โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความสอดคล้องนโยบาย-เครื่องมือ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ก.ย 2562 เวลา 04.01 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 04.30 น.
บทความนำ.

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ Economic Intelligence Center ธ.ไทยพาณิชย์

ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น… ถ้านับการเริ่มของสงครามการค้าจากวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าจีนกลุ่มแรก ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2018 มาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ที่สงครามการค้า (trade war) ซึ่งช่วงหลังลุกลามสู่สงครามสินค้าเทคโนโลยี (tech war) และล่าสุดสู่สงครามค่าเงิน (currency war) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ผลกระทบของสงครามการค้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่เศรษฐกิจสหรัฐและจีน แต่ยังกระจายตัวออกมากระทบกับเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้า รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) อีกด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ นั้น ในบางสินค้าอาจจะมากกว่าผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐ หรือจีนด้วยซ้ำ

เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีนั้น ทั้งสหรัฐและจีนสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะพยายามให้กระทบกับเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนของประเทศตัวเองให้น้อยที่สุด แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้นไม่สามารถเลือกได้ หรือเรียกว่าโดนลูกหลงก็ว่าได้

นอกจากผลกระทบจะกระจายสู่หลายประเทศแล้ว ยังเริ่มกระจายตัวกระทบหลายเครื่องจักรของเศรษฐกิจอีกด้วย โดยในช่วงแรกเครื่องจักรเศรษฐกิจแรกที่ได้รับผลกระทบยังกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (manufacturing production index) และตัวเลขมูลค่าการส่งออกของหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มมีการหดตัว

หลังจากที่สงครามการค้าเริ่มรุนแรงขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของนโยบายกำแพงภาษี ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีที่สะท้อนถึงแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ก็เริ่มได้รับผลกระทบเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อภาคการผลิตเริ่มมีการหดตัว ตัวเลขการจ้างงานในภาคนี้ในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย) ก็เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวด้วย

ความเสี่ยงที่หลายประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มสูงขี้น จากผลกระทบของสงครามการค้าที่มีการกระจายตัวมากขึ้น บวกกับผลกระทบจากปัจจัยในประเทศด้านอื่น ๆ ทำให้หลายประเทศเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession : เกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติด โดยเป็นการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับผลของฤดูกาลแล้ว)

ตัวอย่าง เช่น เยอรมนี ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งเศรษฐกิจของทั้งสามประเทศนี้มีการหดตัวในไตรมาสที่สอง และเริ่มมีสัญญาณว่าอาจจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่สาม โดยทั้งสามประเทศมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศที่มีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ (degree of openness : มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเมื่อเทียบกับ GDP) ซึ่งเมื่อภาวะการค้าโลกมีการชะลอตัวลงค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศนี้ได้รับผลกระทบเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ

คำถามต่อไป คือ ในภาวะที่สงครามการค้ายังดำเนินต่อไป จะมีประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นหรือไม่ และถ้ามีจำนวนประเทศที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขี้น จะกระทบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ามากน้อยเพียงใด

เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า การทำนโยบายเศรษฐกิจต้องการความสอดคล้องของนโยบาย (policy cooperation) ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงนี้ ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุน และนักเศรษฐศาสตร์ เริ่มหวังให้ภาครัฐในประเทศต่าง ๆ ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออย่างน้อยเพื่อลดผลกระทบของสงครามการค้า ซึ่งผมขออนุญาตสรุปเป็นประเด็นดังนี้

1.การกลับมาเจรจากันระหว่างสหรัฐและจีน น่าจะเป็นการทำนโยบายที่สอดคล้องที่ทั่วโลกอยากเห็นมากที่สุด เพราะคือต้นตอของปัญหา ซึ่งล่าสุดทั้งสองฝ่ายส่งสัญญาณว่า พร้อมจะกลับมาเจรจากันอีกครั้ง แต่อย่าลืมว่าจากการกลับมาเจรจากันในครั้งที่ผ่าน ๆ มา ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการบรรลุข้อตกลง

2.การทำนโยบายการเงินและการคลังที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังคือการผ่อนคลายนโยบาย ซึ่งถ้าเริ่มจากฝั่งนโยบายการเงินจะเห็นว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก (รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้เริ่มทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเรียกได้ว่าเป็นการแข่งกันลดดอกเบี้ยนโยบายเลยก็ว่าได้ (race to monetary policy bottom) ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนทางการเงินแล้ว ผลต่อค่าเงินก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ธนาคารกลางหลายแห่งมองประกอบด้วย

ในส่วนของมาตรการทางการคลังนั้น ในระยะหลัง เราเริ่มเห็นรัฐบาลในหลายประเทศที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว เริ่มมีการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประเทศไหนที่มีความสามารถในการทำนโยบายการคลัง (fiscal policy space) ก็จะสามารถออกนโยบายได้ค่อนข้างเร็ว (เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา)

แต่ในบางประเทศที่มีข้อจำกัดของงบประมาณ หรือกรอบการขาดดุลงบประมาณ ก็อาจจะทำให้การออกมาตรการทางการคลังทำได้ค่อนข้างช้า เช่น ในกรณีของประเทศในยูโรโซน โดยล่าสุด Christine Lagarde (ที่กำลังจะเปลี่ยนบทบาทจาก Managing Director ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไปเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป) ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า ภารกิจการกระตุ้นเศรษฐกิจจะหวังพึ่งแค่ธนาคารกลางอย่างเดียวคงไม่ได้ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศยูโรโซนที่มีการขาดดุลงบประมาณไม่สูงมากนัก เข้ามาช่วยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

รวมถึงความสอดคล้องของเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำนโยบาย นับตั้งแต่ช่วงปี 2007 ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก ต้องยอมรับว่าเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำนโยบายเศรษฐกิจ (economic policy tools) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงิน หรือนโยบายการคลัง ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่าง เช่น ในกรณีของนโยบายการเงินนั้นไม่ได้มีแค่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกต่อไป แต่ยังมีการทำมาตรการ quantitative easing (QE) อีกด้วย

หันมาดูในบ้านเราก็จะเห็นว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่น มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures เช่น มาตรการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อบ้านต่อมูลค่าหลักประกัน :

มาตรการ LTV) และเริ่มพิจารณามาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential measures) เช่น มาตรการการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากภาระหนี้รวม

ต่อรายได้ (debt service ratio) ซึ่งเครื่องมือแต่ละแบบก็มีความเหมาะสมในการจัดการดูแลเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐในฐานะผู้ทำนโยบาย ภาคธุรกิจและการลงทุนในฐานะที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบาย คงต้องประเมินให้มาก คือ นโยบายต่าง ๆ มีทิศทางสอดคล้องกันหรือไม่ ในการที่จะประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่เกื้อหนุนกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งความสอดคล้องของทิศทางของนโยบายและเครื่องมือต่าง ๆ ที่นำไปใช้ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดประสิทธิภาพของนโยบาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0