โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ผู้นำสตรีกับพลวัตรการขับเคลื่อนองค์กรภาคธุรกิจในบริบทของตลาดทุนไทย"

Wealthy Thai

อัพเดต 16 ก.พ. เวลา 12.25 น. • เผยแพร่ 30 เม.ย. 2564 เวลา 09.06 น. • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โลกในปัจจุบันกำลังถูกท้าทายอย่างมากด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity: VUCA) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันซึ่งจะนำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว สร้างคุณค่าให้แก่กิจการและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้คณะกรรมการสามารถขับเคลื่อนองค์กรก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จได้ คือ การมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย หรือ board diversity ที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร[1] ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ คุณลักษณะเฉพาะด้าน รวมทั้งเพศและอายุ เนื่องจาก board diversity จะช่วยให้คณะกรรมการในองค์รวมมีมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันที่เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น[2]
ความหลากหลายของคณะกรรมการที่ได้รับความสนใจในระดับสากลประเด็นหนึ่ง คือ ความหลากหลายทางเพศ หรือ gender diversityซึ่งสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ) และ La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth (2019 - 2030) ในประเด็นการได้รับโอกาสเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้นำในระดับที่มีการตัดสินใจ
โดยผลวิจัยจากหลายหน่วยงานระบุว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่มีความหลากหลายทางเพศจะช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทได้[3] นอกจากนี้ รายงานของ UNDP[4] ชี้ว่า บริษัทที่คณะผู้บริหารที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย และผลการศึกษาที่ทำร่วมกันของ DDI,[5] the Conference Board และ Ernst & Young (EY)[6] ระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนของสตรีในระดับผู้นำจะทำให้บริษัทมีผลกำไรเติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 1.4เท่า
สำหรับประเทศไทยเองนับว่ามีจุดแข็งในเรื่องการให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี โดยผลวิจัยของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC)รายงานว่า คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทยมีสัดส่วนกรรมการที่เป็นสตรีที่ร้อยละ 20.4 ซึ่งสูงที่สุดในประเทศอาเซียน (ค่าเฉลี่ยของอาเซียน คือ ร้อยละ 14.9)
อย่างไรก็ดี IFC มีข้อสังเกตว่า หากบริษัทแต่งตั้งสตรีเป็นกรรมการเพียงเพื่อให้ได้สัดส่วนกรรมการสตรีตามที่ผู้ลงทุนคาดหวังหรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ บริษัทจะไม่ได้รับประโยชน์จากการมีมุมมองของสตรีในคณะกรรมการอย่างเต็มที่ ขณะที่ตามทฤษฎีมวลวิกฤติ หรือ critical mass theory[7] พบว่า การที่บริษัทมีกรรมการสตรีอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จะเป็นสัดส่วนเริ่มต้นที่ทำให้กรรมการสตรีกล้าแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง ตรงไปตรงมา และนำไปสู่การหารือร่วมกันของคณะกรรมการให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้น หากบริษัทเพิ่มจำนวนกรรมการสตรี โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นเป็นหลัก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร
แม้บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีความโดดเด่นมากในเรื่อง gender diversity เมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน แต่การให้ความสำคัญและการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ผู้นำองค์กรที่เป็นสตรีมีบทบาทอย่างแท้จริงในการร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าทันและยั่งยืน เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้าม โดยคำนึงถึงแต่เพียงสัดส่วนของผู้นำสตรีเท่านั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแห่งการระลึกถึงการเสริมสร้างพลังสตรี (women empowerment)[8] จึงได้จัดงาน Women CEO Dialogueโดยมีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริหารระดับสูงสุดที่เป็นสตรีของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้งานดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกในการขับเคลื่อนการเพิ่มบทบาทสตรี ในองค์กรธุรกิจในตลาดทุนอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นแกนกลางในการนำข้อเสนอเรื่องการเสริมสร้างบทบาทสตรีให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงและกรรมการไปผลักดันให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจะร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดันการเพิ่มจำนวนกรรมการสตรีในตลาดทุน และสอดรับกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guideline Principles on Business and Human rights: UNGPs)ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน อันจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยในระดับสากล

****************************

[1] ตามแนวปฏิบัติของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code)
[2] J. Wingard, ‘Diverse Boards Propel Successful Companies - Three Strategies To Expand Pipelines’, Forbes, 21 February 2019.
[3] International Finance Corporate, ‘Board Gender Diversity in ASEAN’, 2019.
[4] United Nations Development Programme, ‘Gender Diversity and Inclusion for a Fair Business Environment’, 2021.
[5] Development Dimensions International, Inc. หรือ DDI เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ผู้นำ การบริหารผู้มีศักยภาพสูงในองค์กร และกลยุทธ์การสืบทอดตำแหน่ง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
[6] บทความ Global Leadership Forecast 2018 ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศ (gender diversity demographic data) ของ 2,400 องค์กร จาก 54ประเทศ
[7] collective action สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ร่วมขบวนการมีจำนวนมากเพียงพอ (critical mass) หรือผ่าน threshold ที่เป็นจุดทำให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม (P. Oliver, G. Marwell, and R. Teixeira, ‘A Theory of the Critical Mass. I. Interdependence,
Group Heterogeneity, and the Production of Collective Action’, American Journal of Sociology, vol. 91 no. 3, 1985, p. 522 – 556.)
[8] วันสตรีสากล (International Women’s Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0