องการแค่ความสุขสั้นๆ สะใจที่ทำลายพรรคเพื่อไทย ทำลายทักษิณและพวกตกเป็นเหยื่อของเรื่องเล่าว่าด้วยผีทักษิณ ถูกล้างสมองให้เชื่อว่าประชาธิปไตยที่ดีต้องขาวสะอาดเหมือนผ้าแช่ไฮเตอร์ 24 ชั่วโมง แค่อะรั้ยยยยยย อยู่กับรัฐบาลที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้สักเรื่องเดียวกับไม่พูดไม่บ่นสักแอะ

เดินใบ้แบ๊ะๆ ไปวันๆ เหมือนคนเอาสมองไปฝากธนาคารแล้วลืมเบิกมาใช้

ขอย้ำอีกทีว่า ประเทศไทย สังคมไทย คนไทย ไม่จำเป็นต้องมาเผชิญทางตัน วิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงวิกฤตทางสติปัญญาอย่างซับซ้อนพิสดารอย่างที่เราเผชิญกันในวันนี้

ถ้าในวันนั้นเราเลือกทำตามหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากล นั่นคือเชื่อว่า “การเลือกตั้งคือทางออก” it is just simple like that เลยนะ

สลิ่มศรีศิลปินต่างๆ ที่ร่วมใจกันออกมาเป่านกหวีด เหยียดหยามด่าทอรัฐบาลคนบ้านนอกตั้งแต่สมัยทักษิณ สมัยยิ่งลักษณ์ก็ไม่รู้จะหวนนึกถึงยุคทองของหอศิลป์ TCDC และการมีมิวเซียมอย่างมิวเซียมสยาม อันยุคนั้นมีงบฯ มีโครงการ มีงบประมาณ มีเงินเอานิทรรศการเจ๋งๆ จากเมืองนอกมาแสดงเป็นว่าเล่น

หันกลับมาดูวันนี้ หึหึ หอศิลป์ กทม. จะกลายเป็นอะไรยังไม่รู้ ทุกวันนี้ก็ตายซากยังกะอะไรดี

เขาอยากปลด อยากถอด ผอ. เขาก็ถอด แล้วจะเรียกร้องเอากับใคร ในเมื่อยุคนี้ ใครๆ ก็ไม่มีปากไม่มีเสียง เรียกร้องอะไรให้ใครไม่ได้โดยทั่วหน้าทั่วถึงเท่าเทียม แล้วก็ไม่อยากจะบอกว่า you asked for it กันนะคะซิส!

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 และ 22 พฤษภาคม ปี 2557 ไม่อาจสรุปว่า ทุกคนทุกฝ่ายได้ทำ “งาน” ของตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ว่ามันมา “ชน” กัน

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประโยคนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว

ใช่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ควรลักหลับผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้ว เสนอทางออกที่ตรงกับหลักการประชาธิปไตยทุกประการคือ “เลือกตั้ง”

ณ ตรงนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทำ “หน้าที่” ดีที่สุด นั่นคือรักษาหลักการประชาธิปไตยเอาไว้ คืนอำนาจให้ประชาชน

ตรงกันข้าม สิ่งที่ กปปส.เสนอต่างหากที่ “ผิด” ทั้งเพ เรื่อง “รัฐบาลกลาง” และถามหน่อยว่าเราเชื่อจริงๆ หรือว่า วุฒิสมาชิกนั้นเป็น “กลาง”

ทุกอย่างที่ม็อบ กปปส.ทำ และสิ่งที่หัวหน้าฝ่ายค้านทำคือการดันทุรังปล้นสิทธิ อำนาจออกจากมือประชาชน ถ้าหลังรัฐประหารปี 2549 ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะสาหัส ร่อแร่ อ่อนแอแทบจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง การกระทำของ กปปส.คือการดึงเอาหมอนมาปิดปาก ปิดจมูกคนไข้คนนี้ให้หมดลมหายใจไปต่อหน้าต่อตาและอย่างเลือดเย็น

เป็นวิบากกรรมที่ฉันกล้าพูดว่าคนที่ต้องรับผิดชอบอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อวิบากกรรมนี้คือทุกผู้ทุกนามที่ออกไปเป่านกหวีดในวันนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0