โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

คัดจมูกน้ำมูกไหล ลองใช้ไซรินจ์ + น้ำเกลือ = ล้างจมูก

The Momentum

อัพเดต 17 ส.ค. 2561 เวลา 18.30 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2561 เวลา 07.18 น. • ชนาธิป ไชยเหล็ก

In focus

  • ประสบการณ์ส่วนตัวของผมและงานวิจัยยืนยันว่า ‘การ (สวน) ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ’ ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกได้ชนิดที่ต้องร้องอุทานว่า “โอ้! ซาร่า มันยอดมาก”

  • สิ่งที่ต้องใช้ประกอบด้วย ไซรินจ์(syringe-กระบอกฉีดยา) น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ของโซเดียมคลอไรด์แบบเดียวกับที่ใช้ล้างแผล และหัวจุกเสียบหัวกระบอกฉีดยาเพื่อช่วยให้กระชับกับรูจมูกมากขึ้น

  • “จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ” หมอรุ่นพี่บอกให้เตรียมทำใจไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่ตกใจตอนฉีดน้ำเกลือเข้าไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แบบเดียวกับตอนฝึกว่ายน้ำหรือเผลอหายใจเข้าตอนล้างหน้า

“ล้างจมูกเป็นไหมครับ” ผมถามคนไข้ เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นผู้ประสบภัยจากอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลที่คนป่วยเป็นหวัดกันเยอะช่วงนี้ประสบ ซึ่งไม่ว่าจะสั่งน้ำมูกแรงอย่างไร น้ำมูกเจ้ากรรมก็ออกมาไม่หมดเสียที ถึงจะกินยาแก้แพ้ชนิดง่วง (ต้องเป็นชนิดง่วงเท่านั้น) เช่น คลอเฟนิรามีน หรือ CPM ช่วยให้จมูกแห้งลงแล้ว แต่บางครั้งจมูกยังแน่นจนต้องหายใจทางปากบ้างก็มี

นอกเหนือจากเพิ่มการกินยากลุ่มลดอาการบวมของจมูก เช่น ฟินิลเอฟรีน (phenyleprine) ที่ผสมอยู่ในทิฟฟี่เดย์ ดีคอลเจนพริน หรือนาโซแท็ปแล้ว ทั้งประสบการณ์ส่วนตัวของผมและงานวิจัยยืนยันว่า ‘การ (สวน) ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ’ หรือ saline nasal irrigation ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกได้ชนิดที่ต้องร้องอุทานว่า “โอ้! ซาร่า มันยอดมาก”

แต่คนไข้ผู้ใหญ่หลายคนมักจะส่ายหัว

ในขณะที่ผู้ปกครองของเด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มรู้จักวิธีการนี้มากขึ้น ซึ่งอย่ากระนั้นเลย เด็กต่างจังหวัดอย่างผมเองก็เพิ่งรู้จักการล้างจมูกเมื่อเข้ามาเรียนหมอตอนชั้นปีที่ 4 นี้เอง

“ลองล้างจมูกดูมั้ย” คงได้ยินเสียงผมหายใจฟึดฟัดจากหวัดอยู่ พี่ที่มาเรียนต่อกุมารแพทย์เลยแนะนำผมระหว่างที่เขียนรายงานความก้าวหน้าทางการรักษาอยู่ในเคาน์เตอร์พยาบาล “แบบที่อาจารย์… สอนไง”

ใจหนึ่งก็ลังเลเพราะไม่เคยทำมาก่อน ใจหนึ่งก็อยากให้จมูกโล่ง

ส่วนอีกใจก็นึกขำตอนพี่เอ่ยชื่ออาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ขึ้นมา เพราะถ้าอาจารย์ท่านนี้รับผิดชอบดูแลหอผู้ป่วยเดือนไหน หอผู้ป่วยในเดือนนั้นก็จะกลายเป็นหอผู้ป่วยภูมิแพ้ไปโดยปริยาย ไม่ว่าคนไข้จะนอนโรงพยาบาลด้วยโรคอะไรก็ตาม แต่เมื่อสายตาประดุจเหยี่ยวจ้องหนูตัวเล็กจากบนท้องฟ้าของอาจารย์ได้ตรวจคนไข้แล้ว ก็มักจะพบภาวะน้ำมูกไหลลงคอ อันเป็นอาการแสดงของโรคภูมิแพ้จมูกร่วมด้วยเกือบทุกราย คนไข้เกือบทุกคนจึงได้รับการสอนให้ล้างจมูกเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ และยังนำมาใช้กับการรักษาโรคหวัดได้อีกด้วย

ผู้ปกครองของเด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มรู้จักวิธีการนี้มากขึ้น ส่วนเด็กต่างจังหวัดอย่างผม เพิ่งรู้จักการล้างจมูกเมื่อเข้ามาเรียนหมอตอนชั้นปีที่ 4 นี้เอง

“จะได้บอกคนไข้ได้ถูกไง” พี่คนเดิมชวนให้ลองทำ พร้อมเสียงยุยงจากเพื่อนๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกัน “ไซรินจ์ (syringe-กระบอกฉีดยา) ก็มีอยู่ที่รถฉีดยา”

น้ำเกลือก็ขอยืมที่หอผู้ป่วยไปก่อน” โดยจะต้องใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% ของโซเดียมคลอไรด์แบบเดียวกับที่ใช้ล้างแผล เนื่องจากมีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์ของร่างกาย

