โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘การค้าสัตว์ป่า’ ตัวการทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ หลายระลอก

Manager Online

เผยแพร่ 26 ม.ค. 2563 เวลา 15.00 น. • MGR Online

เคยทึกทักกันว่า ไวรัสโรค “ซาร์ส” ที่คนล้มป่วยกันทีแรกเพราะติดต่อมาจากสัตว์ และได้เกิดการระบาดใหญ่เมื่อ 17 ปีก่อน เป็นสัญญาณเตือนดังสนั่นซึ่งสมควรที่จะปลุกให้เกิดความตื่นตัวระมัดระวังเกี่ยวกับการบริโภคสัตว์ป่าในฐานะที่เป็นอาหาร แต่มาถึงเวลานี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การระบาดล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนคือเครื่องบ่งบอกว่า พฤติกรรมเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างกว้างขวาง และเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อสุขภาพของมนุษย์

โรคซาร์ส (SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) นั้น ถูกสืบสาวได้ว่ามาจากค้างคาวและชะมด ขณะที่ไวรัสชนิดใหม่ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบคนแล้วในจีนและมีผู้ติดเชื้อร่วมๆ 2,000 คนก็เช่นกัน เชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากสัตว์ซึ่งถูกลักลอบนำมาทำเป็นอาหาร

ขณะนี้การศึกษายืนยันกันเป็นขั้นสุดท้ายยังไม่มีการประกาศออกมา แต่พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนต่างเชื่อกันว่ามันมาจากสัตว์ป่าซึ่งลักลอบค้ากันอย่างผิดกฎหมายในตลาดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีน โดยที่ตลาดแห่งนั้นมีสัตว์ป่าให้เลือกกันมากมายขนาดนำไปตั้งเป็นสวนสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ชะมด, หนู, งู, ซาลามันเดอร์ยักษ์, และกระทั่งลูกสุนัขป่าเป็นๆ

การค้า “เนื้อสัตว์ป่า” เช่นนี้ เมื่อบวกกับการที่มนุษย์ตามเมืองใหญ่มีการเข้าใกล้พวกสัตว์ป่าด้วยช่องทางอื่นๆ กันอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าในอดีต กำลังนำเราให้สัมผัสกับเชื้อไวรัสสัตว์อย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา และสามารถทำให้เกิดโรคแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วในโลกซึ่งมีการเชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิดทุกวันนี้ ปีเตอร์ ดาซัค (Peter Daszak) ประธานกลุ่มพันธมิตรอีโคเฮลธ์ (EcoHealth Alliance) กลุ่มเอ็นจีโอระดับโลกซึ่งมุ่งโฟกัสที่การป้องกันโรคติดต่อ กล่าวอธิบาย

ขณะที่ โครงการโกลบอล ไวรอม โปรเจคต์ (Global Virome Project) ความพยายามระดับทั่วโลกที่จะเพิ่มพูนความพรักพร้อมสำหรับรับมือโรคระบาดร้ายแรง ซึ่ง ดาซัค ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ประมาณการกันเอาไว้ว่า มีไวรัสในสัตว์ป่าที่ยังไม่ถูกค้นพบอีก 1.7 ล้านชนิด โดยเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของไวรัสเหล่านี้น่าจะสามารถสร้างอันตรายให้มนุษย์ได้

ดาซัคบอกว่า การวิจัยของโครงการบ่งชี้ให้เห็นว่า เราสามารถที่จะคาดได้เลยว่าจะมีจุลชีพก่อโรคที่มากับสัตว์ชนิดใหม่ๆ ติดต่อสู่มนุษย์ราวๆ 5 ชนิดในแต่ละปี

“ความเป็นธรรมดาสามัญแบบใหม่”

“ความเป็นธรรมดาสามัญแบบใหม่ (new nornal) ที่เราจะต้องเผชิญกันก็คือ โรคระบาดอย่างที่แพร่กระจายไปทั่วนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาบ่อยครั้งขึ้น” เขากล่าว

“เรากำลังมีการติดต่อสัมผัสกับพวกสัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัสเหล่านี้กันมากขึ้น และมากขึ้น”

ไวรัสทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามท้องเรื่องของพวกนิยายวิทยาศาสตร์สยองขวัญ

แต่จากภาพรวมในระยะหลังๆ ของกรณีต่างๆ ที่ไวรัสซึ่งอยู่ในตัวสัตว์ “กระโดด” มาสู่มนุษย์ ย่อมทำให้เราต้องอึ้งและรู้สึกว่าต้องเคร่งเครียดจริงจัง

ตัวอย่างเช่น ซาร์ส ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยในจีนและฮ่องกงเมื่อช่วงปี 2002-2003 หรือ อีโบลา ซึ่งอาละวาดหนักหลายระลอกในแอฟริกาก็สามารถสืบสาวไปถึงค้างค้าว ขณะที่เชื้อเอชไอวี มีต้นตอมาจากลิงใหญ่ในแอฟริกา

ทุกวันนี้ โรคติดต่อสู่มนุษย์ที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาใหม่ๆ มากกว่า 60% ทีเดียว มาถึงพวกเราโดยผ่านสัตว์ เหล่านักวิทยาศาสตร์บอก

แม้กระทั่งเมนูอาหารแสนคุ้นเคยอย่างเช่น ไก่ และวัว ซึ่งจุลชีพก่อโรคในตัวพวกมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรับตัวได้เป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลาหลายพันหลายมื่นปีแล้ว บางครั้งบางคราวก็ยังทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ในมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง เป็นต้นว่า ไข้หวัดนก และโรควัวบ้า

