โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“หนีดอกเบี้ยต่ำ” ครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิ “กอง FIF”…โฟกัส “กองหุ้นจีน” & “กองหุ้นโลก” เป็นเป้าหมายหลัก !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 31 ก.ค. 2566 เวลา 23.47 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2564 เวลา 16.50 น. • สรวิศ อิ่มบำรุง

ช่วงครึ่งแรกของปี2021 ไทยยังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง แต่อุตสาหกรรม “กองทุนรวม” ของไทยก็ยังคงเติบโตได้ 4.8% จากสิ้นปี20 มีสินทรัพย์สุทธิทะยานแตะ 5.3 ล้านล้านบาท
โดยในไตรมาสที่2 ที่มีการระบาด “ระลอก 3” นั้น อุตสาหกรรมกองทุนรวมยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าในกลุ่ม “กองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF)” เป็นหลัก
วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีแรกจากทาง Morningstar” มาอัพเดทกัน

ครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 9.3 หมื่นล้านบาท…คาดสัดส่วน ‘กองหุ้น’ มีโอกาสแซงหน้า ‘กองตราสารหนี้’ ได้ปีนี้

จากข้อมูลของ “บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)” ระบุว่า “กองทุนรวมไทย” (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก หรือ 5.4% จากสิ้นปี20 จากการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือต่างกันราว 1 แสนล้านบาท โดยในรอบครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 9.3 หมื่นล้านบาท
“กองทุนหุ้น” มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าเดือนธ.ค.20 ราว 20% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้า ‘กองทุนหุ้น’ 2.9 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท ด้าน “กองทุนตราสารหนี้” มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสแรกโดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ในไตรมาสแรกเป็นเงินไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ในรอบครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท

“จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมูลค่าทรัพย์สิน กองทุนหุ้น ทำให้มีมูลค่าขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับ กองทุนตราสารหนี้ หรือมีส่วนต่างราว 6 หมื่นล้านบาท ประกอบกับผู้ลงทุนยังให้ความสนใจการลงทุนในหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กองทุนหุ้นต่างประเทศ’ อาจทำให้กองทุนหุ้นขยับขึ้นมาเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยได้ภายในปีนี้ได้เช่นกัน”

“กองทุนตราสารตลาดเงิน” มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 6% มาอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท จากเงินไหลออกสุทธิ 3.9 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวมเงินไหลออกสุทธิครึ่งปีแรก 9.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการสะท้อนเม็ดเงินที่ไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่าหลังจากมีเงินไหลเข้าในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020 ที่มีเงินไหลเข้า กองทุนตราสารตลาดเงิน สูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ในช่วงที่มีการปิด 4 กองทุนตราสารหนี้เกิดขึ้น
ส่วนกลุ่ม “กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์” มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 พันล้านบาทในไตรมาสล่าสุด สะสมครึ่งปีอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นเงินไหลออกจาก “กองทุนน้ำมัน” จากที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2018 ด้านราคาทองคำยังมีความผันผวนจากอัตราเงินเฟ้อ โดยมีการปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จึงทำให้มีแรงขาย “กองทุนทองคำ” ราว 1 พันล้านบาทในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

“ดอกเบี้ยต่ำ” หนุนเงินไหลเข้าสุทธิ “กอง FIF-หุ้น” ครึ่งปีแรกกว่า 1.88 แสนล้านบาท-ครองส่วนแบ่ง 75% ของกอง FIF ทั้งระบบ (ไม่รวม Term Fund)

สำหรับกลุ่ม “กองทุนรวมต่างประเทศ” (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้นทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสล่าสุด หรือสะสม 1.9 แสนล้านบาท ในรอบครึ่งแรกของปี 2021 ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้า “กอง FIF-หุ้น” ถึง 1.88 แสนล้านบาท (ไตรมาสล่าสุด 3.6 หมื่นล้านบาท)
“ทำให้มูลค่า ‘กอง FIF-หุ้น’ อยู่ที่ 8.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.6% จากสิ้นปี 2020 และ 11.6% จากไตรมาสก่อนหน้า จึงทำให้มูลค่า กอง FIF-หุ้น’ มีสัดส่วนราว 75% ของกองทุนรวมต่างประเทศที่ไม่รวม Term fund จากระดับ 40%-60% ในช่วงปี 2017-2019”