ขาดก็แต่หัวจุกเสียบหัวกระบอกฉีดยาที่ต้องซื้อเอง ซึ่งก็สามารถซื้อได้จากหอผู้ป่วยได้เลย เพราะเตรียมไว้ขายคนไข้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่สามารถหาซื้อได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะจุกช่วยให้กระบอกฉีดกระชับกับรูจมูกมากขึ้นเท่านั้น

ตัดสินใจได้แล้วผมก็เดินไปซื้อจุกเสียบจากพี่พยาบาลทางด้านหลังเคาน์เตอร์ เป็นอันว่ามีอุปกรณ์ครบแล้ว จึงทบทวนวิธีการกับพี่อีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

  • ล้างมือให้สะอาด
  • เทน้ำเกลือลงแก้วน้ำ เสียบจุกยางเข้ากับไซรินจ์ แล้วดูดน้ำเกลือเข้ามาเต็มหลอดขึ้นกับขนาด 10-20 มิลลิลิตร
  • ถ้ายังไม่เคยใช้ไซรินจ์มาก่อน แนะนำให้ลองดูด-ฉีดน้ำเกลือลงแก้วให้คุ้นมือก่อน จะได้ประมาณความแรงและความเร็วในการฉีดน้ำเกลือให้พุ่งเป็นสายต่อเนื่องกันได้
  • ก้มหน้าเข้าหาอ่างล้างหน้า เสียบจุกหรือปลายไซรินจ์เข้ากับรูจมูก ชี้ออกด้านข้างหรือชี้ไปทางหางตาข้างเดียวกัน มิฉะนั้นเวลาฉีดน้ำเกลือจะไปชนกับผนังกั้นจมูกแทนที่จะตรงเข้าไปในโพรงจมูก
  • กลั้นหายใจ (บางตำราให้หายใจทางปาก) แล้วฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูกทีละข้างตามที่ได้ซักซ้อมจนคุ้นมือแล้ว ซึ่งถ้าใครยังไม่เคย เช่น ผมเคยสอนคุณแม่ล้างจมูก ท่านก็จะกล้าๆ กลัวๆ ในขั้นตอนนี้ ทำให้ฉีดน้ำเกลือไม่แรงพอที่จะชะล้างน้ำมูกออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง
  • ทำเช่นเดียวกันนี้กับจมูกอีกข้างหนึ่ง และทำซ้ำได้จนกว่าจะรู้สึกโล่ง

“จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ” หมอรุ่นพี่บอกให้เตรียมทำใจไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่ตกใจตอนฉีดน้ำเกลือเข้าไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แบบเดียวกับตอนฝึกว่ายน้ำหรือเผลอหายใจเข้าตอนล้างหน้า แต่ด้วยสัญชาตญาณของร่างกาย เราก็จะสั่งน้ำเกลือที่ค้างอยู่ในโพรงจมูกพร้อมกับน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกมาได้อย่างง่ายดาย

จำได้ว่าผมสวนล้างจมูกสลับกันเพียงข้างละรอบก็เป็นอิสรภาพจากอาการคัดแน่นจมูกอย่างเหลือเชื่อ และติดใจขอทำซ้ำอีกรอบให้จมูกโล่งขึ้นอีกเหมือนเป็นเรื่องสนุกมากกว่าจะกังวลแบบทีแรก (เสียดายน้ำเกลือที่เทเตรียมไว้แล้วก็ส่วนหนึ่ง ฮ่าๆ)

“จะรู้สึกเหมือนสำลักน้ำหน่อยๆ”

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาเป็นหวัดคัดจมูก ผมก็จะนึกถึง “ไซรินจ์ + น้ำเกลือ = ล้างจมูก” ก่อนตลอด และไม่ลืมที่จะแนะนำคนรู้จักหรือคนไข้โรคหวัดคัดจมูกให้ฝึกล้างจมูกด้วยทุกครั้งที่เข้ามาตรวจ เพราะนอกจากจะล้างเอาน้ำมูกออกมาแล้ว ยังเชื่อว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุโพรงจมูกได้ดีขึ้นอีกด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีขวดล้างจมูกสำเร็จรูปขายตามร้านขายยาก็ช่วยให้การล้างจมูกสะดวกยิ่งขึ้นไปอีก

“ล้างจมูกเป็นไหมครับ” ผมถามคนไข้ ถ้าเป็นอยู่แล้ว ผมก็จะสั่งอุปกรณ์กลับให้ไปทำเลย แต่อาจจะต้องลองถามเพิ่มหน่อยว่า “ล้างยังไง” เพราะบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเพียงการใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษชำระเช็ดล้างในรูจมูก

ส่วนถ้าคนไข้ส่ายหัว ผมก็จะเปิดคลิปในอินเทอร์เน็ตพร้อมกับพูดสอนไปด้วย

สำหรับเด็กเล็ก 1-6 ขวบ ก็สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ แต่ให้ผู้ปกครองเป็นคนช่วยฉีดน้ำเกลือให้

ในขณะที่เด็กอายุน้อยกว่านี้ให้ใช้น้ำเกลือหยอดรูจมูกทีละข้าง ข้างละ 2-3 หยด ให้น้ำเกลือละลายน้ำมูกที่ติดค้างอยู่ แล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออกมาแทน

ว่าแล้วก็ลองทำตามกันดูได้เลยครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0