โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘เจฟฟ์ เบซอส’ ผู้ก่อตั้ง ‘Amazon.com’ กลายเป็นคนรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ด้วยทรัพย์สินที่มีมากกว่า $150,000 ล้าน

Manager Online

อัพเดต 22 ก.ค. 2561 เวลา 12.03 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2561 เวลา 11.05 น. • MGR Online

เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ แอมะซอน ดอท คอม อิงค์ (Amazon.com Inc.) ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์สัญชาติสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นแค่อภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยแซงหน้า บิลเกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ไมโครซอฟท์ คอร์ป แชมเปี้ยนคนเก่าได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเท่านั้น

เวลานี้เขายังกลายเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ไปแล้ว เมื่อมูลค่าของทรัพย์สินที่เขามีอยู่พุ่งทะลุขีด 150,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากแปลงเป็นเงินบาทไทยแบบคร่าวๆ โดยใช้ตัวเลข 1 ดอลลาร์เท่ากับ 33.50 บาท ก็จะเท่ากับ 5,025,000 ล้านบาท หรือ 5.025 ล้านล้านบาท มากกว่าแม้กระทั่งตอนที่เกตส์มีสูงที่สุดในอดีตที่ผ่านมา

ความมั่งคั่งของเบซอส กระโจนผ่านหลัก 150,000 ล้านดอลลาร์ที่ตลาดหุ้นในนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ค.) ที่แล้ว ทั้งนี้ตาม ดัชนีเศรษฐีพันล้านของสำนักบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) ตัวเลขปัจจุบันเท่ากับว่าเวลานี้เขาร่ำรวยยิ่งกว่าเกตส์ ที่ยังอยู่ติดอันดับ 2 อยู่ ถึงราวๆ 56,000 ล้านดอลลาร์

เบซอสซึ่งขณะนี้อายุ 54 ปี ยังแซงหน้าเกตส์อีก เมื่อเปรียบเทียบกันในตอนที่ทั้งคู่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยคิดตัวเลขกันแบบปรับความคลาดเคลื่อนจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว กล่าวคือ ในเวลาที่เกตส์ร่ำรวยที่สุด ซึ่งได้แก่เมื่อปี 1999 ช่วงที่กระแสหุ้นดอทคอมบูมสนั่น กำลังขึ้นไปสู่จุดสูงสุดนั้น ทรัพย์สินในครอบครองของเขาคิดเป็นมูลค่าระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ อยู่ช่วงสั้นๆ

หากนำตัวเลขนี้มาคำนวณปรับให้เป็นมูลค่าในปัจจุบัน ก็ยังจะเท่ากับประมาณ 149,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นจึงหมายความว่า เบซอส ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสุงสุดของแอมะซอนผู้นี้ มีฐานะร่ำรวยยิ่งกว่าใครๆ ทุกคนบนพื้นพิภพใบนี้ อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่ปี 1982 อันเป็นปีที่นิตยสารฟอร์บส์ตีพิมพ์เผยแพร่การจัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านของตนเป็นปีปฐมฤกษ์

ทรัพย์สินของเบซอสก้าวข้ามหลักหมาย 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่แอมะซอนกำลังตระเตรียมเพื่อเริ่มงานเทศกาลกระหน่ำขายซัมเมอร์เซลส์ประจำปีของบริษัท เป็นระยะเวลา 36 ชั่วโมง ซึ่งใช้ชื่อว่า “แอมะซอนไพรม์เดย์” (Amazon Prime Day) และดำเนินไปแบบติดขัดตะกุกตะกักในตอนต้น เนื่องจากทั้งเว็บไซต์และแอปป์มือถือของบริษัทต่างมีอาการเดี้ยงกันเป็นพักๆ เมื่อต้องรับมือกระแสการติดต่อสื่อสารที่โหมซัดเข้ามา

ราคาหุ้นของแอมะซอน ซึ่งซื้อขายกันอยู่ในตลาดแนสแดค ได้พุ่งไปสร้างสถิติใหม่ที่ระดับหุ้นละ 1,841.95 ดอลลาร์ในช่วงเช้าของวันจันทร์ (16) วันเริ่มต้น ไพรม์เดย์ ถึงแม้ในตอนปิดราคาจะถอยลงบ้างมาอยู่ที่ 1,822.49 ดอลลาร์ แต่ก็ยังสูงกว่าราคาปิดครั้งก่อนอยู่ราว 0.5% อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งในระดับเหนือขีด 150,000 ล้านดอลลาร์อาจจะไม่ยืนยาว เมื่อราคาหุ้นแอมะซอนดิ่งลงมาต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์ ในช่วงขยายการซื้อขายหลังตลาดปิด เนื่องจากข่าวร้ายจากบริษัทเทครายอื่นๆ ส่งผลกระทบ

กระนั้น หุ้นของแอมะซอนก็มีราคาสูงขึ้นเป็นเวลา 9 วันทำการติดต่อกันแล้ว ระหว่างนั้นมีการทำลายสถิติระดับราคาสูงสุดกันเป็นว่าเล่น แล้วในวันอังคาร (17) ก็ยังปิดได้ที่ระดับ 1,843.93 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมา 1.2%

