โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คอนเสิร์ตปรับรับตลาดเปลี่ยน หั่นสเกลไซซ์เล็ก-เพิ่มความถี่เติมรายได้

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 13.25 น.
mar01180462p1

คอนเสิร์ตไทย-เทศ…พรึ่บทุกพื้นที่ ครึ่งปีแรกทะลักกว่า 90 งานทั่วประเทศ ขณะที่ “กลุ่มสินค้า-โปรโมเตอร์หน้าใหม่” โดดร่วมวง จัดคอนเสิร์ตคึกคัก ขณะที่ผู้จัดหลายรายลดขนาดการจัดงานลง เพิ่มความถี่ขึ้น หวังบาลานซ์ความเสี่ยงหลังรายได้สปอนเซอร์หาย ฟาก “บีอีซีฯ” จัดเต็มเพิ่มโชว์หลากหลาย พร้อมลดสเกล จัดงานเล็กลงจุ 800-900 คน ขยายผู้ชมกลุ่มใหม่ ด้านครีเอตอินเทลลิเจนซ์เตรียมจัด 2 งานใหญ่ย้ำภาพลักษณ์ผู้จัดเอาต์ดอร์เฟสติวัล

แหล่งข่าวจากธุรกิจคอนเสิร์ตรายใหญ่ให้ข้อมูลว่า ครึ่งปีแรกนี้จำนวนคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 90 งานกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีผู้จัดหน้าใหม่เข้ามาเล่นในตลาดเพิ่มขึ้น สร้างความคึกคักให้แก่ธุรกิจนี้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้จัดงานส่วนใหญ่จัดคอนเสิร์ตเล็กลง จุผู้ชมไม่มาก แต่เพิ่มความถี่ในการจัดงาน เพราะหาสปอนเซอร์ (สินค้า) ยากขึ้น เนื่องจากสินค้าก็ลดการใช้งบฯในส่วนนี้ลง ประกอบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยเป็นสปอนเซอร์รายหลัก ๆ ก็หันไปจ้างโปรโมต หรือสร้างยูนิตใหม่ขึ้น เพื่อจัดคอนเสิร์ตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ทำให้ผู้เล่นรายเดิมก็ลดขนาดของงานลง เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยง รวมถึงพยายามสร้างฐานผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ด้วย

จากการสำรวจเว็บไซต์การจำหน่ายบัตรอีเวนต์ โชว์บิซ คอนเสิร์ตต่าง ๆ จากทั้งไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ไทยเมล่อน และอีเว้นท์ ป็อป (Event pop) พบว่าช่วงครึ่งปีแรกมีไม่ต่ำกว่า 80 งาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานขนาดเล็กจัดขึ้นทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหารต่างจังหวัด เป็นต้น โดยจำนวนงานส่วนหนึ่งถูกจัดไปแล้วในเดือนมกราคม-มีนาคม และต่อเนื่องถึงเดือนเมษายนที่มีอยู่หลายงาน เช่น S2O (13-15 เม.ย Live Park Bangkok) สงกรานต์มิวสิคเฟสติวัล (13-14 เม.ย. โรงแรมดับเบิ้ลยู บางรัก) ลา ลา ลอย The TOYS on The Cruise (20 เม.ย. ท่าเรือยอดพิมาน) เป็นต้น ตามด้วยเดือนพฤษภาคม เช่น ทอมมี่ เอ็มแมนวลเอล (1 พ.ค. โชว์ดีซี) The Real Nadech Concert (19-20 พ.ค. พารากอน ฮอลล์) Soul After Six ความทรงจำของก้อนหิน (31 พ.ค.พารากอน ฮอลล์) เป็นต้น และมิถุนายน เช่น คอนเสิร์ตสายนุ่ม ออน เดอะ บีช (15 มิ.ย. 62 ชายหาดร้านปลาทู ชะอำ) LEO x Crossplay 3 Festival (8 มิ.ย. 62 Voice Space) เป็นต้น

คอนเสิร์ตไทย-เทศเต็มพื้นที่

นายรักษิต รักการดี ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตและอีเวนต์ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดคอนเสิร์ตไทยและต่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ครึ่งปีแรกถือเป็นช่วงที่มีคอนเสิร์ตไทยและต่างประเทศแน่นอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก เนื่องจากรายได้จากธุรกิจเพลงเปลี่ยน โดยรายได้หลักจากแผ่นซีดี สตรีมมิ่งลดลง ทำให้หลาย ๆ ค่ายหันมาทำไลฟ์คอนเสิร์ตมากขึ้นเพื่อทดแทนสร้างรายได้เดิม ส่งผลให้จำนวนคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยครึ่งปีแรกนี้บีอีซีฯก็มีจำนวนงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่น ดิสนีย์ ออน ไอซ์ เอ็ด ชีแรน มิวสิคคัล เดอะ ไลออน คิง เป็นต้น ซึ่งแต่ละโชว์ก็ได้รับการตอบรับที่ดี

“ในแง่กำลังซื้อนั้นยังไม่มีปัญหา โดยกำลังซื้อยังขึ้นอยู่กับศิลปินเป็นหลัก หากเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ ก็ยังได้มีผลตอบรับที่ดี บัตรขายหมดในเวลารวดเร็ว แต่ถ้าเป็นศิลปินใหม่ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง”

