โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คำถามถึง New Dem : ประชาธิปัตย์เลือดใหม่ ทิศทางใหม่ หรือแค่ขุมกำลังอำนาจใหม่ในเหล้าขวดเดิม?

The MATTER

อัพเดต 19 พ.ย. 2561 เวลา 06.40 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2561 เวลา 04.14 น. • Thinkers

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายอย่าง ตั้งแต่การเลือกหัวหน้าพรรค โดยเฉพาะระหว่างฝั่งของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งหลายๆ ฝ่ายก็ลงความเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มของสุเทพ เทือกสุบรรณในพรรคประชาธิปัตย์ และดูจะพยายามคงฐานอำนาจในพรรคไว้ ซึ่งจุดนี้เองก็แสดงให้เห็นถึงมุ้งหรือค่ายทางการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจนที่สุดในระยะราวๆ 5-6 ปีที่ผ่านมา และเมื่อผลการเลือกหัวหน้าพรรคจบสิ้นลงแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ หัวหน้าพรรคยังคงเป็นอภิสิทธิ์เช่นเดิม

นอกจากการที่สมาชิกพรรคซีกของหมอวรงค์ดูจะ 'หายหน้าหายตาไปแล้ว' อีกกระแสหนึ่งที่เกิดตามมาแทบจะในทันทีนั้นก็คือ การเกิดขึ้นขององค์กร 'สมาชิกรุ่นใหม่ของพรรค' ที่เรียกตัวเองว่า New Dem นำโดยพริษฐ์ วัชรสิทธุ หรือไอติม โดยจากคำปราศัยเปิดตัว New Dem ของไอติม ที่บอกว่า New Dem นั้นเป็นองค์กรภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่รวมเอาคนรุ่นใหม่เอาไว้ ทั้งยังจะพยายามเป็นสะพานในการสื่อสารกับคนนอกพรรค รวมถึงทำงานกับคนทุกวัย จะเสนอนโยบายความคิดเห็นให้กับทางพรรค โดยเฉพาะท่าทีที่พวกเขาเรียกว่า 'ก้าวออกจากกรอบ' พร้อมๆ ไปกับรับฟังผู้มีประสบการณ์มาก่อนไปด้วยพร้อมๆ กัน ก็นำมาสู่คำถามหลายประการต่อท่าที บทบาท สถานะ และความเป็นไปได้ขององค์กรคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่าแก่นี้

จุดแรกที่น่าจะยังความไม่เชื่อใจสักเท่าไหร่ที่มีต่อ New Dem ในสายตาของคนที่จับตาท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์มานานนั้นก็คือ ความไม่มั่นใจที่มีต่อสถานะของตัวกลุ่ม New Dem เองว่าแท้จริงแล้วจะมีสถานะอะไรกันแน่? เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่อย่างที่กล่าวอ้างถึงจริงอย่างที่พยายามกล่าวอ้างหรือ? หรือว่าเป็นเพียง 'ฐานกำลังใหม่' ที่มุ้งของอภิสิทธิ์พยายามสร้างขึ้นหลังจากที่ฐานคะแนนเสียงของตนภายในพรรคดูจะถอยร่นลง ดังจะเห็นได้ชัดจากการท้าทายในกรณีหมอวรงค์ ไม่ต้องนับว่าตัวของไอติมเองเป็นหลานของอภิสิทธิ์ด้วย ที่ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยากในการจะหลีกเลี่ยง 'ความต้องสงสัย' ต่อสถานะแบบนี้ในสายตาของหลายๆ คน ในแง่หนึ่งก็เป็นคำถามลักษณะเดียวกับที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแห่งพรรคอนาคตใหม่ต้องตอบนับรอบไม่ถ้วนถึง 'สถานะ' ของตัวเขาซึ่งโยงใยในความสัมพันธ์อา-หลานกับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

กระนั้นผมคิดว่าเพื่อความยุติ ควรจะชี้ให้ชัดว่า การเป็นเครือญาติหรือคนร่วมสกุล สายเลือดเดียวกันนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องมีความเห็นพ้อง หรือกระทั่งรสนิยมทางการเมืองแบบเดียวกัน ละครเลือดข้นคนจางก็ดูจะฉายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ใคร่จะลงรอยกันนักของตัวละครร่วมสายเลือด ในทางการเมืองเอง มรว.เสนีย์ ปราโมช กับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เองก็ไม่ได้ลงรอยกันในทางการเมืองตลอดเวลา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับสุรนันท์ เวชชาชีวะเองก็อยู่ในพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน และล่าสุดอย่างกรณีที่เพิ่งพูดถึงไปอย่างธนาธรกับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจนั้น ในตอนนี้ก็ดูจะชัดเจนแล้วว่ายืนอยู่กันคนละฟากฝั่งในทางการเมือง ฉะนั้นการเป็นเครือญาติกัน มันไม่ได้เป็นเครื่องหมายการค้าของกรร่วมมือเป็นพันธมิตรกันโดยปริยายใดๆ