ในขณะที่การลงทุน “กอง FIF-ตราสารหนี้” มีสัดส่วนที่ลดลงจาก 10%-20% (ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ย U.S. 10Y Treasury อยู่ที่ระดับสูงกว่า 2%) มาอยู่ที่ระดับ 9% ด้วยมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าเพียงเล็กน้อยในไตรมาสล่าสุดและมีเงินไหลออกสุทธิรอบครึ่งปีราว 1.2 หมื่นล้านบาท โดย ‘กองทุน TMB Global Income’ ยังคงเป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และเป็นเพียงกองทุนตราสารหนี้กองเดียวที่มูลค่าสูงระดับหมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน “กอง FIF-ผสม” ถือว่าได้รับความนิยมน้อยลงจากส่วนแบ่งตลาดที่ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงปี 2017 เคยมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 มาอยู่ที่เพียง 7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 7.5 หมื่นล้าบาท โดยในรอบครึ่งปีมีเงินไหลออกสุทธิ 9.9 พันล้านบาท เป็นเงินไหลออกไตรมาสล่าสุด 2.4 พันล้านบาท

“กองหุ้นจีน” & “กองหุ้นโลก”…2กลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดช่วงครึ่งปีแรก

กลุ่ม “กองหุ้นจีน” มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากไตรมาสแรกและ 61.3% จากสิ้นปี 2020 โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้า 1.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ ซึ่งถือว่าชะลอจากไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้า 5.5 หมื่นล้านบาท โดย กองทุน KTAM China A Shares Equity A’ มีเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มรวม 1.3 หมื่นล้านบาทในรอบครึ่งปีแรก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุดอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่ากองทุนขนาดใหญ่สุดของกลุ่มคือ ‘กองทุน K China Equity-A(D)’ เล็กน้อยซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินที่ 2.3 หมื่นล้านบาท

กองทุนกลุ่ม “กองทุนหุ้นโลก” ยังมีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากไตรมาสแรกและ 55.5% จากสิ้นปี 2020 มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 5.1 หมื่นล้านบาทสำหรับครึ่งปีแรก และ 7.6 พันล้านบาทในไตรมาสล่าสุด โดย กองทุนTMB Global Quality Growth’ ยังเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มที่มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาสที่สองของปี 2.9 พันล้านบาท

“อย่างไรก็ดี กองทุน ONE Ultimate Global Growth RA’ มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดรอบครึ่งปีแรกรวม 6.4 พันล้านบาท และเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ2”

กลุ่ม Property Indirect – Flexible, “กองตราสารหนี้โลก” และ “กองทุนผสมโลก” ที่เคยเป็น 3 กลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดกลับมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงต่อเนื่องในปีนี้ โดยทั้ง 3 กลุ่มมีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดรอบครึ่งปี กลุ่ม “กองตราสารหนี้โลก” มีเงินไหลออกรวม 1.8 หมื่นล้านบาท (จากไตรมาสล่าสุด 6.3 พันล้านบาท) ซึ่งมีแรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจมีการปรับขึ้นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในสหรัฐ

“ขณะที่กลุ่ม Property Indirect – Flexible’ ที่ยังเป็นเงินไหลออกต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด COVID-19 โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกที่ 1.8 พันล้านบาทรวมเป็นเงินไหลออกรอบครึ่งปี 1.8 หมื่นล้านบาท”
แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปีนี้ ทาง “Morningstar” คาดว่าจะสามารถโตเป็นบวกฝ่าวิกฤติ COVID-19 ไปได้ โดยกลุ่ม “กองทุนหุ้น” เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเห็นได้จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับกลุ่ม “กองทุนตราสารหนี้” และมีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นมาเป็นสัดส่วนใหญ่อันดับ1 ในปีนี้ได้เช่นกัน จากภาวะ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ ที่ผลักเม็ดเงินให้ออกมาแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0