โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คำต่อคำ สรพจน์ เตชะไกรศรี “ผมไม่เคยคิดขาย ดีน แอนด์ เดลูก้า ในอเมริกา แม้ซื้อกิจการมา 5 ปี จะขาดทุนตลอด”

Marketing Oops

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 05.15 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 12.39 น. • Lupang
คำต่อคำ สรพจน์ เตชะไกรศรี “ผมไม่เคยคิดขาย ดีน แอนด์ เดลูก้า ในอเมริกา แม้ซื้อกิจการมา 5 ปี จะขาดทุนตลอด”

“ผมไม่เคยคิดขาย ดีน แอนด์ เดลูก้า ในอเมริกาเลย แม้ตั้งแต่ซื้อกิจการมา 5 ปี จะขาดทุนสะสมมาตลอด เพราะยังเห็นโอกาสที่จะพลิกกลับมาได้ เนื่องจากแบรนด์อยู่มานานกว่า 40 ปี เป็นที่รู้จักของคนอเมริกา ดูแค่เราปิด 2 สาขา ยังได้ลงหน้า 1 นิวยอร์กไทม์ส ขณะที่แบรนด์อื่นปิดเป็นร้อย ยังไม่มีข่าวเลย”

เป็นคำตอบของ ‘สรพจน์ เตชะไกรศรี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ถึงอนาคตของกรูเมต์ระดับตำนานแบรนด์นี้ในอเมริกา ซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องทางด้านการเงินที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ ณ ขณะนี้  

‘สรพจน์ เตชะไกรศรี’ CEO บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)
‘สรพจน์ เตชะไกรศรี’ CEO บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)

ส่วนที่มาของปัญหาดังกล่าว มาจากการเปลี่ยนแปลงในช่วง 4-5 ปี ของตลาดรีเทลทั่วโลก รวมถึงอเมริกาที่ตลาด Grocery Store มีการขายอาหารพร้อมทานมากขึ้นและมีพื้นที่ให้นั่งทาน บวกกับผู้บริโภคชาวอเมริกันหันไปซื้อสินค้าและอาหารทางออนไลน์มากขึ้นถึง 30% ทำให้ร้านต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ

เดินหน้า Downsize ธุรกิจ หยุดเลือดไหล

ที่ผ่านมา ทาง สรพจน์ ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่อง ‘ขาดทุน’ ของดีน แอนด์ เดลูก้า ในอเมริกาหลายวิธี อาทิ การเปิดสาขาใหม่ เพื่อหวังยอดขายในส่วนนี้ไปช่วยการลดการขาดทุน ฯลฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนขาดทุนสะสมมากขึ้น จากปี 2557 ที่ซื้อกิจการ ดีน แอนด์ เดลูก้า ขาดทุนอยู่ที่ 11 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้เพิ่มเป็น 158 ล้านดอลลาร์

“เราพบว่า ไม่ว่าจะดำเนินอย่างไร แต่หาก Fix Cost ด้านการบริหารต่าง ๆ ที่คิดเป็นสัดส่วน 70% ของตัวเลขขาดทุนยังอยู่ การทำให้เลือด ‘หยุดไหล’ เป็นไปได้ยาก ดังนั้น เรากลับมาวางแผนใหม่ด้วยการ Downsize ธุรกิจ เพื่อลด Fix Cost ลง”

การ Downsize  ที่ว่า เริ่มตั้งแต่เตรียมย้ายครัวกลาง และคลังสินค้า จากเคยอยู่คนละเมืองให้มารวมศูนย์อยู่ที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก

รวมไปถึงการเดินหน้าปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร โดยตั้งเป้าจาก 6 สาขาในปัจจุบันให้เหลือไม่เกิน 4 สาขาภายในปีนี้ และมีเพียงสาขาเดียว ได้แก่ ‘โซโห’ สาขาต้นกำเนิดที่เปิดดำเนินการมากว่า 40 ปีที่ยังคงคอนเซปต์เดิมไว้ ส่วนสาขาอื่น จะถูกเปลี่ยนมาอยู่ในคอนเซปต์ใหม่ นั่นคือ Stage ตอบโจทย์ มีพื้นที่ร้าน 100-200 ตร.ม. เมนูที่ขายจะเน้นกาแฟ , แซนวิช และสลัด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเร่งรีบของคนยุคนี้