อย่างไรก็ดี กรณีของไอติมแห่ง New Dem นี้กับอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นคงจะใช้ข้ออ้างในลักษณะเดียวกันกับที่ว่าไว้ไม่ได้เต็มร้อยด้วย เพราะว่า 'ล้วนอยู่พรรคเดียวกัน' หรือหากจะพูดให้ชัดลงไปจริงๆ ไอติมที่ก้าวเข้าสู่สนามการเมืองทีหลังอภิสิทธิ์นั้น ต้องนับว่า 'เลือกเอง' ที่จะอยู่ในพรรคเดียวกันกับน้าชายของเขา ฉะนั้นการจะอ้างว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในทางการเมืองกับอภิสิทธิ์นั้นจึงดูจะเป็นเรื่องที่ลำบากและท้าทายกว่ากรณีข้างต้นหลายเท่านัก ไม่ต้องนับว่าในงานเปิดตัว New Dem เอง อภิสิทธิ์ก็นั่งโต้งๆ อยู่แถวหน้าสุดในงานอยู่แล้วด้วย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติแหละครับ เพราะเป็นการเปิดตัวองค์กรในพรรคเขา แต่พร้อมๆ กันไป 'คำถามต่อเรื่องสถานะ' ของตัวองค์กรนี้ว่าจะเป็น “ผู้ซึ่งมุ่งจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้กับพรรคเก่าแก่นี้” หรือเป็นเพียงหมากตัวใหม่ของอภิสิทธิ์แทนชุดเดิมที่ตนเริ่มคุมไม่อยู่นั้นก็กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ด้วย และสถานะทั้งสองนี้ก็ไม่ได้ดูที่จะพร้อมไปด้วยกันนัก คือไม่ใช่สถานะที่ดูจะเลือก 'เป็นแบบควบกันไป' ได้ เพราะถ้าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับพรรคจริง ก็คงจะยากที่จะทำในสถานะของ 'ตัวหมาก' ใคร

สิ่งที่ดูจะเห็นได้มากที่สุดเท่าที่ผ่านมาจากตัวของไอติม (อย่างน้อยก็ในสายตาของผมเองแล้ว) ก็คือ การพยายามเป็น the better version ของน้าชายตน หรือเป็นอภิสิทธิ์ในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น จุดบอดน้อยลงเท่านั้นก่อนหรือเปล่า

อย่างการอุดจุดอ่อนซึ่งเคยเกิดขึ้นกับตัวน้าชายของตนเอง เช่น เรื่องกรณีเกณฑ์ทหาร ไอติมก็ไปเป็นอาสาสมัครเสียเลย รวมไปถึงการเสนอข้อเสนอต่างๆ ที่บ่อยๆ ครั้งดูจะเป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดของสิ่งที่อภิสิทธิ์เคยพูดไว้ แต่ทิ้งให้เป็นเพียงแค่ลมค้างปาก

พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็นั่นแหละครับมันนำมาสู่อีกคำถามหนึ่งว่า “จะทำได้สักแค่ไหน?” เพราะพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ใช่พรรคที่ขึ้นชื่อลือชา หรือมีเครดิตในฐานะพรรคการเมืองผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ เลย ตรงกันข้าม จุดแข็งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์นั้นดูจะอยู่ที่ “ความพร้อมในการจะเจรจากับอำนาจนำของการเมืองไทยได้ตลอดเวลาและทุกรูปแบบ” เสียมากกว่า และอีกจุดแข็งหนึ่งที่เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2553 ที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลนั้น ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า จุดแข็งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของพวกเขานั้นดูจะยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับสิ่งที่ New Dem กำลังพยายามจะนำเสนอ นั่นก็คือ “การปกปักรักษาสถานะดั้งเดิมของระบอบการเมืองและอำนาจไว้ ไม่ยอมให้ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะตามกรอบหรือนอกกรอบเข้ามาทำให้เกิดขึ้นได้ AT ALL COST” ซึ่ง ไอ้ At All Cost หรือไม่ว่าจะต้องแลกด้วยสิ่งใดที่ว่านี้ มันมีน้ำหนักของมันอย่างมากนะครับ เพราะสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ในการพิสูจน์จุดแข็งนี้ของตนเองนั้นคือชีวิตของคนเกือบร้อยคน และที่บาดเจ็บอีกเป็นพัน

ราคาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยจ่ายเพื่อสร้างเครดิตให้กับจุดแข็งของตัวพรรคเขาว่า 'จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่จะมีต่ออำนาจเก่าให้จงได้' นั้น ดูจะไม่ใช่ราคาที่คนหนุ่มสาว 21 คนจะสามารถลบล้างหรือสร้างเครดิตอื่นอันตรงกันข้ามขึ้นหักล้างได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อคนซึ่งนั่งเก้าอี้สูงสุดในการตัดสินใจ 'สั่งจ่ายและสร้างเครดิต' ในปี 2553 นั้นคือชายคนเดียวกันกับที่นั่งอยู่บนที่นั่งแถวหน้าของงานเปิดตัวองค์กร New Dem เอง ฉะนั้นผมคิดว่ามันจึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรมมากพอ ไม่ใช่แค่จาก 'เหยื่อ' ซึ่งต้องสังเวยไปในฐานะ 'ราคา' ที่ประชาธิปัตย์จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเครดิตแห่งการ 'ปกปักรักษาสถานะของอำนาจนำแบบเดิมไว้' เท่านั้น แต่กับผู้สังเกตการณ์พรรคเก่าแก่นี้ทุกคนด้วยว่า ที่ New Dem ออกมาพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ นานานั้น มันต่างอะไรจาก 'ลมค้างปาก' ของรุ่นก่อนที่เคยเป็นมา? และในกรณีที่คนหนุ่มสาวในพรรคมุ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงนั้น “คุณวางปลายทางของราคาที่คุณต้องจ่ายไว้แค่ไหน?” เพราะราคาที่พรรคที่ New Dem สังกัดอยู่นั้นได้เคยจ่ายไว้มันสูงเหลือเกิน คุณจะมีอำนาจอะไรไปต่อกรกับ 'ความไม่เปลี่ยนแปลง' ในพรรคได้?

กล่าวอย่างถึงที่สุด ผมคิดว่าคำถามสำคัญที่ New Demต้องตอบก็คือ “New Dem พร้อมจะจ่าย at what cost? (หรือราคาเท่าไหร่?)” เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวนอกกรอบที่เสนอกันมา? พร้อมแตกหักกับอภิสิทธิ์และคนในพรรครุ่นเดิมไหม หากพวกเขาดูจะไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างจริงจังเลย? พร้อมจะโหวตสวนมติของพรรคไหม หากได้ไปนั่งในสภาแล้วมติของพรรคนั้นขัดกับแนวทางที่องค์กรของตนเสนอ? หรือกระทั่ง พร้อมที่จะแยกไปตั้งเป็นพรรคใหม่ หรือโหวตให้กับญัตติของพรรคอื่นที่ขัดกับมติของพรรคประชาธิปัตย์ไหม หากญัตติของพรรคอื่นนั้นตรงกับข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงของ New Dem มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์เอง?

นี่แหละครับคือ 'ราคาของความเปลี่ยนแปลง' ที่ผมคิดว่าเราต้องถาม และมีสิทธิจะถามด้วย

เพราะ 'เครดิตในจุดแข็งเรื่องความไม่เปลี่ยนแปลง' ที่ประชาธิปัตย์มีนั้นมันสูงเสียเหลือเกิน และราคาที่มันเคยเลือกจ่ายนั้นแพงและรุนแรงเสียยิ่งกว่า ว่ากันง่ายๆ ภาษาบ้านๆ “องค์กร New Dem เอง จะเคารพความคิดและข้อเสนอของตนเอง หรือข้อเสนอของตัวพรรคประชาธิปัตย์มากกว่ากัน (ในกรณีที่มันไม่ลงรอยกัน)?”

