โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คาดตลาดอาคารชุดปีนี้หดตัว12-16% ชะลอในรอบ2ปี

Money2Know

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 11.13 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
คาดตลาดอาคารชุดปีนี้หดตัว12-16% ชะลอในรอบ2ปี

ตลาดอาคารชุดในปี 2562 เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า จำนวนอาคารชุดเปิดขายทั้งปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 61,000 – 64,000 ยูนิต หรือ หดตัวลงประมาณ 12-16%จากปี 2561 โดยเป็นการกลับมาชะลอตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560

  • ปี 2562 ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมไปถึงปัจจัยเฉพาะตัวทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งรายได้ ชะลอการซื้อที่ดินเพิ่มเติม และเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าท่ีมีความต้องการซื้อ เพื่ออยู่อาศัยจริงมากขึ้นเพื่อที่จะลดความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้ของตน
  • สถานการณ์การชะลอตัวดังกล่าวรวมไปถึงทิศทางการปรับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการประกอบกับแนวโน้มที่จะเกิดการหดตัวในบาง Segment ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจำนวนอาคารชุดเปิดขายทั้งปี 2562 จะอยู่ท่ีประมาณ 61,000 – 64,000 ยูนิต หรือ หดตัวลงประมาณ 12-16% จากปี 2561 โดยเป็นการกลับมา ชะลอตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี2560
  • อย่างไรก็ดียังคงมีความต้องการที่สอดคล้องกับโอกาสในการซื้ออาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยสะท้อนจากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า 77% ของผู้ที่มีความสนใจซื้ออาคารชุดในปี 2562- 2563 มีความสนใจซื้อ เพื่อไว้ใช้ อยู่อาศัยจริงขณะที่มีเพียง 23% มีความสนใจซื้อเพื่อการลงทุนโดยอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

สัดส่วนอาคารชุด
สัดส่วนอาคารชุด

ปี 2562 นี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับการทำตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน รวมไปถึงปัจจัยเฉพาะตัวของธุรกิจอาคารชุดเองอาทิ จำนวนผู้บริโภคที่ความต้องการซื้อถูกดูดซับไปแล้วจากฝนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณอาคารชุดค้างขายที่มีเหลืออยู่ในหลายระดับราคา ความไม่สมดุลระหว่างความสามารถในการซื้อและราคาอาคารชุดที่เปิดตัว รวมไปถึงกฏระเบียบและกฏหมายต่างๆ เช่น นโยบายกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ประกาศไปเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งอาจมีผลกระทบโดยตรงกับผู้ที่ซื้ออาคารชุดมาเพื่อลงทุนปล่อยเช่า ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสำคัญกับการปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้นในปี 2562  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจอาคารชุดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงความต้องการซื้ออาคารชุดในปี 2562 ดังนี้

ทั้งนี้แม้ว่าเครื่องชี้ธุรกิจอาคารชุดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อาทิ จำนวนการเปิดตัวอาคารชุดอาจสะท้อนภาพบวกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาโดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 4.3% แต่ถ้าพิจารณาในส่วนของกิจกรรมการซื้อกลับพบว่ามีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง  สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนการจองซื้ออาคารชุดเปิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 0.5% แสดงให้เห็นถึงความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่น้อยกว่าความต้องการขาย (อุปสงค์น้อยกว่าอุปทาน)

นอกจากนี้จากข้อมูลของ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด แสดงให้เห็นว่าที่อยู่อาศัยค้างขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล(ทั้งที่สร้างเสร็จและกำลังก่อสร้าง)ณ สิ้นปี 2561 มีจำนวนประมาณ 1.8 แสนหน่วย ในจำนวนนี้มีอาคารชุดสูงถึง 41% หรือคิดเป็นประมาณ 74,000  ยูนิต โดยพื้นที่ที่มีจำนวนอาคารชุดเหลือขายสะสมหนาแน่น ได้แก่ บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วง สมุทรปราการ และปทุมธานีเป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมยังพบว่า ระดับราคาอาคารชุดที่มีจำนวนเหลือขายสูงสุดได้แก่ อาคารชุดราคาต่ำกว่า 2ล้านบาท โดยมีสัดส่วนสูงถึง 38% ตามมาด้วยอาคารชุดราคาระหว่าง 2-3 ล้านบาท ที่สัดส่วน 28%

