โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเป๊ะของกิจวัตรพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในวังแวร์ซายส์ "มารยาท" หลังฉาก "สังคมราชสำนัก"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 ธ.ค. 2564 เวลา 05.58 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2564 เวลา 05.58 น.
Anselmus-van-Hulle-Hommes-illustres_MG_0430
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Anselm van Hulle, via Wikimedia Commons)

นโยบายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ต้องการให้แวร์ซายส์เป็นเมืองใหม่แห่งการบริหารประเทศที่แสดงออกถึงความสุดยอดของฝรั่งเศส นำมาสู่การสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ที่สวยงามอลังการ ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งนักวิชาการสายสังคมนิยมชื่อดังใช้คำนิยามว่า “สังคมราชสำนัก” ที่ล้วนแล้ววนเวียนอยู่รอบ “พระสุริยราช” ซึ่งมีกิจวัตรประจำวันเป็นตาราง และสะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่สูงส่งของชนชั้นสูง

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ( ค.ศ. 1638-1715; r 1643-1715) มีพระราชประสงค์จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเมื่อมีพระชนมายุได้ 22 พรรษา พระองค์มีพระประสงค์ให้ผู้ชี้ขาดในกิจการต่างๆ คือพระองค์แต่เพียงผู้เดียวภายหลังจากที่อัครมหาเสนาบดีคนสำคัญแห่งฝรั่งเศสถึงแก่กรรมลง หนึ่งในพระราชดำรัสที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์คือ ทรงเลือกแวร์ซายส์เป็นที่สร้างพระราชวังใหม่ และมุ่งหวังให้เป็นเมืองแห่งใหม่สำหรับการบริหารราชการ

การสร้างพระราชวังแห่งใหม่นี้พระองค์โปรดให้ระดมศิลปินและบุคลากรแถวหน้าของฝรั่งเศสมาผนึกกำลังสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมชั้นยอดที่จะเปรียบเสมือนสิ่งที่สะท้อนถึงความสุดยอดของฝรั่งเศส องค์ประกอบของพระราชวังแวร์ซายส์จะต้องแสดงออกถึงสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด

คนทั่วโลกต่างรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศสกันเป็นอย่างดี แต่เบื้องหลังของความอลังการอย่างสูงส่งนี้ใช้งบประมาณมหาศาล บุคลากรในพระราชวังจำนวนมหาศาล มหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์รวมกันแล้วมีตัวเลขไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เงินเดือนที่ใช้ไปกับบุคลากรในพระราชวังไม่ว่าจะเป็นในห้องเครื่อง หรือด้านการสันทนาการอื่นๆ ใช้งบไป 1 ใน 10 จากรายได้ของแผ่นดิน

ทุกสิ่งในพระราชวังในรายล้อมกับ “พระสุริยราช” หรือ “กษัตริย์ดวงอาทิตย์” อันเป็นสมญานามที่มาจากตราประจำรัชกาลอันเป็นรูปดวงอาทิตย์ นอร์เบิร์ต เอลเลียส นักสังคมนิยมผู้เขียนหนังสือ“สังคมราชสำนัก” (The Court Society) นำเสนอแนวคิดสังคมราชสำนัก ตัวอย่างหนึ่งของ “สังคมราชสำนัก” ก็คือชีวิตชนชั้นนำในพระราชวังแวร์ซายส์สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ขณะที่วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่อง “การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส” โดย สมเกียรติ วันทะนะ บอกเล่า สภาพชนชั้นสูงในสมัยนั้นว่า ต่างตะเกียกตะกายไปสู่สถานภาพ และเกียรติภูมิที่เหนือกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา ใครที่ไม่สามารถยกระดับได้ก็มีแนวโน้มถูกกำจัดหรือล้าหลังกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม การตะเกียกตะกายนั้นก็ต้องทำโดย “ไม่เกินฐานะ” หรือล้ำเส้น มิฉะนั้นจะเป็นภัยใหญ่หลวงอย่างเช่นกรณีนิโคลัส ฟูเกต์ (Nicolas Fouquet) เสนาบดีการคลังที่สร้างปราสาทแสนอลังการที่โวเลอวิกอม (Vaux-le-Vicomte) ล้ำหน้ากษัตริย์จนนำไปสู่จุดจบของตัวเอง (อ่านเพิ่มเติม “กอลแบรต์” ผู้หาเงินเลี้ยงแวร์ซายส์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เริ่มงานตี 5 ครึ่ง-ดู 9 กระทรวง)

สมเกียรติ อธิบายว่า ที่อยู่อาศัยอย่างเช่นปราสาทซึ่งฟูเกต์ สร้างนั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะกำหนดสถานภาพและเกียรติภูมิของคนในสังคมราชสำนัก แต่ยังมีเรื่องของ “มารยาท” (Eliquette) และ พิธีการ (Ceremony) เป็นปัจจัยสำคัญที่กำกับความเคลื่อนไหวของบุคคลในสมัยนั้น

ตารางกิจวัตรประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือเช้า กลางวัน และเย็น

ช่วงเช้า พระองค์ทรงตื่นบรรทมตอน 8.00 น. โดยมหาดเล็ก (Valet) จะปลุกด้วยประโยคว่า “ฝ่าบาท, ได้เวลาตื่นบรรทมแล้ว” หลังจากแพทย์หลวงเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว พิธีการแรกเริ่มสำหรับการตื่นบรรทมจะเริ่มต้นขึ้น ขณะเดียวกันมหาดเล็กคนหนึ่งจะไปกราบเรียนกรมวังซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดูแลห้องบรรทม อีกคนจะกราบเรียนวิเสทเครื่องต้น (อาหารเช้า) ส่วนอีกคนเฝ้าหน้าห้องบรรทม ดูแลให้เฉพาะผู้มีหน้าที่เข้าไปห้องบรรทมได้เท่านั้น โดยคณะผู้ติดตามอันเป็นผู้มีหน้าที่สำคัญหรือชนชั้นสูงที่มีสิทธิพิเศษร่วมพิธีการสามารถเข้าห้องบรรทมได้