หากเป็นไปตามแผน จะลด Fix Cost ได้กว่า 50% และจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ว่า จะหยุดการขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจในอเมริกาให้ได้ภายในสิ้นปี 2562 จากนั้นถึงจะเริ่มมองการขยายสาขาต่อ ซึ่งจากนี้จะเน้นขยายในคอนเซปต์ Stage และเป็นรูปแบบของแฟรนไชส์ เป็นหลัก

ขณะที่ ปัญหาการติดหนี้มูลค่าหลายแสนเหรียญสหรัฐกับบริษัทคู่ค้าในอเมริกานั้น จะทยอยแก้ปัญหาให้เสร็จ ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ปรับโครงสร้างบริษัท บุกตลาดเอเชีย

แม้ภาพธุรกิจในอเมริกา ประเทศต้นกำเนิดของดีน แอนด์ เดลูก้า จะไม่สดใสนัก แต่ในไทยและเอเชีย ภายใต้การดูแลของ บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กลับเติบโตได้ดี โดยช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำรายได้รวมไป 630 ล้านบาท มีกำไร 115.23 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.3%

ดังนั้น เพื่อให้โฟกัสและทุ่มกำลังได้ถูกจุด จึงได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทในการดูแลธุรกิจ โดย บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า อิงค์ จำกัด จะดูแลธุรกิจในอเมริกา ส่วน บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด จะดูแลธุรกิจในเอเชีย รวมถึงไทย

แฟรนไชส์’ คืออนาคต

“ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาผิดวิธี เอาที่กำไรไปอุดที่ขาดทุน แต่ตอนนี้ทุกอย่างจะแยกกันชัดเจน และเราพยายามให้สิทธิ์แฟรนไชส์มากขึ้นกว่าจะขยายเอง เพราะวิธีนี้ช่วยให้เราไม่ต้องใช้เงินลงทุนของตนเอง ช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะ 1-2 ปีที่เรามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งเรายังได้รายได้ 2 ทาง ทั้งค่าแฟรนไชส์ และค่าซัพพลายสินค้าต่าง ๆ  ด้วย”

ตามแผนในปีนี้ ในไทยจะมีการขยายทั้งหมด 5 สาขา ซึ่ง 3 สาขา ทางเพซจะขยายเอง ได้แก่ สินธรวิลเลจ หลังสวน , สามย่านมิตรทาวน์ และสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่ง ส่วนอีก 2 สาขา คือ ภูเก็ต เป็นการให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับ ‘Sky 19’ ที่รับสิทธิ์แฟรนไชส์ใน 4 จังหวัดคือภูเก็ต กระบี่ พังงา และสมุย

รวมไปถึงยังได้มีการเซ็นสัญญาให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับ ‘ลากาแดร์’ บริษัท travel retail จากฝรั่งเศส ในการขยาย ดีน แอนด์ เดลูก้า ตามสนามบินต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย

นอกจากนี้ภายใน 2-3 ปี จะเดินหน้าขยายสิทธิ์แฟรนไชส์ไปใน 5 ประเทศ ที่มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจน่าสนใจ ได้แก่ ฮ่องกง , อินเดีย , จีน ,อินโดนีเซีย และไต้หวัน โดยตั้งเป้าว่า ในอีก 5 ปี ดีน แอนด์ เดลูก้า จะมีสาขาทั้งหมด 150 แห่ง จากตอนนี้มีอยู่ 77 แห่ง ใน 12 ประเทศ

แม้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่จะรุนแรง แต่ ทาง สรพจน์ เชื่อว่า ด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่งและอยู่มานานกว่า 40 ปี บวกกับคุณภาพของสินค้าและการพลิกเกมครั้งนี้ จะทำให้ ‘ดีน แอนด์ เดลูก้า’ เติบโตได้แน่นอน

อ่านบทความทั้งหมด ที่ MarketingOops.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0