โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ความเหลื่อมล้ำของคำสั่งปิดเมือง คนจนคือคนที่ทุกข์ที่สุด

PostToday

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 15.31 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 14.44 น. • webmaster@posttoday.com
ความเหลื่อมล้ำของคำสั่งปิดเมือง คนจนคือคนที่ทุกข์ที่สุด
ความเหลื่อมล้ำของคำสั่งปิดเมือง คนจนคือคนที่ทุกข์ที่สุด

มีคนพูดว่าโรคระบาดมันไม่ได้เลือกชนชั้น ทั้งรวยและจนตายเหมือนกัน

คำพูดนี้มีส่วนจริง เพราะคนที่รวยล้นฟ้ามียศถาบรรดาศักดิ์หลายคนเสียชีวิตจากโควิด-19 เหมือนกับคนไร้บ้านไร้เงินและไร้ชื่อเสียง

แต่คนรวยมีโอกาสตายน้อยกว่าคนจน และการกักตัวอยู่ในบ้านของคนมีฐานะไม่น่าลำบากเท่ากับการติดแหงกอยู่ในห้องเช่าแคบๆ ของคนจน

ความแตกต่างทางชนชั้นนี้ทำเอาหลายประเทศเกิดการเผชิญหน้ากันแล้วระหว่างคนมีเงินและคนไม่มีเงิน

เช่นที่ฝรั่งเศส นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศสชื่อ เลลา สลีมานี (Leila Slimani) ผู้เขียนนิยายเรื่อง "The Perfect Nanny" บ่นว่าตอนนี้เธอต้องกักตัวอยู่ในบ้านในชนบทของ ทำให้เธอรู้สึก "เหมือนเจ้าหญิงนิทรานิดหน่อย"

ถ้าเป็นเมืองไทย"บ้านในชนบท" หมายถึงบ้านนาบ้านทุ่งตามต่างจังหวัดอยู่กันอย่างพอมีพอกิน แต่สำหรับโลกตะวันตก บ้านในชนบทคือบ้านหรูสำหรับตากอากาศของคนมีตังค์

สลีมานีกำลังอวดรวยและทำราวกับว่าการกักตัวเป็นเรื่องโรแมนติก

ผลปรากฏว่าชาวฝรั่งเศสที่ต้องหาเช้ากินค่ำและลำบากกับการกักตัวเข้าไปถล่มโซเชียลฯ ของสลีมานีจนเละ ไม่ใช่แค่คนทั่วไป แม้แต่นักคิดนักเขียนที่มีสามัญสำนึกก็ตำหนิเธออย่างรุนแรง เช่น โตมาส์ ปอร์แชร์ (Thomas Porcher) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังถึงกับด่านักเขียนสาวผู้นี้ว่า "หยาบคาย"

นักเขียนร่วมอาชีพอีกคนคือ ดีอาน ดือเคร (Diane Ducret) เสียดสีสลีมานีว่าทำตัวเหมือนพระนางมารี อองตัวเนตเล่นเป็นชาวนาในสวนของพระราชวังแวร์ซาย และพยายามจะทำเป็นเข้าอกเข้าใจความกลัวและความปวดร้าวของผู้คน

พระนางมารี อองตัวเนตทรงมีชีวิตที่หรูหราในพระราชวังแวร์ซาย แต่บางครั้งจะทรงทำให้ชีวิตลำบากขึ้นมาสักนิดด้วยการ "เล่น" เป็นชาวนาในพระตำหนักอาโม เดอ ลา เรน (Hameau de la Reine) ที่สร้างเลียนแบบบ้านของชาวนาชาวไร่ เป็นการทำตัวให้ลำบากแบบไฮโซเพื่อแก้เบื่อนั่นเอง

ที่ดือเครอ้างถึงพระนางมารี อองตัวเนตมีความหมายแบบนี้

แต่ไม่ใช่แค่นักเขียนคนนี้คนเดียว ยังมีปัญญาชนคนมีเงินอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าชีวิตทุรนทุรายเหลือเกินกับการกักตัวใน "บ้านหลังน้อย" ของพวกเขา

แต่เราจะเห็นว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของนักเขียนหรือปัญญาชน แต่เป็นปัญหาระหว่างคนมีเงินกับไม่มีเพราะเห็นแล้วว่าปัญญาชนที่ติดอยู่ในห้องแคบๆ เหมือนคนเดินกินหาเช้ากินก็มี เช่น ดีอาน ดือเคร ที่ยัวะมากเมื่อเห็นเพื่อนร่วมอาชีพบางคนพรรณนาชีวิตที่ "แสนจะลำบาก" กับการกักกันในบ้านพักตากอากาศ การเที่ยวทะเล และเตร่ในสวนสวย

ส่วนเธอติดอยู่ในห้องแคบๆ แม้แต่ท้องฟ้าก็ไม่ได้เห็น นี่ขนาดนักเขียนชื่อดังยังลำบากขนาดนี้