ลดสเกลสร้างตลาดใหม่

นายรักษิตกล่าวต่อว่า ขณะนี้รูปแบบการจัดคอนเสิร์ตเปลี่ยนไปจากพฤติกรรมผู้ชมที่แยกย่อยตามเซ็กเมนต์ ตามความชอบมากขึ้น ทำให้ผู้จัดคอนเสิร์ตต้องปรับกลยุทธ์อยู่เสมอ ทั้งการเลือกศิลปิน การสื่อสารทางการตลาดกับผู้ชมแต่ละกลุ่มที่มีรูปแบบการรับสื่อที่แตกต่างกันออกไป โดยบีอีซีฯเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายให้แก่โชว์มากขึ้นด้วยการเพิ่มโชว์ใหม่ ๆ เช่น ละครเวที เดอะ ไลออน คิง ทอล์กโชว์ คอนเสิร์ตอินดี้เล็กๆ เป็นต้น เพื่อขยายฐานผู้ชมให้หลากหลาย รวมถึงการลดสเกลการจัดคอนเสิร์ตลงด้วย จากเดิมที่เคยจัดเฉพาะคอนเสิร์ตใหญ่ที่คนดูจุหลักพัน หลักหมื่นคน ตอนนี้ก็มีงานขนาด 800-900 คนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับกลุ่มผู้ชมและขยายฐานกลุ่มใหม่ ๆ ด้วย

“บีอีซีฯมีโชว์ขนาดเล็กมากขึ้น แต่ความถี่อาจจะไม่เพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่ทำคือการพยายามสร้างตลาดระยะยาวมากกว่า เพราะจะรอแค่ศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ มาทัวร์คอนเสิร์ตอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องสร้างฐานแฟนคลับให้โตไปพร้อม ๆ กับศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งขณะนี้ศิลปินหน้าใหม่อาจจะมีฐานแฟนคลับแค่หลักพัน แต่อนาคตก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ เท่ากับโอกาสก็โตขึ้น”

สอดรับกับนายญาณกร อภิราชกมล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด หรือซีไอ (CI) ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์เอาต์ดอร์เฟสติวัล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของตลาดคอนเสิร์ตไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่ความถี่ของการจัดงานเพิ่มขึ้น เพราะผู้จัดส่วนใหญ่ลดขนาดของงานลงเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ชมที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งประเภทของคอนเสิร์ตตอนนี้ก็หลากหลายขึ้น ทั้งคอนเสิร์ตไทยขนาดเล็ก ๆ แฟนมีตของศิลปินเกาหลีก็เริ่มกลับมาชุกมากขึ้น ตลอดจนกระแสคอนเสิร์ตอีดีเอ็ม หรือแม้แต่คอนเสิร์ตไทยยุค 90

“ตลาดคอนเสิร์ตอาจจะไม่ได้ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัย แต่ปริมาณมากขึ้น จากความถี่ในการจัด แต่งานมีขนาดเล็กลง ด้วยพฤติกรรมผู้ชมและโครงสร้างของรายได้จากธุรกิจคอนเสิร์ตที่เปลี่ยนไป ผู้จัดแต่ละรายก็ต้องรักษาพื้นที่ของตัวเอง โดยโฟกัสที่รายได้จากการขายบัตร ทำให้คอนเสิร์ตเล็กลง ความเสี่ยงน้อยลงด้วย”

ผู้จัดหน้าใหม่พรึ่บตลาด

นายญาณกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้นก็ทำให้มีผู้จัดรายเล็ก ๆ เพิ่มขึ้น เพราะการจัดงานเล็ก ๆ การลงทุนก็ไม่สูง ขณะเดียวกัน คู่แข่งในตลาดนี้ก็หลากหลายขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ แบรนด์สินค้าที่เดิมเคยเป็นสปอนเซอร์ให้แก่คอนเสิร์ตต่าง ๆ ก็หันมาจ้างโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตโดยใช้ชื่อแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ค่ายเพลง ช่องทีวีที่สร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น เวิร์คพอยท์ ที่มีคอนเสิร์ตเดอะแรปเตอร์ เป็นต้น สุดท้ายคือ โอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ เช่น เน็กซ์ เรดิโอ ผู้ดำเนินธุรกิจวิทยุในอินสโตร์ก็รุกขึ้นมาสร้างคอนเสิร์ตเจาะกลุ่มผู้ชมยุค 90 เป็นต้น ทำให้รูปแบบของคอนเสิร์ตก็หลากหลายขึ้น การแข่งขันก็คึกคักขึ้น ส่วนคอนเสิร์ตใหญ่ ๆก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นผู้จัดรายเดิม ๆ ที่ครองตลาดอยู่ ในส่วนของบริษัทก็เดินหน้าจัดงานเอาต์ดอร์มิวสิกเฟสติวัลต่อเนื่อง โดยปีนี้มี 2 งาน ได้แก่ คอนเสิร์ตหน้าฝน “Singing In The Rain” ที่จะจัดขึ้นเดือนกรกฎาคมนี้ และ Season of Love Song ปีที่ 10 จะจัดขึ้นช่วงไตรมาส 4

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0