โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คาดมูลค่าการส่งออกทั้งปีนี้ จะขยายตัวที่ 7.5%

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Financials

เผยแพร่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 15.30 น.

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ มูลค่าการส่งออกไทยเดือน เม.ย. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 12.3%YOY (งบปีนี้เทียบกับงบปีก่อน) นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 39%YOY และ 20.4%YOY ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 23.9%YOY และ 4.2%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวได้ที่ 9.8%YOY จากการส่งออกผักและผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ที่ขยายตัว 50.7%YOY และไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ขยายตัว 12.4%YOY รวมถึงการส่งออกข้าวและมันสำปะหลังที่ขยายตัวได้สูงจากผลของราคา อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางพาราและน้ำตาลยังหดตัวลงที่ 12.3%YOY และ 35.8%YOY ตามลำดับ อันเนื่องมาจากราคาในตลาดโลกที่ตกต่ำ ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 11.5%YOY

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังเติบโตได้จากตลาดอื่นๆ ด้านการส่งออกเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไปยังสหรัฐฯ หดตัว 30.1%, 42.7% และ 3.3% ตามลำดับ อันเนื่องมาจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (safeguard tariff) อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าดังกล่าวในภาพรวมยังสามารถเติบโตได้ที่ 8.4%, 3.5%, และ 20.6% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ส่งออกสามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นนอกจากสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับสินค้าเหล็กได้รับผลกระทบเพียงบางรายการ

มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 20.4%YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 60.7%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 36.6%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัว 18.1%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 17.2%YOY ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทำให้การค้าขาดดุล 1,283 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเม.ย.

อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 7.5% โดยเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดีในปี 2018 จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2018 อยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 28%YOY ในขณะที่ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยยังมีค่อนข้างจำกัด และสามารถชดเชยด้วยการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่านโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

เงินบาทอ่อนค่าลงลดแรงกดดันต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทของไทยในช่วง 4 เดือนแรกเติบโตเพียง 0.6%YOY แม้มูลค่าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะเติบโตได้สูง เป็นผลมาจากเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าในช่วงดังกล่าวถึง 9.9%YOY จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีการอ่อนค่าลงราว 3%MOM นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้แรงกดดันต่อรายได้เงินบาทของผู้ส่งออกไทยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ทั้งนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินบาทมีสาเหตุมาจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีและทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงตัวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม อีไอซีประเมินว่าเงินบาทยังมีความผันผวนซึ่งรวมถึงโอกาสในการกลับมาแข็งค่าจากหลายปัจจัย อาทิ ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินโลกที่อาจส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาอ่อนค่า และปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง

อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 12.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวสูงจะมีส่วนทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้ลดลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0