สมเกียรติ เล่าว่า กลุ่มบุคคลที่เข้าร่วม (มีข้อมูลว่าเป็นผู้ชายทั้งหมด) มีประมาณ 100 ราย แบ่งกันเข้าเฝ้าเป็น 6 กลุ่ม เรียงลำดับก่อนหลังตามความโปรดปราน กลุ่มที่โปรดปรานที่สุดจะได้รับโอกาสเข้าถวายความช่วยเหลือพยุงพระองค์จากพระที่นั่ง ทรงเสื้อคลุม ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่โปรดปรานน้อยที่สุดจะได้แค่ดูพระองค์ทรงเช็ดพระพักตร์ด้วยผ้าชุบน้ำมัน จากนั้นก็เสวยพระกระยาหารเช้าเป็นซุป

ประมาณ 10.00 พระองค์เสด็จไปมิสซา โดยมีสุภาพสตรีชาววังคุกเข่าตั้งขบวนอย่างพร้อมเพรียงเพื่อรอเฝ้าพระองค์ พิธีการนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นประมาณ 11.00 พระองค์จะประชุมร่วมกับสมาชิกสภาในห้องประชุม

ในวันจันทร์ (ทุก 2 สัปดาห์), พุธ, พฤหัสบดี และอาทิตย์ พระองค์จะประชุมร่วมกับสภาสูง ส่วนวันอังคาร และวันเสาร์เป็นการประชุมร่วมสภาการคลัง และวันศุกร์เป็นการประชุมกับฝ่ายกิจการศาสนา อีกฝ่ายคือกิจการภายในที่ดูแลเรื่องบริหารจัดการในประเทศจะเข้าเฝ้าแบบรายปักษ์ในวันจันทร์ เมื่อไม่มีการประชุมกับสภาสูง

ช่วงกลางวัน เวลาประมาณ 1.00 พระองค์เสวยพระกระยาหารกลางวันเพียงลำพังในห้องบรรทม นั่งโต๊ะโดยหันเข้าหาหน้าต่าง อย่างไรก็ตาม พระกระยาหารในมื้อกลางวันจะมีผู้เชิญมาเป็นขบวนโดยเจ้าหน้าที่เชิญเครื่องถือเข้ามา เดินนำโดยผู้นำขบวน 1 คน และบริกร 1 คน ตามมาด้วยองครักษ์ในเครื่องแบบ 3 คน

หลังพระกระยาหารกลางวัน พระองค์จะมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแผนการในเช้าวันรุ่งขึ้น อาทิ เดินเล่นในสวนกับสุภาพสตรี หรือออกล่าสัตว์ซึ่งเป็นกีฬาโปรดที่มีมาดั้งเดิมในราชวงศ์บูร์บง

ช่วงเย็น แม้จะเป็นเวลาแห่งความบันเทิงในราชสำนัก บางครั้งพระองค์จะเซ็นเอกสารที่เตรียมไว้โดยราชเลขาฯ ขณะที่พระกระยาหารค่ำ พระองค์ทรงเสวยร่วมกับพระราชินี และพระประยูรญาติ มีพิธีการคล้ายกับพระกระยาหารกลางวัน เมื่อพระกระยาหารค่ำสิ้นสุดลง พระองค์จะเสด็จไปทักทายกับสุภาพสตรีในราชสำนัก หลังจากนั้นแล้วถือเป็นเวลาว่างที่พระองค์จะอยู่ร่วมกับพระประยูรญาติและพระสหายใกล้ชิด

เมื่อเสด็จเข้าบรรทมย่อมมีพิธีการเช่นเดียวกับพิธีการตื่นบรรทม แต่เป็นลักษณะย้อนกลับกัน

ในสังคมราชสำนักมีกฎระเบียบหลายประการที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงบัญญัติขึ้น ข้อสำคัญประการหนึ่งคือเรื่องมารยาทในการแสดงความรู้สึก เจ.เอ็ม. ทอมป์สัน ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ยุโรประบุว่า พระองค์บัญญัติกฎว่า“การแสดงความรู้สึกออกมาไม่ว่าเรื่องใดเป็นการเสียมารยาท”

ในหนังสือ “สังคมราชสำนัก” อ้างอิงพระราชบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าด้วยเรื่องมารยาทว่า พระองค์ทรงเข้าใจดีว่า คนทั่วไปมองว่าพิธีการต่างๆ เป็นเรื่องผิวเผิน ซึ่งในความเห็นของพระองค์นั้นเป็นความคิดที่ผิด หากแต่เป็นเรื่องที่มีนัยยะเบื้องหลัง แต่คนทั่วไปไม่ได้สัมผัสอย่างแท้จริงจึงตัดสินเรื่องต่างๆ จากภายนอก ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงเคารพยำเกรงกับยศฐาบันดาศักดิ์ภายนอก

 

อ้างอิง:

ทอมป์สัน, เจเอ็ม. ประวัติศาสตร์ยุโรป ค.ศ. 1494-1789. แปลโดย นันทา โชติกะพุกกะณะ และนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2512

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

“A day in the life of louis xiv : The daily life of the king”. Chateau De Versailles.

เผยแพร่ครั้ในระบบออนไลน์แรกเมื่อ : 28 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0