ตามตัวเลขของดัชนีเศรษฐีพันล้านสำนักบลูเบิร์ก ปัจจุบัน เบซอสมีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 151,000 ล้านดอลลาร์ ติดตามมาด้วย เกตส์ ซึ่งอยู่ที่ 95,300 ล้านดอลลาร์ จากนั้นจึงเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอ ของบริษัทการลงทุน เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ (83,000 ล้านดอลลาร์), มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก (83,000 ล้านดอลลาร์), และ อามันซิโอ ออร์เตกา (Amancio Ortega) ผู้ก่อตั้งกลุ่มค้าปลีก อินดิเทกซ์ (Inditex) ซึ่งมั่งคั่งระดับ 75,000 ล้านดอลลาร์

มองกันตลอดช่วงปีนี้ หุ้นแอมะซอนมีราคาทะยานขึ้นไปมากกว่า 57% ซึ่งทำให้ทรัพย์สินของเบซอสมีมูลค่าเพิ่มเติมขึ้นมาราว 52,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าความมั่งคั่งทั้งหมดที่มีอยู่ของ แจ๊ค หม่า ประธานของกลุ่ม อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้มีฐานะเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของเอเชีย นอกจากนั้นแล้ว ยังทำให้ความมั่นคงส่วนตัวของเบซอส อยู่ในระดับที่ห่างนิดเดียวจากทรัพย์สินรวม 151,500 ล้านดอลลาร์ซึ่งควบคุมอยู่โดยครอบครัววอลตัน (Walton) เจ้าของเครือข่ายค้าปลีก “วอลมาร์ท” (Walmart) อันเป็นครอบครัวที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชวงศ์” ซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลก

“ตัวเลขที่ทำให้รู้สึกช็อกจนเดินไม่ตรงทางกันทีเดียว”

“มันเป็นเรื่องลำบากที่จะไม่รู้สึกตกใจ แม้กระทั่งเมื่อพยายามมองดูแบบภาพรวมแล้ว” ไมเคิล โคล ซีอีโอของ เครสเสต แฟมิลี่ ออฟฟิศ กิจการที่ปรึกษาด้านการเงินที่เน้นให้บริการครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย กล่าวให้ความเห็น “มันเป็นตัวเลขที่ทำให้ช็อกจนเดินไม่ตรงทางกันทีเดียว”

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกรายงานการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งซึ่งพบว่า ณ ปี 2016 ครอบครัวสหรัฐฯที่รวยที่สุด 1% แรก เป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินความมั่งคั่งทั้งหมดในอเมริกาเอาไว้ราว 38.6% เปรียบเทียบกับครอบครัว 90% ที่อยู่ล่างสุด กลับเป็นเจ้าของความมั่งคั่งเพียง 22.8% ในทำนองเดียวกัน เมื่อปีที่แล้ว องค์การการกุศล ออกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า รายได้ของโลกมากกว่า 80% ไปรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้ร่ำรวยที่สุดซึ่งมีจำนวนเท่ากับ 1% ของประชากรโลก

รายงานข่าวของบลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ เกตส์ อภิมหาเศรษฐีรวยที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 ในปัจจุบันมีทรัพย์สินราว 95,300 ล้านดอลลาร์ก็จริง แต่ความมั่งคั่งของเขาน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์แล้ว หากยังคงถือครองทรัพย์สินต่างๆ ของเขาเอาไว้ทั้งหมด แทนที่จะบริจาคออกไปจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ให้แก่มูลนิธิ บิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ที่ก่อตั้งโดยตัวเขากับภรรยา ตามบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาการบริจาคของเขาที่เปิดเผยต่อสาธารณชน พบว่า เกตส์ได้บริจาคหุ้นของไมโครซอฟท์เป็นจำนวนเกือบๆ 700 ล้านหุ้น, เงินสดอีก 2,900 ล้านดอลลาร์, และทรัพย์สินอย่างอื่นๆ อีก นับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา

ทางด้านรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ ก็ชี้ว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างมหาศาลของเบซอสนี้ ให้ภาพตัดแย้งอย่างแรงกับเงินเดือนค่าตอบแทนที่ลูกจ้างพนักงานธรรมดาๆ คนหนึ่งของแอมะซอนได้รับกันอยู่

ทั้งนี้ตามรายงานของบริษัทที่แจ้งต่อคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission) ของสหรัฐฯ ค่ากลาง (median) ของผลตอบแทนรายปี ของพนักงานลูกจ้างของแอมะซอนนั้น อยู่ที่ 28,466 ดอลลาร์ในปี 2017

มีรายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่งของแอมะซอนในสเปนและเยอรมนี ได้เรียกร้องจัดการนัดหยุดงานขึ้นในระหว่างงาน 36 ชั่วของไพรม์ เดย์ เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจข้อเรียกร้องของทางสหภาพแรงงาน ในเรื่องที่ต้องการให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่แอมะซอนเองแถลงว่า เงินเดือนค่าจ้างพื้นฐานสำหรับพนักงานลูกจ้างระดับแรกเข้าในสเปนนั้นอยู่ที่ประมาณ 23,000 ดอลลาร์ต่อปี ในคำแถลงบอกด้วยว่า ทางบริษัทเป็นนายจ้างที่ให้ความเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ และมีความมุ่งมั่นที่จะพูดจาหารือกับฝ่ายคนงาน

(รวบรวมและเก็บความจากรายงานข่าวของบลูมเบิร์ก, ยูเอสเอทูเดย์, และเอเยนซีส์อื่นๆ)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0