ที่น่าสะเทือนใจกว่านั้นเธอเล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนบ้านของเธอฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดออกมาจากหน้าต่างห้องนอนเล็กๆ ของเขาเพราะเจ้าของต้องการขายมันจึงบีบให้เขาออกไปจากห้องเช่าท่ามกลางการระบาดและการกักกันโรค

ดือเคร นักเขียนสาววัย 37 ปีบอกว่า

"ไวรัสเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของเรา ในแง่ของบางชนชั้นทางสังคม …เมื่อเสรีภาพอันมีค่าของเราถูกตั้งคำถาม ความเสมอภาคกลายเป็นแค่เรื่องในอุดมคติ"

ความไม่เทียมกันนี้ไม่ได้มีแค่ในบางประเทศแต่เกิดขึ้นกับเกือบทุกประเทศ ในสหรัฐที่โควิด-19 โจมตีหนักหน่วงที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เราพบว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นเป็นคนผิวดำมากที่สุด

ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขในระดับชาติ แต่ข้อมูลจากจากพื้นที่ต่างๆ ค่อนข้างชัดว่าคนผิวดำตายมากกว่า เช่นที่ชิคาโกมีคนผิวดำตายมากถึง 68% ของจำนวนทั้งหมด ที่รัฐหลุยเซียนา 70% ที่ตายไปเพราะโควิดเป็นคนผิวดำ รัฐอิลลินอยส์ 43% และรัฐมิชิแกน 40%

ในนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในสหรัฐ คนที่ซวยที่สุดไม่ใช่คนผิวดำแต่เป็นชาวลาติโน ที่ตายไปมากถึง 34% เทียบกับคนผิวดำ 28%

ไม่ใช่แค่คนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่จนและไร้โอกาสในสังคม แต่พวกเขายังต้องไปทำงานในแนวหน้าของการระบาดมากว่าคนกลุ่มอื่นด้วย จากการรายงานของ The New York Times

การศึกษาจากเจ้าหน้าที่สถิติกการคลังของนิวยอร์กพบว่า 75% ของพนักงานแถวหน้าในเมือง เช่น พนักงานร้านขายของชำ พนักงานขับรถประจำทางและรถไฟ ภารโรง และเจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย มากกว่า และ 60% ของคนที่ทำงานเป็นคนทำความสะอาดคือชาวลาติโน และพนักงานการขนส่งสาธารณะมากกว่า 40% เป็นคนผิวดำ

คนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางฝูงชนที่ไม่รู้ใครมีเชื้อไวรัสอยู่บ้าง ดังนั้นพวกเขาจึงเหมือนทหารที่เดินไปท่ามกลางป่าดงดิบที่ไม่รู้ว่าจะเหยียบกับระเบิดเมื่อไร

เช่นเดียวกับทหารเดินเท้า คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงทำงานที่มีเงินน้อยนิดเพื่อเอาชีวิตรอด

อย่างที่บอกไปว่าไวรัสไม่ได้เลือกโจมตีคนรวยหรือคนจน และมันไม่เลือกว่าเป็นคนผิวสีไหน แต่เพราะคนบางผิวสีและเชื้อชาติมีโอกาสป้องกันตัวเองน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น พวกเขาจึงตายมากกว่ากลุ่มอื่น

คนผิวดำในสหรัฐก็เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคนผิวดำได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่ของคนผิวดำในสหรัฐมีฐานะยากจนจึงเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน ทั้งยังถูกเลือกปฏิบัติเวลาไปรับการรักษาพยาบาล และยังต้องทำงานที่ต้องออกจากบ้านไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่า การทำงานที่บ้านเป็นสิทธิพิเศษของงานบางประเภท แต่ไม่ใช่กับบางอีกหลายประเภทที่ต้องใช้แรงงาน

เรื่องนี้จะมองเป็นความเหลื่อมล้ำก็ได้ เพราะงานที่ทำจากบ้านได้ส่วนเป็นงานออฟฟิศ ส่วนงานหาเช้ากินค่ำต้องใช้แรงกายเป็นหลักไม่สามารถทำแบบทางไกลได้

ดังนั้นมาตรการปิดเมืองจึงทำร้ายคนใช้แรงงานซึ่งเป็นคนจนโดยตรง เราจึงได้ยินเสียงโอดครวญของจากตลาดสด ไซต์ก่อสร้าง ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ฯลฯ มากกว่าเสียงครวญจากพำนักงานออฟฟิศ

พนักงานออฟฟิศก็ใช่ว่าจะรอด เพราะเสี่ยงกับการตกงานกันถ้วนหน้าเนื่องจากการปิดเมืองทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวไปด้วย

การระบาดและการปิดเมืองจึงทำให้คนจนตายกันมากขึ้น และทำให้คนเกือบจน (เช่น คนชั้นกลาง) กลายเป็นคนจนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน

โรคระบาดไม่เลือกคนรวยหรือจน แต่ความจนและรวยทำให้เราลำบากไม่เท่ากัน

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Aamir QURESHI / AFP

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0