“เพื่อเห็นแก่อนาคตของพันธุ์สัตว์ป่าเหล่านี้ และเพื่อเห็นแก่สุขภาพของมนุษย์ เราจำเป็นที่จะต้องลดการบริโภคสัตว์เหล่านี้ได้เสียที” ไดอานา เบลล์ นักชีววิทยาเชื้อโรคในสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ในประเทศอังกฤษ บอก เธอเป็นผู้ที่ศึกษาทั้งเชื้อโรคซาร์ส, อีโบลา, และจุลชีพก่อโรคอย่างอื่นๆ

“แต่ 17 ปีผ่านไปแล้ว (หลังจากโรคซาร์ส) ดูเหมือนว่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในตัวของมันเองนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องมีอันตรายเสมอไป เพราะไวรัสเกือบทั้งหมดจะตายในทันทีที่สัตว์ที่มันอาศัยอยู่ถูกฆ่า

ทว่าจุลชีพก่อโรคก็สามารถกระโดดเข้าถึงตัวมนุษย์ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ระหว่างการกักขังสัตว์, การขนส่งสัตว์, หรือการฆ่าสัตว์นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องสุขอนามัยเป็นไปอย่างย่ำแย่ หรือไม่มีการใช้อุปกรณ์ป้องกัน

ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนออกคำสั่งในวันอาทิตย์ (26 ม.ค.) ห้ามการค้าสัตว์ป่าเป็นการชั่วคราว จนกว่าโรคระบาดคราวนี้จะผ่อนคลายลง

แต่พวกนักอนุรักษ์ธรรมชาติพากันบอกว่า ในอดีตจีนได้เคยสัญญาที่จะปราบปรามเรื่องนี้ เสร็จแล้วก็ล้มเหลวไม่สามารถทำตามคำมั่นได้มาหลายครั้งหลายหนแล้ว

พวกผู้รับผิดชอบของจีนมองว่าการแก้ไขปัญหานี้ส่วนหนึ่งควรใช้วิธีส่งเสริมอุตสาหกรรมทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ป่า

เรื่องนี้ครอบคลุมทั้งพวกสัตว์ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่นเสือ ซึ่งส่วนต่างๆ ของมันมีราคางามในจีนและชาติเอเชียอื่นๆ ในฐานะเป็น “ยาโป๊ว” เพิ่มพลังทางเพศ ตลอดจนใช้บำรุงร่างกายอย่างอื่นๆ

แต่ เบลล์ ติงว่า เรื่องนี้มาพร้อมกับด้านลบของมันเอง อย่างเช่น เป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการนำเอาสัตว์ป่าที่จับได้มา “ฟอก” ให้กลายเป็นสัตว์จากฟาร์ม

เธอเสริมอีกว่า พวกผู้ค้าสัตว์ป่าเวลานี้ก็แสดงความหลักแหลมยิ่งกว่าเดิมมากอยู่แล้ว โดยพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการตรวจตราเฝ้าระวังตลาด ด้วยการขายตรงให้แก่ภัตตาคารร้านอาหาร

“ยากที่จะหยุดยั้ง”

กลุ่มสิ่งแวดล้อมพูดกันว่า ความต้องการจากจีนซึ่งดูคึกคักขึ้นทุกที จากการที่พวกผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คือแรงขับดันใหญ่ที่สุดของการค้าเนื้อสัตว์ป่าระดับโลกในทุกวันนี้

สัตว์หายากบางพันธุ์ได้รับการยกย่องให้ราคาสูงในจีน ในฐานะเป็นอาหารเลิศรส หรือให้ประโยชน์ทางสุขภาพมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อันชัดเจน

ตามประเพณีแล้ว พวกเจ้าภาพจะรู้สึกได้หน้าได้ตา ถ้าสามารถเสิร์ฟอาหารป่าที่หายากราคาแพงให้แก่แขกหรือพวกหุ้นส่วนทางธุรกิจได้

หยาง จ้านชิว (Yang Zhanqiu) นักชีววิทยาจุลชีพก่อโรค แห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น กล่าวว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในยุคสมัยใหม่ ยังได้รับการหนุนเนื่องจากความไม่ไว้วางใจในอุตสาหกรรมอาหารของจีน ซึ่งแปดเปื้อนด้วยเรื่องฉาวโฉ่ด้านความปลอดภัยครั้งแล้วครั้งเล่ามานานปี

“คนชอบคิดกันว่า สัตว์ป่ามาจากธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือปลอดภัย” หยาง บอก

“ทุกๆ คนต้องการกินสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีตลาดสำหรับการซื้อขายสัตว์ป่า”

ดาซัคก็กล่าวสำทับว่า เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะหยุดยั้งกิจกรรมซึ่งมีความหมายความสำคัญทางวัฒนธรรมมา 5,000 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจหลายครั้งในช่วงหลังๆ มานี้ บ่งบอกว่าคนรุ่นหนุ่มสาวของจีน – ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับข้อมูลข่าวสารจากการรณรงค์เรียกร้องสิทธิสัตว์ที่มีเซเลบฯยอดนิยมชาวจีนเข้าร่วมด้วย— มีความโน้มเอียงน้อยลงมากที่จะกินค้างคาว, หนู, หรือซาลามานเดอร์ เป็นอาหาร ดาซัคพูดต่อ

“ผมคิดว่าในอีก 50 ปี เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องในอดีตไป” เขากล่าว

“ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกันขนาดนี้ในทุกวันนี้ ซึ่งโรคระบาดที่ติดต่อได้อย่างกว้างขวางอย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นนี้ สามารถที่จะกระจายไปตลอดทั่วโลกได้ภายในเวลาแค่ 3 อาทิตย์เท่านั้น”

(เก็บความจากเรื่อง China's animal trade to spawn more viral outbreaks: experts ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0