โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเหงา - ไม่ต้องการผูกมัด ต้นตอสังคมชราถาวร

Rabbit Today

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 04.17 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 04.17 น. • Rabbit Today
ความเหงา - ไม่ต้องการผูกมัด ต้นตอสังคมชราถาวร

ประชากรไทยจะเพิ่มเป็นเกือบ 70 ล้านคนในปี 2025!!

ฟังดูอาจรู้สึกเหมือนว่าประชากรไทยจะล้นเมืองยังไงๆ ก็ไม่รู้ แต่ความจริงแล้ว พอมามองการเติบโตของประชากรไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขอบอกว่าลดลงทุกๆ ปีเข้าให้แล้ว

  • ปี 2019 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.18% 
  • ปี 2018 จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้น 0.21%
  • ปี 2017 จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้น 0.25%
  • ปี 2016 จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้น 0.30%
  • ปี 2015 จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้น 0.43%

Worldometers คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 70 ล้านคน (69,685,486 คน) ในปี 2025 ก่อนที่จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 65,372,345 คน ในปี 2050 และจะหล่นไปอยู่อันดับที่ 31 ของโลก จากเดิมไทยรั้งอันดับที่ 20 ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และครองอันดับที่ 4 ในแถบอาเซียน 

จำนวนคนที่ลด ก็คงมาจากสถานเดียว คือ ‘ตายจ้า’ และผลที่ตามมาจากการลดของประชากร คือ แล้วการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร?

เพราะอย่างที่รู้กันตอนนี้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุราว 1 ใน 10 ของประชากรเข้าไปแล้ว

และในอนาคตอันใกล้นี้ เรามีโอกาสเจอผู้สูงอายุได้ถึง 1 ใน 3 นึกไม่ออกเลยว่า เมื่อถึงตอนนั้นสังคมเราจะเป็นยังไงต่อไป ถ้ามีแต่คนแก่ล้นเมือง โดยไร้คนหนุ่มสาว

จริงๆ แล้ว การที่ประชากรลดลงทุกปี มีต้นตอหนึ่งมาจาก ‘จำนวนคนเหงา’ 

จากงานวิจัยเจาะลึกตลาดคนเหงา (Lonely in the Deep) โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ระบุว่า 

มีคนไทยถึง 40.4% ที่เป็นคนเหงาในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่เหงาเล็กน้อยไปจนถึงเหงามาก หรือคิดเป็น 26.57 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน

ช่วงอายุที่มีแนวโน้มมีความเหงาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

  • กลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 23 - 40 ปี = 49.3% 
  • เยาวชนวัยเรียน อายุระหว่าง 18 - 22 ปี = 41.8% 
  • และวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 41 - 60 ปี  = 33.6%

ในผลวิจัยมีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของคนเหงาเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหย่าร้าง หรือเป็นโสด

ครึ่งหนึ่งของประเทศเลยนะนั่น!!!

ความน่าสนใจกว่านั้น คือ บรรดา ‘คนเหงา’ ทั้งหลาย จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับคนใหม่ๆ ได้ยากมาก

โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบคนรัก เพราะคนกลุ่มนี้จะมีอาการกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ที่ทวีตัวเพิ่มขึ้น จนเริ่มมีอาการเรียกสิ่งนี้ว่า ‘โรคกลัวการผูกมัด’

โรคกลัวการผูกมัด ไม่ใช่โรคที่เพิ่งค้นพบ แต่หลายคนมีอาการนี้มานานแล้ว เพียงแค่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเท่านั้นเองว่าโรคนี้มีอยู่จริง

อาการของโรคกลัวการผูกมัดเป็นอย่างไร?

สังเกตได้จาก ถ้าคนประเภทนี้ถูกฝ่ายตรงข้ามชักชวนให้คบหาแบบระยะยาว และจะเริ่มรู้สึกอึดอัดใจ ถ้ายิ่งถูกชักจูงให้เกิดการผูกมัด เช่น แต่งงานกันไหม เป็นแฟนกันนะ ไปเจอผู้ใหญ่ฝั่งเราหน่อย ก็จะยิ่งหาทางหนีออกมา เพราะคนกลุ่มนี้ เกลียดคำสัญญาและการถูกคาดหวังเป็นที่สุด 

แต่ถ้าเกิดคนกลุ่มนี้ ชอบใครขึ้นมา ก็จะรู้สึกหวาดระแวงไปหมดเช่นกัน จนกลายเป็นไม่กล้าเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อนอีกด้วย

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า คนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัด คือคนที่รูปร่างหน้าตาไม่ดี ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลยไม่กล้าคบใคร แต่ไม่ใช่ เพราะโรคนี้เกิดได้ทั้งในเพศหญิง เพศชาย ทุกช่วงอายุ และทุกรูปร่างสีผิว 

สาเหตุของ ‘โรคกลัวการผูกมัด’ เกิดจากอะไร?

แต่ละคนจะได้รับต้นตอที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือเคยมีอดีตความหลังฝังใจที่ไม่ดีมาก่อน เช่น 

  • ถูกคนรักทิ้งไปโดยไม่บอกลา
  • เคยถูกคนรักหักหลัง 
  • ครอบครัวมีปัญหาด้านความสัมพันธ์
  • เคยถูกทำร้ายร่างกา
  • คู่รักไม่สนใจ 
  • ความหลังฝังใจที่ถูกแกล้ง
  • หรือความทรงจำที่ไม่ดีในสมัยเด็ก ก็มีส่วนทำให้กลายเป็นโรคกลัวการผูกมัดได้เช่นกัน

ช่วยคนเหล่านี้ยังไง?

วิธีบรรเทาและช่วยเหลือให้คนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัดหาย ต้องบอกตามตรงว่า ‘ไม่มี’ 

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตใจ หากใครสักคนคิดที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับคนลักษณะนี้ คุณต้องทำให้เขาไว้ใจ เชื่อใจ จนกล้าเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และยิ่งเข้าใจปมอดีตที่เคยพบมา จากนั้นก็ช่วยรักษารอยแผลตรงนั้นได้ เขาก็จะกลับมาเป็นคนปกติที่ไม่กลัวการผูกมัดได้เอง

แต่ข้อสังเกต คือ ห้ามกระทำการอะไรที่เป็นการบังคับ เพื่อให้ผู้อยู่ในอาการนี้หาย เพราะจะยิ่งทำให้โรคกลัวการผูกมัดทวีความรุนแรงขึ้น

เรื่องบางเรื่อง ก็ต้องการเวลาเนาะ ใครเจอเพื่อนที่มีอาการแบบนี้ กำลังใจและการสร้างความเชื่อใจสำคัญที่สุดเลยละ…

อ้างอิง: www.worldometers.info

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0