ผมคิดว่าหากไม่คิดและเตรียมใจถึงระดับนี้แล้ว การพูดเรื่อง 'การเปลี่ยนแปลง' ให้กับพรรคประธิปัตย์อย่างจริงๆ จังๆ คงจะเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งในจุดนี้โดยส่วนตัวผมก็ค่อนข้างจะเห็นใจคนรุ่นใหม่ของพรรคอยู่ เพราะโจทย์ที่พวกคุณต้องสู้นั้น ยากกว่าพรรคที่มีเครดิตเรื่องการเปลี่ยนแปลงแต่แรกมาก หรือยากกว่าพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ด้วย แต่เมื่อนี่คือ 'ทางเลือก' ที่พวกท่านเลือกเอง และหากท่านคิดจะพิสูจน์ตัวเองจริงๆ ว่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับพรรคเก่าแก่นี้ โดยไม่ได้เป็นเหล้าใหม่สูตรเดิมในขวดเดิม ก็คงยากจะมีทางอื่น

ผมเข้าใจดีครับว่าการทำงานทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองนั้น ในแง่หนึ่งการสร้างมติหรือความเห็นร่วมในนามพรรคเป็นเรื่องจำเป็น แต่กับกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความทรงจำ มีประวัติศาสตร์ 'ในอักด้านหนึ่ง' อยู่ในตัวมันเองแล้ว การแค่เสนอให้ 'ผู้ใหญ่รับฟังไว้' อาจไม่เพียงพอที่จะเรียกตัวเองว่า 'จะคิดนอกกรอบ' หรือจะเปลี่ยนแปลงหรอกครับ คุณเลือกที่จะอยู่ในหลุมที่อาจจะปลอดภัยต่ออำนาจ แต่ต้นทุนสูง ค่าใช้จ่ายของคุณในการจะท้าทายปรับเปลี่ยนมันก็ย่อมสูงตามไปด้วย

ผมเห็นข้อเสนอทั้ง 21 ข้อที่ทาง New Dem เสนอไว้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกา ที่ผ่านมานะครับ[1] รวมถึงที่ไอติมพูดด้วยว่าคำว่านอกกรอบนั้นคืออะไร กรอบของไอติมคือ “ความคุ้นชินเดิมๆ ที่เราทำอยู่ เราชินกับมัน จนบางครั้งอาจจะไม่รู้ตัว” แต่บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และต้องก้าวออกไป ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยไม่น้อยเลยครับ กระนั้น 21 ข้อที่ว่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า 'ใหม่ หรือนอกกรอบ' อะไรขนาดนั้นนะครับ อย่างเรื่อง E-Sport นี่ กระทั่งประยุทธ์ จันโอชายังเอามาพูดแล้วเลย ผมเองก็ค่อนข้างจะคาดหวังว่า คนที่ประกาศตัวอาสาจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับพรรคที่หยั่งรากลึกในด้านความไม่เปลี่ยนแปลงที่สุดของไทยนั้น จะเสนอข้อเสนอที่มัน 'นอกกรอบ มันกล้า' ได้มากกว่านี้บ้าง บอกตามตรง หากประเมินโดยส่วนตัวก็แอบผิดหวังอยู่บ้างครับ แต่ก็อยากเอาใจช่วยและตามดูต่อไป

อีกเรื่องที่ผมอยากจะบอกกับไอติม และ New Dem นะครับ  (หากได้อ่าน) คือ ผมได้ยินในคลิปวิดีโอตอนเปิดตัวองค์กร ไอติมบอกว่าการที่ผู้ใหญ่ในพรรคอนุญาตให้มีองค์กรอย่าง New Dem ขึ้นมาได้ และพร้อมจะรับฟัง (แต่ไม่ได้แปลว่าจะเห็นด้วย) ข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ในพรรคนั้น มันแสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างและสิทธิเสรีภาพที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะสร้างขึ้น ผมอยากจะอธิบายไอติมอย่างนี้นะครับ ว่า “แค่นี้คงไม่สามารถเรียกได้ว่าเปิดกว้าง หรือมีเสรีภาพอะไร” ขนาดที่ไอติมว่ามาหรอกครับ

สลาวอย ชิเช็ก (Slavoj Zizek) เคยอภิปรายประเด็นของสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพและความเปิดกว้างอะไรพวกนี้อย่างน่าสนใจไว้อยู่ครับ คือ ไม่ใช่ทุกๆ การแสดงความคิดเห็น ทุกๆ การแสดงออก ทุกๆ การตั้งคำถามมันจะนับว่าเป็น 'เสรีภาพ' ได้หรอกนะครับ อย่างถ้าผมตั้งคำถามขึ้นว่า “ห้องน้ำไปทางไหนครับ?”, ผมเสนอข้อคิดเห็นว่า “เราควรให้ผู้ชายได้ใส่กระโปรงบ้างครับ หรือได้มีโอกาสเข้าถึงเสื้อผ้าแบบอื่นๆ นอกจากรูปแบบเดิมๆ บ้างครับ”, หรือการที่ผมแสดงออกด้วยการกลอกตาบนเมื่อผมเห็นหน้าคนที่ผมไม่ชอบนัก อะไรแบบนี้ มันไม่ใช่เสรีภาพโดยตัวมันเองเสียทีเดียวนัก แต่ใช่ครับ สิ่งเหล่านี้มัน 'กระทำขึ้นได้ก็เพราะมันอยู่ในขอบเขตของสิทธิเสรีภาพ' แต่ไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่หรือกลไกของเสรีภาพจริงๆ เพราะเป็นเพียงพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำได้แล้วตั้งแต่ต้นก่อนเราจะเริ่มทำมัน

หากอยากจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของเสรีภาพและความเปิดกว้างของชุมชนการเมืองนั้นๆ จริงๆ แล้วล่ะก็ คุณไอติมต้องพุ่งชนเข้ากับ 'พรมแดนหรือขอบเขตของเสรี' นั้นครับ ว่า ณ จุดที่เป็นพรมแดนของ 'กรอบ' นั้น เรายังได้รับการยินยอมให้ทำได้หรือไม่

พูดอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่การตั้งองค์กรที่ชื่อ New Dem ขึ้นมา ในพรรคเก่าคร่ำครึที่มี 'กรอบ' อันหนาแน่น แล้วเสนอนโยบายยี่สิบกว่าข้อโดยคนหนุ่มสาว แล้วตะโกนแว้ดๆ ว่า “จะเปลี่ยนแปลงๆ จะนอกกรอบๆ” แล้วมันจะแปลว่า เขาให้เสรีภาพกับคุณ เขาเปิดกว้างกับคุณ เพราะตัวคุณและองค์กร New Dem อะไรนี้ ไม่ได้ไป 'ท้าทายตัวกรอบ หรือพรมแดนของเสรี' ที่พรรคคุณมีเลย คุณเพียงเข้าไปวิ่งเล่นในพื้นที่ที่เขาขีดเส้นให้วิ่งเล่นได้อยู่แล้วแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนคุณจะตั้ง New Dem นี่ขึ้นมาแล้วครับ นั่นจึงไม่ใช่บทพิสูจน์การเปิดกว้างและเสรีภาพอะไรใหม่ๆ ที่คุณอ้างมาเลย

ผมแนะนำอย่างนี้นะครับ หากไอติมอยากแสดงให้เห็นจริงๆ ถึงความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ พิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นเพียงหมากตัวใหม่ที่มาแทนกลุ่มเดิมที่ต้องถูกชำระล้าง และอยากจะแสดงให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่ของเสรีภาพใหม่ๆ โดยแท้แล้ว คุณเริ่มต้นจากการ “วิจารณ์นโยบาย, พฤติกรรม, อดีตการกระทำ, ฯลฯ ต่างๆ ของพรรคคุณ ผู้ใหญ่ในพรรคคุณเอง รวมถึงหัวหน้าพรรคของคุณ” ในนามสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 'อย่างวิพากษ์' (Critically) ดูสิครับ และหากพรรคไม่ว่าอะไรคุณ พรรคยินดีให้คุณทำได้ นั่นต่างหากคือการสะท้อนให้เห็นว่า 'คุณกำลังไปแตะที่เส้นพรมแดนของเสรี หรือกรอบ' ของพรรคคุณแล้ว และขยายให้ขอบเขตของเสรีมันกว้างขึ้นจริงๆ และความหวังที่จะเห็นประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงในรุ่นพวกคุณอาจจะเกิดขึ้นจริงได้

ถ้าแค่เสนอนโยบายยี่สิบสามสิบข้อ ใครก็ทำได้ครับ ประเทศไทยมีเรื่องควรแก้ ควรด่านับข้อไม่ถ้วน ให้เขียนด่าเขียนเสนออีก ร้อยข้อพันนโยบายก็ทำได้หมด หาก New Dem อยากพิสูจน์ตนเองจากคำถามเหล่านี้ อยากมีที่ยืนทางการเมืองของตนเองโดยแท้จริง ก็ลองพิจารณาสิ่งที่ผมอภิปรายอย่างจริงจังดูนะครับ ผมยอมรับว่าโจทย์ของพวกคุณและเงื่อนไขที่พวกคุณเจอในการพิสูจน์ตัวเองนั้นมันยาก ยากยิ่งกว่าพรรคอื่นๆ ทั้งหมด แต่ก็นั่นแหละ 'คุณเลือกของคุณเอง' ฉะนั้นภาระในการพิสูจน์ตัวเองมันอยู่ที่พวกคุณ ไม่ใช่ใคร

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] โปรดดู www.facebook.com/NewDemTH

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0