วัตถุประสงค์ซื้ออาคารชุด
วัตถุประสงค์ซื้ออาคารชุด

จากสถานการณ์ข้างต้นกอปรกับปัจจัยแวดล้อมธุรกิจปี 2562 ที่ท้าทายมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการทำธุรกิจบนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เห็นได้จากแผนธุรกิจประจำปี 2562 ของกลุ่มผู้พัฒนาอาคารชุดหลายรายที่สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ ชะลอการซื้อที่ดินเพิ่มเติม หลังจากที่ได้มีการซื้อที่ดินเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยังมีที่ดินรอพัฒนาอยู่ในพอร์ตของตนสูง รวมไปถึงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดต้นทุนแฝงในการครอบครองที่ดินได้การปรับลดจำนวนการเปิดโครงการประเภทอาคารชุด

โดยผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะชะลอการเปิดโครงการประเภทอาคารชุดในปี 2562 เพื่อระบายโครงการค้างขายที่ยังสูงอยู่ในขณะนี้ และเพิ่มสัดส่วนโครงการแนวราบทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดมากขึ้น นอกจากนี้การชะลอตัวของตลาดยังสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของรายได้ ส่งผลให้ในปีนี้ผู้ประกอบการเลือกให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำจากธุรกิจประเภทอื่น (Recurring Income)อาทิ รายได้จากการรับจ้างบริหารโครงการ การเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรม นำอาคารชุดเหลือขายมาปล่อยเช่าเอง เป็นต้น รวมไปถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงมากขึ้น(Real Demand) เพื่อลดความเสี่ยงจากการหดตัวลงของกลุ่มลูกค้านักลงทุนที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

จากผลสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดในปี 2562-2563 กว่า  77% มีวัตถุประสงค์ในการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่ 23% สนใจซื้อเพื่อปล่อยเช่าหรือขายทำกำไร

โดยมีข้อสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจอาคารชุดที่มีราคาต่ำกว่า 3.0 ล้านบาท อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอกและปริมณฑล อาทิ พระขโนง แบริ่ง ปากเกร็ด และปทุมธานี เป็นต้น

ในสถานการณ์ที่ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดเหลือขายสะสมสูงส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งทำโปรโมชั่นทางการตลาด อาจถือเป็นโอกาสทองของผู้บริโภคที่มีความสนใจซื้ออาคารชุดเนื่องจากมีสินค้าค้างขายให้เลือกในหลายระดับราคา ประกอบกับจำนวนโครงการเปิดใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดในปี 2562 ทำให้ผู้บริโภคหลายๆกลุ่มมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ

กลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง อย่างไรก็ดีเนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยจัดว่าเป็นหนี้สินระยะยาว ดังนั้นผู้บริโภคควรที่จะตระหนักถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนในระยะยาวมากกว่าที่จะตัดสินใจจากโปรโมชั่นทางการตลาดเพียงอย่างเดียว โดยอาจพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายปลีกย่อยในการครอบครองอาคารชุดที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าส่วนกลาง หรือแม้กระทั่งค่าตกแต่งเฟอนิเจอร์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อหาความสามารถในการผ่อนชำระที่แท้จริงของตนเอง

กลุ่มผู้ที่สนใจซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นจากปัจจัยกดดันต่างๆอาทิ เงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงขึ้นโดยเป็นผลจากนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (LTV) ที่กำหนดให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2  จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์จาก 10% ของราคาที่อยู่อาศัย เพิ่มเป็น 20% หรือ 30% ขึ้นอยู่จำนวนสัญญากู้ที่อยู่อาศัยที่เหลืออยู่ หรือกล่าวได้ว่าผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนในอาคารชุดจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่มากกว่าเดิมถึง 2-3 เท่าตัว

ผลกำไรจากการให้เช่าอาจไม่ได้สูงเหมือนในอดีต จากจำนวนอาคารชุดปล่อยเช่าที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน รวมถึงอาคารชุดค้างขายบางส่วนที่ถูกผู้ประกอบการนำมาปล่อยเช่าเองเพื่อสร้างรายได้ประเภทRecurring income ทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นในธุรกิจให้เช่าอาคารชุดเนื่องจากผู้เช่ามีตัวเลือกและอำนาจการต่อรองที่สูง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลทำให้กำไรจากการปล่อยให้เช่าหลังหักค่าใช้จ่าย(Netyield) ไม่สูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักลงทุนมีต้นทุนทางการเงินที่สูง ก็อาจจะทำให้ช่องว่างระหว่างผลตอบแทนกับต้นทุนทางการเงินแคบ จนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

อีกทั้ง Capital gain ที่สูงแค่เพียงในบาง segmentรวมไปถึงระยะเวลาในการขายต่อที่อาจต้องใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาจเกิดค่าเสียโอกาสได้หากผลตอบแทนที่ได้ไม่เป็นตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มมีการจัดเก็บในเดือนมกราคม 2563 ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนอาจนำมาพิจารณาเพื่อหาต้นทุนในการปล่อยเช่าที่แท้จริง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0